อภิสิทธิ์ ออกอาการโล่งอก หลังสถานการณ์การเลิกจ้างเดือนมี.ค.52 ดีขึ้น สภาพคล่องแบงค์สูง แต่ยังจับตาดูเดือน เม.ย. ห่วงภาคการส่งออก - นำเข้ายังอาการหนัก พร้อมเดินหน้าช่วยเหลือแรงงานต่อเนื่อง
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า กระทรวงแรงงานได้รายงานสถานการณ์การเลิกจ้างในเดือนมี.ค.52 ซึ่งพบว่าดีขึ้นจากเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา |
. |
โดยอัตราการเพิ่มขึ้นของการเลิกจ้างต่อการลาออกจากงานเริ่มคงที่ และมีแนวโน้มลดลง รวมทั้งจำนวนผู้ประกันตนที่มาขึ้นทะเบียนขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีการว่างงานเริ่มลดลงเช่นกัน |
. |
ทั้งนี้ ผู้ประกันตนที่มาขึ้นทะเบียนขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีการว่างงานในเดือน มี.ค. มีจำนวน 81,842 คน ลดลงจากเดือนก.พ.ที่มีจำนวน 101,939 คน โดยสถานประกอบการที่มีการเลิกจ้างงาน 5 อันดับแรก ได้แก่ การผลิตสิ่งทอ, การผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์, การผลิตผลิตภัณฑ์จากแร่ โลหะ และอโลหะ, การบำรุงรักษาคอมพิวเตอร์ และ การผลิตเครื่องแต่งกาย |
. |
"ภาวะแรงงาน ตัวเลขเดือน มี.ค.ดูจะเบาลงมาจากเดือน ก.พ.ที่มีการเลิกจ้างกันมาก แต่รัฐบาลก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ จะจับตาดูตัวเลขเดือน เม.ย.อีก เพราะในภาคการผลิตโดยเฉพาะการส่งออก และนำเข้ายังหนักอยู่" นายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังประชุมคณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจ |
. |
อย่างไรก็ดี กระทรวงแรงงานยังเร่งดำเนินโครงการต่างๆ เพื่อช่วยเหลือแรงงานอย่างต่อเนื่อง ทั้งการอบรมทักษะฝีมือแรงงาน การจัดงานนัดพบแรงงาน เพื่อเพิ่มโอกาสให้แรงงานที่ถูกเลิกจ้างกลับเข้าสู่ระบบ |
. |
ขณะที่สถานการณ์ทางเศรษฐกิจโดยทั่วไป ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) รายงานภาวะตลาดเงินล่าสุดในเดือน เม.ย.52 เงินบาทเคลื่อนไหวผันผวน โดยอ่อนค่าลงในช่วงเหตุการณ์ชุมนุม แต่ค่อย ๆ ปรับแข็งค่าขึ้นเมื่อสถานการณ์คลี่คลาย ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยสอดคล้องกับตลาดหุ้นในภูมิภาค |
. |
สภาพคล่องของระบบธนาคารพาณิชย์ ยังคงอยู่ในระดับสูงจากการชะลอตัวลงของสินเชื่อ ในขณะที่เงินฝากปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่วนการปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทยโดย S&P และ Fitch นั้นยังไม่ส่งผลกระทบต่อตลาดเงินโดยรวมอย่างมีนัยสำคัญในขณะนี้ |
. |
นอกจากนี้ในปี 52 นักลงทุนยังมีความต้องการพันธบัตรภาครัฐอย่างต่อเนื่อง แต่ในระยะ 2-3 ปีข้างหน้าจะขึ้นอยู่กับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก |