เบิร์นแอนด์โลว์ เดินหน้าสำรวจพื้นที่ก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แล้ว 5 แห่ง คาดจะเก็บข้อมูลและสำรวจพื้นที่ก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทั้ง 14 แห่งได้ภายในเดือน ก.ย.นี้ กฟผ. ลุยคัดเลือกเทคโนโลยีจากผู้ผลิตเทคโนโลยี 3 ประเทศ หาเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับประเทศไทย
นายกมล ตรรกบุตร ผู้ช่วยผู้ว่าการวิศวกรรมโรงไฟฟ้า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้บริษัท เบิร์นแอนด์โลว์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาความเป็นไปได้ในการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ให้กับไทยได้เดินหน้าสำรวจพื้นที่ก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แล้ว 5 แห่งจากทั้งหมดที่ต้องศึกษา 14 แห่ง |
. |
โดย 5 พื้นที่แรกที่เข้าไปเก็บข้อมูลและเจาะสำรวจ ได้แก่ พื้นที่ใน จ.สุราษฎร์ธานี 2 แห่ง พื้นที่ จ.นครศรีธรรมราช และพื้นที่จ.ชัยนาท เป็นต้น อย่างไรก็ตาม คาดว่าบริษัท เบิร์นแอนด์โลว์จะดำเนินการเก็บข้อมูลและสำรวจพื้นที่ก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทั้ง 14 แห่งได้ภายในเดือน ก.ย.นี้ |
. |
จากนั้นจะคัดเลือกพื้นที่ที่เหมาะสมที่สุดเพียง 5 แห่งและสุดท้ายจะจัดลำดับพื้นที่ที่เหมาะสมที่สุด 1-3 แห่งเท่านั้นเพื่อใช้ก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในอนาคต |
. |
นอกจากนี้ ยังได้เริ่มกระบวนการคัดเลือกเทคโนโลยีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ โดยกฟผ.ได้ออกหนังสือเชิญผู้ผลิตเทคโนโลยีดังกล่าว 7 รายจากประเทศสหรัฐฯ ญี่ปุ่นและเกาหลีเพื่อให้ยื่นข้อเสนอทางเทคนิคแล้ว ซึ่งขณะนี้ กฟผ.และบริษัทที่ปรึกษาเบิร์นแอนด์โลว์อยู่ระหว่างการพิจารณาหาเทคโนโลยีที่เหมาะสมที่สุดกับประเทศไทย |
. |
ทั้งนี้ บริษัทที่ปรึกษาฯ จะจัดทำผลการศึกษาทั้งเรื่องการคัดเลือกสถานที่ก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์และการเลือกเทคโนโลยีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ให้เสร็จก่อนเดือนพ.ค.53 เพื่อนำผลการศึกษารายงานต่อคณะกรรมประสานงานการศึกษาความเป็นไปได้ในการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่มีนายณอคุณ สิทธิพงศ์ รองปลัดกระทรวงพลังงานเป็นประธาน |
. |
จากนั้นจะจัดทำเป็นรายงานความพร้อมในการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในไทยเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.)ปลายปี 2553 เพื่อตัดสินใจว่าประเทศไทยต้องก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์หรือไม่ หากเห็นชอบจะดำเนินการประมูลการก่อสร้างต่อไป |
. |
นายกมลกล่าวอีกว่า สำหรับมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่กำหนดให้ปรับแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของไทย หรือ พีดีพี 2007 (พ.ศ.2551-2565)ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 2 โดยให้ลดแผนการผลิตไฟฟ้าจากนิวเคลียร์ลงจาก 4,000 เมกะวัตต์ เหลือ 2,000 เมกะวัตต์นั้นจะส่งผลให้ไทยสามารถสร้างโรงไฟฟ้าได้ไม่เกิน 2 โรงในเบื้องต้น |
. |
แต่อย่างไรก็ตามเชื่อว่าไทยจะต้องสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เพิ่มอีก 2 โรงกำลังการผลิตอีก 2,000 เมกะวัตต์ โดยอาจไปกำหนดไว้ในแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของไทยฉบับใหม่ที่กำลังจัดทำขึ้น หรือแผนพีดีพี 2009 และจะทำให้ไทยมีกำลังการผลิตไฟฟ้านิวเคลียร์รวม 4,000 เมกะวัตต์ ซึ่งจะเพียงพอต่อความต้องการใช้ไฟฟ้าในอนาคต |
. |
"แม้พีดีพี 2007 จะลดเป้าหมายผลิตไฟฟ้านิวเคลียร์ลง 2,000 เมกะวัตต์ แต่เชื่อว่าจะบรรจุให้สร้างเพิ่มอีก 2,000 เมกะวัตต์ในแผนพีดีพี 2009 เพราะอีก 15-16 ปีความต้องการใช้ไฟฟ้าจะสูงขึ้น ซึ่งไทยต้องมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อย่างน้อย 4 โรง หรือมีกำลังการผลิตอย่างน้อย 4,000 เมกะวัตต์ และในอนาคตอาจมีมากกว่า 4 โรงก็เป็นได้โดยหากประชาชนเห็นชอบก็จะใช้พื้นที่ที่สำรวจไว้ตั้งโรงไฟฟ้าเพิ่มได้มากกว่า 1 โรงด้วย" นายกมล กล่าว |
. |
ที่มา : เว็บไซต์สยามรัฐ , ประชาไทดอทคอม |