พพ. เร่งส่งเสริมการใช้น้ำร้อนพลังงานแสงอาทิตย์ วางเป้าภายในปี 2565 กระตุ้นผู้ประกอบการติดตั้งให้ได้ 300,000 ตารางเมตร คิดเป็นเงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 5,400 ล้านบาท หวังลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และประหยัดค่าน้ำมัน 1,300 ล้านบาทต่อปี
พพ. เดินหน้าแผนพัฒนาพลังงานทดแทน 15 ปี เร่งส่งเสริมการใช้น้ำร้อนพลังงานแสงอาทิตย์ วางเป้าภายในปี 2565 กระตุ้นผู้ประกอบการติดตั้งให้ได้ 300,000 ตารางเมตร คิดเป็นเงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 5,400 ล้านบาท เทียบเท่าการทดแทนน้ำมัน 38 ktoe/ปี คิดเป็นเงิน 1,300 ล้านบาท/ปี ลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 95,000 ตัน/ปี |
นายมานะ นิติกุล รองอธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เปิดสัมมนาโครงการส่งเสริมการใช้น้ำร้อนพลังงานแสงอาทิตย์ด้วยระบบผสมผสาน (สนับสนุนการจัดตั้งระบบผลิตน้ำร้อนด้วยพลังงานแสงอาทิตย์) ณ ศูนย์ประชุมสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ |
นายมานะ กล่าวว่า ในปัจจุบันประเทศไทยมีการใช้น้ำร้อนในการประกอบกิจกรรมหลายประเภท ได้แก่ใน โรงพยาบาล โรงแรม ร้านอาหาร ร้านเสริมสวย ซึ่งการผลิตน้ำร้อนนั้น สามารถผลิตได้จากการใช้พลังงานหลากหลายรูปแบบ ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้วิธีการต้มโดยใช้พลังงานจากก๊าซและไฟฟ้า หรือหากเป็นกิจกรรมขนาดใหญ่จะใช้หม้อต้ม (Boiler) ที่ใช้น้ำมันเตา หรือน้ำมันดีเซลเป็นเชื้อเพลิง |
. |
ซึ่งวิธีการดังกล่าวโดยเฉพาะการใช้พลังงานไฟฟ้าในการผลิตน้ำร้อน เป็นวิธีที่ไม่เหมาะสมกับคุณค่าของพลังงาน โดย พพ. ได้มีการส่งเสริมเพื่อหาทางเลือกที่เหมาะสมในการผลิตน้ำร้อน จากการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ผสมกับความร้อนเหลือทิ้ง (waste-heat) ด้วยการนำความร้อนทิ้งจากชุดระบายอากาศของเครื่องปรับอากาศ เครื่องทำความเย็น หรือ ปล่องไอเสีย เป็นต้น |
. |
ซึ่งโครงการดังกล่าวเป็นการใช้พลังงานแบบผสมผสาน สามารถลดความสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงหรือพลังงานไฟฟ้า และที่สำคัญคือเป็นการใช้พลังงานธรรมชาติและพลังงานเหลือทิ้งกลับมาใช้ประโยชน์ได้โดยตรง |
. |
ซึ่งที่ผ่านมา (ปี 2551) พพ. ได้ทำการศึกษาและพัฒนาถึงความเป็นไปได้ และทำการออกแบบเบื้องต้นระบบผลิตน้ำร้อนพลังงานแสงอาทิตย์ ให้แก่สถานประกอบการไปแล้ว จำนวน 100 แห่ง และได้ให้การสนับสนุนเงินลงทุนแก่ผู้ประกอบการที่มีความสนใจลงทุนติดตั้งระบบผลิตน้ำร้อนพลังงานแสงอาทิตย์ระบบผสมผสาน เป็นจำนวน 21 แห่ง |
. |
รวมพื้นที่ในการติดตั้งระบบผลิตน้ำร้อนฯ ได้จำนวน 5,000 ตารางเมตร คิดเป็นเงินสนับสนุน 22.5 ล้านบาท(เงินสนับสนุนจาก พพ. 30%ของมูลค่าโครงการทั้งหมด) โดยเป็นเงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 90.3 ล้านบาท ก่อให้เกิดผลประหยัดเป็นเงิน 22.8 ล้านบาท/ปี เทียบเท่าการทดแทนน้ำมันได้ 700 ตัน/ปี ลดปริมาณการเกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ได้ 1,800 ตัน/ปี |
. |
"สำหรับโครงการดังกล่าว พพ. จะมีการสนับสนุนต่อเนื่องไปจนถึงปี 2554 โดยมีเป้าหมายสนับสนุนการติดตั้งแผงรับรังสีดวงอาทิตย์ผลิตน้ำร้อนรวมจำนวน 40,000 ตารางเมตร มีเงินทุนช่วยสนับสนุน 30% และตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทน 15 ปี พพ. ได้ตั้งเป้าหมายส่งเสริมผู้ประกอบการที่มีความสนใจ ให้สามารถติดตั้งได้ 300,000 ตารางเมตร คิดเป็นเงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 5,400 ล้านบาท เทียบเท่าการทดแทนน้ำมัน 38 ktoe/ปี คิดเป็นเงิน 1,300 ล้านบาท/ปี ลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 95,000 ตัน/ปี" นายมานะกล่าว |