เนื้อหาวันที่ : 2009-05-11 17:04:05 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2344 views

ความตายน่ากลัวหรือไม่ แล้วจะหลุดพ้นได้อย่างไร?

คนทั่วไปล้วนกลัวความตายกันทั้งนั้น ถามต่อไปว่าสามารถบรรเทาความกลัวได้ไหม? ก็ต้องถามกันก่อน ที่ว่าเราเกิดอาการกลัวตายกันนั้น จริงๆ แล้วกลัวอะไรกันแน่

.

ความตายเป็นสิ่งที่น่ากลัวหรือไม่ แล้วจะหลุดพ้นไปได้อย่างไร?

พระภาวนาวิริยคุณ   

๖ พฤศจิกายน ๒๕๕๑                                                                                                                                

.

คนที่ไม่กลัวความตาย มีอยู่ประเภทเดียว คือ พระอริยเจ้า  นั่นเอง   ท่านไม่กลัวตาย   ถ้าคนทั่วไปล้วนกลัวความตายกันทั้งนั้น   และถ้าถามว่าหลวงพ่อเองกลัวไหม? ก็ตอบว่ากลัว  ถามต่อไปว่าสามารถบรรเทาความกลัวได้ไหม?   ก็ต้องถามกันก่อน  ที่ว่าเราเกิดอาการกลัวตายกันนั้น    จริงๆ แล้วกลัวอะไรกันแน่  เมื่อเจาะประเด็นแล้ว ไม่ใช่กลัวตายหรอก   แต่ที่กลัวกันก็คือ  ก็เพราะไม่รู้ว่าเมื่อตายไปแล้ว   จะเป็นอย่างไรต่อไปต่างหาก 

.

สมมุติว่าวันนี้จะไปอเมริกา ถ้าเรารู้ชัดเจนลงไปเลยว่า  จะเดินทางไปได้อย่างไร ไปพักสถานที่ไหน มีใครบ้างจะมารับไป แล้วจะอยู่อย่างไรกัน ยิ่งถ้าสามารถถ่ายทอดผ่านดาวเทียมให้เราดูชัดๆ เลยว่า  ถ้าไปแล้ว เราจะขึ้นเครื่องบินอย่างนี้ ไปพักอย่างนั้น จะต้องไปทำกิจกรรมต่าง ๆ     ความกังวลสักนิดหนึ่งก็คงจะไม่เกิดมีเลย

.

ในเวลาเดียวกัน  หากให้เราต้องเดินทางไปที่ไหนสักแห่งหนึ่ง   ในที่ไม่มีใครรู้เลยว่าเป็นอย่างไร เช่น ส่งไปขั้วโลกเหนือ แม้ถ่ายทอดทีวีจากขั้วโลกเหนือให้เรามาดู  ว่ามันเป็นอย่างนั้น เห็นมีแต่หิมะมากมายเลย   เอาหละความกลัวก็เริ่มมาแล้ว  นี่ขนาดมีคนไปมาแล้วนะ  เรายังไม่วายเกิดความกังวล ถ้าเราไม่รู้อะไรเลย เราจะรู้สึกกลัว   แค่ความมืดก็กลัวแล้ว กลัวว่าจะมีอะไรอยู่ในความมืดบ้างหละ กลัวว่าไม่รู้มันมีอะไรอยู่บ้าง    ที่กลัวมันกลัวตรงนั้น เพราะไม่รู้ว่ามีอะไรอยู่ในความมืดนั้น ก็ก่อให้เกิดความคิดที่หลอกตัวเองอีกตั้งเยอะ คิดไปสารพัด

.

ในเรื่องที่น่ากลัว ก็เลยไปกันใหญ่ ความมืดนั้น ไม่ต้องมาก แค่ข้างหลังบ้านเรา มันรกๆ หน่อยพอมืดลง เราไม่รู้ว่ามีอะไรบ้างนั่นแหละ  เป็นเหตุแห่งความกลัวของเราแล้ว นั่นก็คือ

.

๑. ความไม่รู้จริงของเรานั่นแหละ เป็นเหตุของความกลัว

๒. ความชั่วที่ทำเอาไว้ ทำอะไรไว้ เราก็รู้อยู่ เราก็ใจไม่ดีแล้ว ทำให้กลัว

๓. เราได้เห็นความเจ็บปวด ความทรมานก่อนตายในบางคน ก็ทำให้เรากลัว

.

แต่ยังมีอีกพวกหนึ่ง เป็นพวกพิเศษ รู้ด้วยว่า   ตายแล้วไปไหน ความชั่วที่ทำก็ไม่มี ความทรมานก็ไม่กลัว  แต่พวกนี้กลัวว่า ความดีที่ทำไว้ยังน้อย นี่เป็นอีกพวกหนึ่ง  สามสาเหตุที่ว่ามานี้ เกิดขึ้นเพราะไม่รู้จริงๆ ว่าตายแล้วไปไหน    เพราะฉะนั้น ยังไงก็กลัวตายแน่

.

แล้วถามว่ามีทางแก้ได้ไหม จะบรรเทาอย่างไร?   บอกกันก่อนว่าที่มาบวช ก็พยายามจะแก้อันนี้ ฝึกสมาธิฝึกกันแล้วฝึกกันอีก  แล้วก็เริ่มพบความจริง   ไม่ว่าใครก็ตาม ถ้าลงมือฝึกสมาธิอย่างถูกวิธี พอใจเริ่มสงบ ความสว่างภายใน จะเริ่มเกิดทั้งๆ ที่หลับตา แต่ข้างในมันจะเริ่มสว่าง    อาศัยความสว่างที่เกิดภายในนี้ พอจะรู้ทีเดียวว่า ตายแล้วไปไหน   นี้ก็บรรเทาความกลัวไปได้

.

แล้วพวกที่รู้ว่าตายแล้วไปไหน ทำไมบางท่านยังกลัวอีก   ที่กลัวเพราะว่าความดีของเรายังน้อยอยู่ ยังไม่พอที่จะกำจัดกิเลส  รวมทั้งนิสัยที่ไม่ดีๆ อีกหลายอย่างของเราที่ยังค้างอยู่   ถึงคราวกลับมาเกิดชาติหน้า ยังมีเรื่องไม่ดีติดมาอีกซึ่งเราจะต้องแก้ไขต่อไป        

.

เพราะฉะนั้น ถ้าจะว่าไปแล้วสำหรับผู้ที่ฝึกตัวมาดีแล้ว ไม่อยากจะใช้คำว่ากลัวตายเพียงแต่ว่ายังไม่อยากตาย นี่ไม่ใช่เล่นสำนวน กลัวไหม? ไม่ถึงกับกลัวแต่ยังไม่อยากตาย  เพราะอยากทำอะไรดีๆ ให้มากกว่านี้อีกซักหน่อย ยังไม่อยากตาย ใช้คำนี้จะชัดเจนกว่า แต่ว่าโดยทั่วไปแล้วกลัวตายกันทั้งนั้น   เพราะฉะนั้น

.

ประการที่ ๑  ถ้าศึกษาธรรมะให้รู้จริงเข้า ลงมือปฏิบัติธรรมโดยเฉพาะฝึกสมาธิ จะบรรเทาเบาบางในเรื่องความกลัวตายลงไปได้มาก

.

ประการที่ ๒  หยุดทำความชั่วเสีย ถ้าเคยทำมาแล้ว ก็ตั้งใจทำความดีเรื่อยไป อย่างน้อยที่สุดความดีที่ทำจะช่วยให้เกิดความมั่นใจ  เราไม่มีคู่แค้น ยมบาลกับเราไม่ใช่ญาติกัน ไม่เกี่ยวกัน ต่างคนต่างอยู่เถอะ ไม่มีความชั่วที่ทำให้ต้องแหนงใจ หรือทำให้ต้องหวาดระแวง ความกลัวตายก็บรรเทาเบาบางลงไปได้มาก

.

ประการที่ ๓ เข้าใกล้คนที่เขามีคุณธรรม   แล้วจะพบว่าท่านเหล่านี้ ใกล้ตายท่านไม่ได้ทุกข์ทรมานอะไร    ถึงเวลาท่านไปก็ไปแบบสงบๆ ไม่มีอะไรน่ากลัวจนเกินไปนัก

.

นี้ก็พอช่วยให้บรรเทาความกลัวกันบ้าง แต่ถ้าจะให้เลิกกลัวตายกันสนิทเลยละก็ คงต้องฝึกสมาธิให้ถึงขั้นสามารถเหาะได้ก่อนก็แล้วกันนะ  ลองไปพิจารณาไตร่ตรองและปฏิบัติคุณงามความดีกันให้มากต่อไป  แล้วถามตัวเองดูว่า  ได้คำตอบจากการตั้งใจปฏิบัติดีจริงแล้วอย่างไร 

.

ที่มา : http://www.kalyanamitra.org