เนื้อหาวันที่ : 2009-04-27 09:36:34 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2495 views

เสียงสะท้อนยุทธศาสตร์ภาคใต้ที่ผิดเพี้ยน กับบทเรียนจากนิคมฯ ปิโตรเคมีมาบตาพุด

ความร้อนแรงทางการเมืองขณะนี้ดูเบาลง สิ่งที่ทุกฝ่ายควรหันมาสนใจก็คือปัญหาของชาวบ้าน ที่ผ่านมา ความเดือดร้อนของชาวบ้าน มาจากโครงการพัฒนาของรัฐแทบทั้งสิ้น การลงทุนด้วยเม็ดเงินมหาศาล อาจดูคุ้มค่าถ้าวัดเป็นตัวเงิน แต่ถ้าวัดด้วยต้นทุนทางด้านสิ่งแวดล้อมและต้นทุนด้านสุขภาพ มันอาจขาดทุนก็ได้

ความร้อนแรงทางการเมืองขณะนี้ดูเบาลง สิ่งที่ทุกฝ่ายควรหันมาสนใจก็คือปัญหาของชาวบ้าน ที่ผ่านมา ความเดือดร้อนของชาวบ้าน ที่ส่งผลยาวนานและกินลึกไปถึงวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ สุขภาพ สิ่งแวดล้อม หรืออาจลึกไปถึงสภาพจิตใจ ก็มาจากโครงการพัฒนาของรัฐ อย่างเช่นโครงการพัฒนาชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก หรือ อีสเทิร์นซีบอร์ด

.

เวทีสัมมนา ฤๅสงขลาจะเป็นมาบตาพุด ที่คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคใต้ (กป.อพช.ใต้) ร่วมกับสมาคมดับบ้านดับเมือง สมาคมรักษ์ทะเลไทยและโรงเรียนริมเล อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลาจัดขึ้น เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2552 ที่ผ่านมา ที่ห้องบรรยาย 3305 คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) วิทยาเขตหาดใหญ่ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา

.

ว่ากันด้วยผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการพัฒนาของรัฐ เกิดขึ้นก็เพื่อให้รัฐตระหนักถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น เพราะการลงทุนด้วยจำนวนเงินมหาศาล อาจดูคุ้มค่าถ้าวัดเป็นตัวเงิน

.

แต่ถ้าวัดด้วยต้นทุนทางด้านสิ่งแวดล้อมและต้นทุนด้านสุขภาพแล้ว มันอาจขาดทุนก็ได้ หากลองพิจารณางบประมาณในการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม สุขภาพรวมทั้งการจัดสรรปันส่วนทรัพยากรธรรมชาติอย่างน้ำจืด มันอาจไม่คุ้มค่าจริงก็ได้

.

เวทีดังกล่าว มีผู้เข้าร่วมจากกลุ่มต่างๆ ทั้งหมด 15 กลุ่ม ประมาณ 200 คน ซึ่งนายบรรจง นะแส นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย ในฐานะเลขาธิการ กป.อพช.ภาคใต้ บอกว่า จัดขึ้นเพื่อจัดกระบวนการเรียนรู้ให้คนสงขลาได้แลกเปลี่ยนบทเรียนจากโครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออกกรณีมาบตาพุด จังหวัดระยอง

.

ดร.อาภา หวังเกียรติ คณะวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวในการบรรยายเรื่อง "อนาคตปักษ์ใต้ภายใต้เงามืดแผนพัฒนาที่เป็นไป" ว่า รัฐบาลมีแนวคิดแผนพัฒนาภาคใต้ เพื่อให้เป็นเส้นทางเชื่อมต่อระหว่างตะวันออกและตะวันตก เป็นทางเลือกของการเดินเรือที่เป็นศูนย์กลางที่จะกระจายสินค้า โดยการเปิดประตูช่องทางการเดินเรือ เพื่อต้องการขยายฐานการผลิตปิโตรเลียมเคมีมาจากตะวันออกและจะนำไปสู่การทำผังเมืองที่เรียกว่าสะพานเศรษฐกิจ

.

ดร.อาภา กล่าวต่อว่า แผนพัฒนาชายฝั่งทะเลภาคใต้เป็นแผนพัฒนาอุตสาหกรรมที่ไม่เปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วม นับตั้งแต่ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์, ชุมพร, สุราษฎร์ธานี ซึ่งจะเป็นอุตสาหกรรมเหล็กต้นน้ำ ท่าเรือน้ำลึก เช่นเดียวกับ จ.นครศรีธรรมราช ที่จะเดินตามและพ่วงด้วยโครงการสะพานเศรษฐกิจ ฐานขุดเจาะน้ำมันของบริษัท เชฟรอน และอุตสาหกรรมปิโตรเคมี

.

ดร.อาภา กล่าวว่า ความคืบหน้าเรื่องนี้ ล่าสุดเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2552 คระรัฐมนตรีมีมติ แต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาพื้นที่พัฒนาชายฝั่งทะเลภาคใต้ ที่มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการ 

.

นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นรองประธานคนที่ 1 นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี เป็นรองประธานกรรมการคนที่สอง โดยมีหน้าที่พิจารณาเสนอแนะนโยบาย แผนงาน โครงการและมาตรการต่อคณะรัฐมนตรีในการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้

.

และประสานการบริหาร กำกับดูแลการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ในภาพรวมทั้งระบบ ขณะเดียวกันก็มีความคืบหน้าในส่วนของกลุ่มดูไบ เวิลด์ ของรัฐบาลสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ก็กำลังจะมีผลการศึกษาเรื่องสะพานเศรษฐกิจสงขลา - สตูลออกมา

.

