เนื้อหาวันที่ : 2009-05-15 11:21:54 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 4986 views

ผู้ว่าฯ สงขลาหนุนทีทีเอ็มขนก๊าซเหลวทางรถ ก่อนให้ สผ. แก้ไขอีไอเอ

ประชุมคณะกรรมการไตรภาคี โรงแยกก๊าซและท่อส่งก๊าซธรรมชาติไทย - มาเลเซีย ถกเดือดแก้ไขมาตรการการขนส่ง NGL ม.ราชภัฎสงขลา เผยชาวบ้านไม่รู้เรื่องการส่งก๊าซ NGL และไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบ

การประชุมคณะกรรมการไตรภาคี โรงแยกก๊าซและท่อส่งก๊าซธรรมชาติไทย - มาเลเซีย ครั้งที่ 1/2552 โดยมีนายสนธิ เตชานันท์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ในฐานะประธานคณะกรรมการเป็นประธาน มีคณะกรรมการและผู้เข้าร่วมประมาณ 50 คน มีนายนูรุดดีน ดะแซสาเมาะ หัวหน้ากลุ่มงานสื่อสารสังคม บริษัท ทรานส์ ไทย - มาเลเซีย (ประเทศไทย) จำกัด หรือ ทีทีเอ็ม (TTM) เจ้าของโรงแยกก๊าซและท่อส่งก๊าซธรรมชาติไทย - มาเลเซีย เป็นผู้ดำเนินรายการ

.

โดยในวาระเรื่องความคืบหน้าในการแก้ไขมาตรการการขนส่งก๊าซธรรมชาติเหลว หรือ เอ็นจีแอล (NGL) นายนูรุดดีน ได้มอบหมายให้ตัวแทนบริษัท ยูไนเต็ด แอนนาลิสต์ แอนด์ เอ็นจีเนียริ่ง คอนซัลแตนท์ จำกัด หรือ ยูเออี (UAE) ซึ่งเป็นหน่วยงานกลาง รายงานความคืบหน้าในการศึกษาความเหมาะสมและผลกระทบสิ่งแวดล้อมการขนส่งก๊าซ NGL เพื่อประกอบการแก้ไขเพิ่มเติมรายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ อีไอเอ (EIA) โรงแยกก๊าซและท่อส่งก๊าซธรรมชาติไทย - มาเลเซียตามที่ได้รับมอบหมาย

.

ตัวแทน UAE รายงานว่า เส้นทางขนส่งก๊าซ NGL ไปยังประเทศมาเลเซียตามสัญญาการส่งก๊าซที่ได้ศึกษาไว้ ประกอบด้วย 3 เส้นทาง ได้แก่ เส้นทางจากโรงแยกก๊าซจะนะ จังหวัดสงขลา ไปยังด่านชายแดนปาดังเบซาร์ อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา เส้นทางจากโรงแยกก๊าซจะนะไปยังด่านชายแดนบ้านประกอบ อำเภอนาทวี จังหวัดสงขลา และเส้นทางจากโรงแยกก๊าซจะนะไปยังคลังน้ำมันของบริษัท อากิ แบม ออยล์ จำกัด ตำบลเขารูปช้าง อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา โดยผลการศึกษาทางด้านผลกระทบจราจรทั้ง 3 เส้นทางมีความคล่องตัว

.

ส่วนผลการศึกษาข้อมูลทางด้านเศรษฐกิจและสังคม โดยทีมงานจากมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา จาก 1,200 ตัวอย่าง ในพื้นที่ 4 อำเภอ ดำเนินการ 3 ครั้ง พบว่า มากกว่าครึ่งหนึ่งไม่ทราบถึงการขนส่งก๊าซ NGL แต่ส่วนใหญ่คิดว่าไม่จะได้รับผลกระบทจากอุบัติเหตุ ฝุ่นละออง ถนนเสียหาย เสียงดังรบกวน และของเหลวรั่วไหลจากการขนส่ง

.

