เนื้อหาวันที่ : 2009-05-06 10:04:18 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2440 views

ขอต้อนรับเขตควบคุมมลพิษ..มาบตาพุด

ชัยชนะอีกขั้นของชาวมาบตาพุดและบ้านฉาง หลังจากที่มีประกาศในราชกิจจานุเบกษา กำหนดให้ท้องที่มาบตาพุดและพื้นที่ใกล้เคียง รวมทั้งพื้นที่ทะเลภายในแนวเขต เป็นเขตควบคุมมลพิษ หากแต่การต่อสู้ยังไม่สิ้นสุด สิ่งสำคัญที่ต้องดำเนินการต่อไปคือ การจัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อลดและขจัดมลพิษในเขตควบคุมมลพิษ

ศรีสุวรรณ จรรยา

กรรมการสิ่งแวดล้อม สภาทนายความ

.

วันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ.2552 ชาวมาบตาพุดและบ้านฉาง คงต้องเฮกันเป็นครั้งที่ 2 หลังจากที่มีประกาศในราชกิจจานุเบกษา กำหนดให้ท้องที่ตำบลมาบตาพุด ตำบลห้วยโป่ง ตำบลเนินพระ และตำบลทับมา อำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง ทั้งตำบล ตำบลมาบข่า อำเภอนิคมพัฒนา จังหวัดระยอง ทั้งตำบล และตำบลบ้านฉาง อำเภอบ้านฉาง จังหวัดระยอง ทั้งตำบล

.

รวมทั้งพื้นที่ทะเลภายในแนวเขต เป็นเขตควบคุมมลพิษ ตามที่ท่านนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในฐานะประธานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติได้ลงนามประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ฉบับที่ 32 (พ.ศ.2552) เมื่อวันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2552 ที่ผ่านมา หลังจากที่มีการเฮครั้งแรกไปเมื่อวันที่ 3 มีนาคม พ.ศ.2552  

.

เมื่อศาลปกครองระยองได้อ่านคำพิพากษาคดีหมายเลขดำที่192/2550 ให้ชาวมาบตาพุดนำโดยนายเจริญ เดชคุ้ม ผู้ฟ้องคดีที่ 1 กับพวกรวม 27 คนชนะคดี ที่ร่วมกันฟ้องคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ให้ประกาศเขตพื้นที่ดังกล่าวเป็นเขตควบคุมมลพิษ เพื่อที่จะได้ดำเนินการควบคุม ลด และขจัดมลพิษ ตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535

.

แม้หน่วยราชการที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะกรมควบคุมมลพิษ จะตั้งแง่ว่าคดียังไม่ถึงที่สุด และไม่ยอมรับว่าหน่วยงานรัฐมีการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามคำพิพากษาก็ตาม จึงต้องดิ้นอุทธรณ์ในเรื่องดังกล่าวกันต่อไป แต่ทว่าเมื่อมีการประกาศลงราชกิจจานุเบกษาให้พื้นที่มาบตาพุดและใกล้เคียงเป็นพื้นที่ควบคุมมลพิษแล้ว สิ่งที่จะต้อง ดำเนินการต่อไป เพื่อให้เป็นไปตามกฎหมายข้างต้น มาตรา 59 คือ  

.

"เจ้าพนักงานท้องถิ่น" ในท้องที่ที่ได้ประกาศกำหนดให้เป็นเขตควบคุมมลพิษ (เทศบาลเมืองมาบตาพุด, เทศบาลตำบลเนินพระ, เทศบาลตำบลทับมา, เทศบาลเมืองบ้านฉาง, เทศบาลตำบลบ้านฉาง, เทศบาลตำบลมาบข่า และเทศบาลตำบลมาบข่าพัฒนา) ต้องร่วมมือกันเร่งจัดทำ "แผนปฏิบัติการเพื่อลดและขจัดมลพิษในเขตควบคุมมลพิษ" เสนอต่อผู้ว่าราชการจังหวัดเพื่อเสนอขอความเห็นชอบต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติภายใน 120 วัน

.