ขณะที่ทีมงานได้เสนอมาตรการให้พิจารณาดูด้วยว่ามีความเหมาะสมหรือไม่อย่างไร สามารถลดผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมได้หรือไม่ ประชาชนส่วนใหญ่เป็นว่ามีความเหมาะสม และส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการขนส่งดังกล่าวทั้งสามเส้นทาง รวมทั้งมีข้อเสนอให้เพิ่มมาตรการและเพิ่มการประชาสัมพันธ์ให้มากขึ้น เนื่องจากส่วนใหญ่ไม่รู้ข้อมูล รวมทั้งให้ความรู้ในเรื่องการความปลอดภัยและการควบคุมการขนส่ง NGL โดยมาตรการการดังกล่าวมี 11 ข้อ

.

นายโกษี กมลศิรินทร์ ผู้จัดการส่วนคุณภาพ ความปลอดทางด้านสิ่งแวดล้อม ทีทีเอ็ม กล่าวต่อที่ประชุมว่า เรื่องการขอเปลี่ยนแปลงการขนส่งก๊าซ NGL เนื่องจากเดิมจากการศึกษาปริมาณที่ได้และการส่งมอบก๊าซ NGL ให้เจ้าของคือ มาเลเซีย โดยผ่านทางท่อจากโรงแยกก๊าซจะนะไปยังท่าเรือขนส่งก๊าซ แต่เมื่อมีการดำเนินการ พบว่าปริมาณก๊าซ NGL ที่ได้มีน้อยกว่าการประมาณการในช่วงที่มีการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมถึง 2 - 3 เท่าตัว

.

ปัจจุบันมีก๊าซ NGL อยู่ประมาณ 24,000 ตัน ทำให้การขนส่งทางท่อในทะเล ไม่สามารถดำเนินการได้ ทีทีเอ็ม จึงเปลี่ยนแปลงการส่งมอบก๊าซ NGL โดยใช้สถานีสูบถ่ายที่โรงแยกก๊าซไทย - มาเลเซียใส่รถบรรทุกขนส่งให้บริษัท เปโตรนาส

.

นายสิดทา ทาสิง ตัวแทนบริษัท เปโตรนาส ในฐานะบริษัทร่วมทุนของทีทีเอ็ม กล่าวต่อที่ประชุมว่า บริษัท เปโตรนาส ต้องการให้มีการขนส่งก๊าซ NGL โดยใช้เส้นทางจากโรงแยกก๊าซจะนะ ไปยังคลังน้ำมันของบริษัท อากิ แบม ออยล์ จำกัด ซึ่งจากการศึกษาของบริษัท ยูเออี ก็พบว่าเส้นทางนี้มีคะแนนความเหมาะสมสูงสุด ขณะเดียวกันตามเส้นทางนี้ก็ไม่มีกลุ่มคนที่ไม่เห็นด้วยหรือคัดค้านการขนส่งก๊าซ NGL จึงขอให้ที่ประชุมอนุญาตด้วย ขณะเดียวกันขณะนี้เปโตรนาสเองก็กำลังศึกษาเรื่องการวางทุ่นขนถ่ายสินค้าทางทะเล คาดว่าจะเสร็จในเดือนธันวาคม 2552

.

นายจรูญฤทธิ์ ขำปัญญา ผู้จัดการใหญ่ ทีทีเอ็ม กล่าวต่อที่ประชุมว่า การขนส่งก๊าซ NGL เป็นเรื่องของเจ้าของผลิตภัณฑ์ คือ บริษัท เปโตรนาส ที่ต้องการขนส่งในเส้นทางดังกล่าว แต่ขณะเดียวกันทางทีทีเอ็ม ก็กำลังศึกษาเรื่องการขนส่งก๊าซ NGL ทางท่อด้วยเช่นกัน แต่ปัจจุบันก็มีการขนส่งก๊าซ NGL ไปแล้วในเส้นทางดังกล่าว เพื่อขนส่งทางเรือต่อไปยังประเทศมาเลเซีย ส่วนผลกระทบต่างๆ ดูแล้วไม่มีผลกระทบอะไรมาก ก็คงไม่น่าจะมีปัญหา ในระยะนี้ก็ต้องขนส่งในเส้นทางนี้ไปก่อน

.

นายสนั่น ลิ้มวิวัฒน์ จากสำนักงานประมงจังหวัดสงขลา ตั้งขอสังเกตกรณีการตอบแบบสอบถามว่า ในเมื่อมีผู้ที่ไม่ทราบข้องมูลเป็นส่วนใหญ่แต่ไปตอบว่าเห็นด้วยทั้งนั้น จึงเสนอให้กลับไปถามใหม่

.

นายอัมพร ด้วงปาน กรรมการไตรภาคีฯ กล่าวต่อที่ประชุมว่า เท่าที่ผ่านมาที่มีปัญหา เนื่องจากระเบียบมีแต่ไม่ค่อยปฏิบัติตามกติกา กฎหมายมีแต่ใช้กฎหมายกันไม่ค่อยได้ เรื่องนี้ก็เช่นกัน เรื่องการขนส่งก๊าซทางบกต้องมีผลกระทบแน่นอนไม่มากก็น้อย ไม่เกิดตอนนี้ แต่อาจเกิดขึ้นในอีก 10 ปีข้างหน้า เพราะฉะนั้นทางที่ดีคือ กำหนดออกมากอย่างไรก็ให้เป็นอย่างนั้น บริษัทจะขาดทุนหรือมีกำไร ไม่ใช่เรื่องที่จะมามีผลกระทบกับชุมชน

.

นายเฉลิม ทองพรม นายกองค์การบริหารส่วนตำบลคลองเปียะ อำเภอจะนะ กล่าวต่อที่ประชุมว่า ขณะนี้มีการดำเนินการขนส่งก๊าซอยู่ ขณะเดียวกันก็ศึกษาไปด้วย น่าจะไม่ถูกต้อง มันต้องศึกษาให้เสร็จเรียบร้อยก่อนจึงดำเนินการได้

.

"ผลสำรวจที่ออกมาไม่สามารถสรุปได้เลยว่าชุมชนเห็นด้วยเลย ประเด็นที่หนึ่ง เนื่องจากประชาชนไม่มีฐานข้อมูล ไม่ทราบว่าตอนนี้ ทีทีเอ็มใช้การขนส่งทางบก แล้วมันจะเกิดอันตรายอะไรบ้าง มันจึงออกมาแบบไม่มีผลกระทบ เพราะไม่รู้" นายเฉลิม กล่าว

.

นายจรูญฤทธิ์ กล่าวตอบเรื่องดังกล่าวว่า การขนส่งก๊าซ NGL ทางท่อ เป็นเรื่องการศึกษาเพิ่มเติม เนื่องจากเรื่องผลกระทบสิ่งแวดล้อมทำมาเรียบร้อยแล้ว เพียงแต่ต้องดูว่าต้องใช้เงินลงทุนเท่าไหร่ สิ่งที่เคยศึกษาไว้ไม่ต่ำกว่า 5 ปี เพราะฉะนั้นข้อมูลเดิมมันใช้ไม่ได้ เพราะฉะนั้นต้องมีศึกษาเรื่องการลงทุนอีกเท่าไหร่

.

"การขนส่งก๊าซ NGL ทางรถยนต์ก็คือ น้ำมันเบนซินดีๆ นี่เอง การขนส่ง NGL ก็ทำอย่างปกติ ไม่มีปัญหาเรื่องความปลอดภัยหรือสิ่งแวดล้อม สิ่งที่ศึกษาเพิ่มเติม คือ ถ้ามีรถเพิ่มจะมีปัญหาเรื่องการจราจรอย่างไร" นายจรูญฤทธิ์ กล่าว

.