ขั้นตอนแรกที่สำคัญในการจัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อลดและขจัดมลพิษในเขตควบคุมมลพิษ ซึ่งเป็นหน้าที่ของ เจ้าพนักงานท้องถิ่นที่จะต้องจัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อลดและขจัดมลพิษ คือ การที่ต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนทุกชุมชน ทุกหมู่บ้าน ทุกตำบลและเจ้าของแหล่งกำเนิดมลพิษทั้งหลาย เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดทำแผนด้วย 

.

ภายใต้การแนะนำและช่วยเหลือตามความจำเป็นเท่านั้น (ไม่ใช่เป็นเจ้าภาพหลัก) ของ "เจ้าพนักงานควบคุมมลพิษ" (ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง, นายอำเภอเมืองมาบตาพุด, นายอำเภอนิคมพัฒนา, นายอำเภอบ้านฉาง, ผู้บริหารและพนักงานเจ้าหน้าที่กรมควบคุมมลพิษ, ประมงจังหวัดระยองและข้าราชการในสังกัด,  

.

ปศุสัตว์จังหวัดระยองและข้าราชการในสังกัดยันถึงอธิบดี, ฝ่ายสิ่งแวดล้อม กรมเจ้าท่า, สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 13 ชลบุรี, ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดระยอง และข้าราชการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทุกภาคส่วนในจังหวัดระยอง ฯลฯ) และเมื่อได้แผนแล้วให้เสนอต่อผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อรวมไว้ใน "แผนปฏิบัติการ เพื่อการจัดการคุณภาพ สิ่งแวดล้อมของจังหวัดระยอง" ต่อไป

.

สิ่งที่นายกเทศมนตรีของเทศบาลทั้งหลายข้างต้นในฐานะเจ้าพนักงานท้องถิ่นต้องเร่งดำเนินการก็คือ (1) ทำการสำรวจและเก็บข้อมูลเกี่ยวกับแหล่งกำเนิดมลพิษที่มีอยู่ในเขตควบคุมมลพิษนั้น (2) จัดทำบัญชีรายละเอียดแสดงจำนวน ประเภท และขนาดของแหล่งกำเนิดมลพิษ ที่ได้สำรวจและเก็บข้อมูลแล้วข้างต้น และ

.

(3) ทำการศึกษา วิเคราะห์ และประเมินสถานภาพมลพิษ รวมทั้งขอบเขตความรุนแรงของสภาพปัญหา และผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม เพื่อกำหนดมาตรการที่เหมาะสมและจำเป็นสำหรับการลดและขจัดมลพิษในเขตควบคุมมลพิษดังกล่าว ภายใต้บริบท "การมีส่วนของของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสีย" ทุกภาคส่วน 

.

การจัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อลดและขจัดมลพิษในเขตควบคุมมลพิษข้างต้น จะต้องเสนอประมาณการและคำขอจัดสรรเงินงบประมาณแผ่นดินและเงินกองทุน สำหรับก่อสร้างหรือดำเนินการเพื่อให้มีระบบบำบัดน้ำเสียรวม หรือระบบกำจัดของเสียรวมของทางราชการที่จำเป็น สำหรับการลดและขจัดมลพิษ ในเขตควบคุมมลพิษนั้นด้วย

.

ในกรณีที่จำเป็นจะต้องจัดหาที่ดินสำหรับใช้เป็นที่ตั้ง ระบบบำบัดน้ำเสียรวมหรือระบบกำจัดของเสียรวมแต่ไม่สามารถจัดหาที่ดินของรัฐภายในพื้นที่ได้ ก็สามารถดำเนินการจัดหาที่ดินของเอกชน เพื่อพิจารณาคัดเลือกให้เป็นที่ตั้งได้

.

ในกรณีที่มีค่าใช้จ่ายเกินงบประมาณของท้องถิ่น ก็สามารถเสนอประมาณการ และคำขอจัดสรรเงินงบประมาณแผ่นดินและเงินกองทุนในแผนปฏิบัติการระดับจังหวัดได้ ในกรณีที่ไม่สามารถดำเนินการจัดหาได้ ก็ให้กำหนดที่ดินที่เหมาะสม เพื่อเสนอต่อรัฐมนตรีให้ดำเนินการเวนคืนต่อไปตามกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ 

.

ผู้ว่าราชการจังหวัดนั้นจะเป็นผู้กำกับดูแลการดำเนินการของเจ้าพนักงานท้องถิ่นในการจัดทำแผนฯ แต่ทว่าในกรณีที่ เจ้าพนักงานท้องถิ่นไม่ดำเนินการภายในเวลาอันสมควร ผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจดำเนินการแทนได้ แต่ต้องแจ้งให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นและคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติทราบแล้วก่อน

.

สิ่งที่ผู้ประกอบการในเขตควบคุมมลพิษกลัวและวิตกกังวลกันมากที่สุดขณะนี้ก็คือ อำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัด (มาตรา 58) ที่สามารถกำหนดมาตรฐานควบคุมมลพิษจากแหล่งกำเนิดในกรณีพิเศษได้ โดยสามารถกำหนดให้สูงกว่ามาตรฐานที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกำหนดไว้ก็ได้ หรือมาตรฐานซึ่งกำหนดโดยส่วนราชการอื่น ตามกฎหมายเฉพาะก็ย่อมได้

.

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นคงไม่สามารถกระทำโดยพละการได้เพราะต้องคำนึงถึงสภาพความรุนแรงของปัญหาและเงื่อนไขต่าง ๆ ในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมของพื้นที่นั้นด้วย โดยมีคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเป็นผู้ชี้ขาดหากมีความขัดแย้งในเรื่องดังกล่าวเกิดขึ้น 

.

การประกาศพื้นที่ใด ๆ เป็นเขตควบคุมมลพิษไม่ใช่เรื่องเลวร้ายอะไร ประเทศไทยเคยมีการประกาศเขตควบคุมมลพิษมาแล้ว 9 ฉบับ รวม 17 พื้นที่ อาทิ 1)เมืองพัทยา 2)จังหวัดภูเก็ต 3)อำเภอหาดใหญ่ 4)อำเภอเมืองสงขลา 5)หมู่เกาะพีพี กระบี่ 6)จังหวัดสมุทรปราการ 7)จังหวัดปุทมธานี 8)จังหวัดนนทบุรี 9)จังหวัดสมุทรสาคร

.

10)จังหวัดนครปฐม 11)อำเภอบ้านแหลม 12)อำเภอเมืองเพชรบุรี 13)อำเภอท่ายาง 14)อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี 15)อำเภอหัวหิน 16)อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และ17)ตำบลหน้าพระลาน จังหวัดสระบุรีมาแล้ว แต่ละพื้นที่ก็มีการพัฒนาเศรษฐกิจกันเจริญก้าวหน้าดี ไม่เห็นมีปัญหาอะไร

.

ผู้ประกอบการ นักลงทุน และอุตสาหกรรมนิยมไม่ควรจะวิตกกันเกินไป หากว่าโรงงานของตนดูแลสิ่งแวดล้อมดี ปฏิบัติตามเกณฑ์และเงื่อนไขตามใบอนุญาตและรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมอย่างเคร่งครัด ก็น่าที่จะอยู่ร่วมกับชุมชนได้ด้วยชัยชนะทั้งสองฝ่าย

.

แต่สิ่งที่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติต้องรีบหยิบยกเรื่องใหม่ที่เป็นปัญหาสะสมมานานนำมาพิจารณาประกาศเขตควบคุมมลพิษใหม่ได้แล้ว นั่นก็คือ พื้นที่ของกรุงเทพมหานคร พื้นที่เมืองเชียงใหม่-ลำพูน พื้นที่อำเภอแม่เมาะ ลำปาง เพราะที่นั่นมีปัญหามลพิษ และมีปัญหาหมอกควันเกินมาตรฐานมาทุกปีอย่างต่อเนื่องแล้ว ก่อนที่กลุ่มชาวบ้านจะทนไม่ไหว ลุกขึ้นมาร้องศาลปกครองเป็นคดีต่อเนื่องอีกหลายคดี...เดี๋ยวจะวุ่นไปกันใหญ่

.
ที่มา : ประชาไทดอทคอม