นายสนธิ เตชานันท์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา กล่าวต่อที่ประชุมว่า สมมุติฐานผิดกัน พวกหนึ่งเชื่อว่ามันมีอันตราย แต่นักวิชาการหรือคนที่ศึกษาบอกว่ามันก็เหมือนน้ำมันเบนซิน เพราะฉะนั้นตรงนี้มันไม่มีอันตราย เราต้องเป็นธรรมกับเขาด้วย "ผมอยากให้พวกเราพิจารณาตัวเองด้วยว่า ถ้าเราให้ผ่านตรงนี้ เพื่อให้ สผ.พิจารณาอีกที ผมจะให้โหวด" นายสนธิกล่าว

.

จากนั้นนายสนธิขอให้ผู้ที่ไม่เห็นด้วยยกมือ ปรากฏว่าไม่มีใครยกมือ แล้วก็ให้ทุกอย่างเป็นไปตามนั้น พร้อมกับกล่าวว่า ถ้าอยากให้ สผ. เห็นชอบก็ต้องดำเนินการตามมาตรการให้ได้ทั้ง 11 ข้อ

.

รายงานข่าวจากโรงแยกก๊าซธรรมชาติไทย - มาเลเซีย อำเภอจะนะ ระบุว่า สำหรับการขนส่งก๊าซธรรมชาติจากโรงแยกก๊าซธรรมชาติไทย – มาเลเซีย ไปยังประเทศมาเลเซียประกอบด้วย การขนส่งก๊าซทางท่อส่งก๊าซไทย - มาเลเซีย ได้แก่ ก๊าซมีเทน อีเทน โปรเพน ซึ่งขนส่งทางท่อขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 36 นิ้ว ส่วนก๊าซหุงต้ม (LPG) ขนส่งทางท่องส่งก๊าซขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 8 นิ้ว ส่วน NGL หรือ ก๊าซโซลีนธรรมชาติ ซึ่งเป็นวัตถุดิบโรงกลั่นน้ำมัน เพื่อนำไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์น้ำมันเบนซิน ขนส่งทางรถยนต์

.

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า อย่างไรก็ตามในพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 ไม่ได้ระบุบทกำหนดโทษสำหรับเจ้าของโครงการที่ไม่ได้ดำเนินการตามรายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ อีไอเอ แต่อย่างใด

.

สำหรับการแก้ไขมาตรการการขนส่งก๊าซธรรมชาติเหลวตามที่ตัวแทนบริษัท ยูเออี นำเสนอ ทั้ง 11 มาตรการ ประกอบด้วย 1.การเพิ่มการประชาสัมพันธ์ให้ทราบเกี่ยวกับความปลอดภัยการป้องกันและการให้ความรู้เพิ่มเติมกับประชาชนให้มีความเข้าใจ 2.การประสานงานที่มีความรวดเร็ว 3.การควบคุมการคัดเลือกคนขับรถที่จะมาปฏิบัติงานขนถ่าน NGL ต้องมีใบอนุญาตที่ถูกต้อง 4. มีการตรวจระดับแอลกอฮอและสารเสพติดในคนขับรถ 5.อบรมกฎระเบียบความปลอดภัย การระงับเหตุฉุกเฉินเบื้องต้นอย่างต่อเนื่อง 6.ห้ามจอดรถรายทางตลอดการเส้นทางการขนส่ง 7.การทำประกันภัยประเภทที่ 1

.

8. ติดตั้งถังดับเพลิงประจำรถ 9.กำหนดความเร็วรถที่ขนส่งและมีการติดป้ายที่ตัวถังรถที่ขนถ่ายก๊าซธรรมชาติเหลว 10. การติดระบุหมายโทรศัพท์ที่ตัวถังรถให้เห็นชัด ประชาชนหรือผู้พบเห็นสามารถที่จะโทรไปแจ้งได้หลังจากที่เห็นว่าขับเกินกว่ากำหนด 11.ให้การสนับสนุนการทำงานของหน่วยงานบรรเทาสาธารณะภัยผ่านการให้ข้อมูลเชิงเทคนิคของ NGL และ 12.การสนับสนุนเครื่องมือความพร้อมของบุคลากรหน่วยงาน