ดร.อาภา กล่าวว่า สำหรับสงขลาและสตูล จะมีสะพานเศรษฐกิจ ท่าเทียบเรือน้ำลึก ซึ่งจะว่าไปแล้วทุกจังหวัดล้วนจะมีอุตสาหกรรมเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้งนั้น หากแผนพัฒนานี้เกิดขึ้นอย่างเต็มรูปแบบ จะต้องมีการใช้น้ำและไฟอย่างมหาศาล น่าสนใจว่าจะเกิดการแย่งชิงทรัพยากรต่างๆ ระหว่างอุตสาหกรรมกับชาวบ้านหรือไม่ และสิ่งที่เกิดขึ้นจะยิ่งใหญ่ทั้งจำนวนพื้นที่ การลงทุน และผลกระทบมากกว่าที่เกิดกับมาบตะพุดมากหลายเท่าตัว

.

ดร.อาภา กล่าวว่า โดยภาคใต้มีจุดหนัก 2 แห่งคือ สุราษฎร์ธานี - นครศรีธรรมราช และสงขลา ที่จะรองรับอุตสาหกรรมหนักอื่นๆ ที่เกี่ยวกับปิโตรเคมี ซึ่งนอกจากการสร้างท่าเรือน้ำลึกทั้งสองฝั่งคือท่าเรือปากบารา จังหวัดสตูล และท่าเรือน้ำลึกสงขลาแห่งที่สองที่อำเภอจะนะแล้ว เพื่อเชื่อมการขนส่งสินค้าระหว่างท่าเรือทั้งสองแห่ง โดยใช้เส้นทางถนนและทางรถไฟแล้ว

.

ดร.อาภา กล่าวว่า ทางกระทรวงพลังงาน ก็ยังได้มีผลการศึกษาเบื้องต้น โครงการท่อส่งน้ำมันดิบ สิ่งอำนวยความสะดวกที่เกี่ยวข้อง จะใช้แนวเส้นทางเชื่อมต่อระหว่างสงขลา - สตูล โดยเส้นทางวางท่อส่งน้ำมัน เริ่มจากทุ่นขนถ่านน้ำมันกลางทะเลฝั่งอันดามัน

.

ห่างจากชายฝั่งอำเภอละงู จังหวัดสตูล ประมาณ 37 กิโลเมตร จะมีการก่อสร้างคลังเก็บน้ำมันบนฝั่งอำเภอละงู ใช้พื้นที่ประมาณ 5,000 ไร่ บริเวณบ้านปากบาง อำเภอละงู เนื่องจากเป็นพื้นที่การเกษตรและมีประชากรอาศัยอยู่เบาบาง

.

ดร.อาภา กล่าวว่า ส่วนทางฝั่งอ่าวไทย จะมีการวางทุ่นขนถ่ายน้ำมันกลางทะเลและก่อสร้างคลังเก็บน้ำมันขนาดใหญ่ใช้พื้นที่ประมาณ 10,000 ไร่ บริเวณบ้านวัดขนุน อำเภอสิงหานคร จังหวัดสงขลา ซึ่งเป็นที่ราบกว้าง เป็นพื้นที่เพาะปลูก นากุ้งและมีประชากรอาศัยอยู่เบาบาง

.

นายสุทธิ อัชฌาสัย เครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก กล่าวในการบรรยายเรื่อง "มนดำ: บทเรียนการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมมาบตาพูด" ว่า เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงทำให้สิ่งที่ดีอยู่แล้วกลายเป็นสิ่งที่เสื่อมเสียไปเรื่อยๆ ในเรื่องนิคมอุตสาหกรรมมีล่างบอกเหตุล่วงหน้าว่าจะมีการขยายโรงงานอุตสาหกรรมต่อเนื่อง คือ การสร้างท่าเทียบเรือน้ำลึก การสร้างโรงแยกก๊าซ และการสร้าโรงกลั่นน้ำมัน

.

นายสุทธิ กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า สิ่งที่จะเกิดขึ้นที่จังหวัดสงขลานั้น ก็คือสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วในภาคตะวันออก ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะส่งผลกระทบตามาทั้งเรื่องของปัญหามลพิษ นำเสีย การกัดเซาะชายฝั่งอย่างรุนแรง มีขยะอุตสาหกรรมเพิ่มมากขึ้น ภาวะฝนกรด ฝุ่นถ่านหิน และที่สำคัญคือปัญหาทางด้านสังคม

.

ดร.เดชรัต สุขกำเนิด จากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวในการเสวนาเรื่อง "ปมปริศนาและทางออกของการพัฒนา" วันนี้น่าเสียดายที่ผู้กำหนดแผนพัฒนาของไทย เรียนรู้บทเรียนจากแผนพัฒนาที่ก่อปัญหาให้กับภาคตะวันออก หรือจังหวัดระยองน้อยมาก

.

ส่งผลให้แผนพัฒนาภาคใต้ มุ่งเน้นพัฒนาอุตสาหกรรมเหล็ก และอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมนำเข้าวัตถุดิบ หรือต้องซื้อจากบริษัทที่ได้รับสัมปทาน มิได้เป็นอุตสาหกรรมที่มาจากฐานปัญหา ศักยภาพ ความมุ่งหวัง หรือความต้องการของคนภาคใต้  

.

ดร.เดชรัต กล่าวว่า ขณะที่ภาคเกษตรกรรมของภาคใต้ มีมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในปี 2550 สูงถึง 315,141 ล้านบาท หรือร้อยละ 35 ของมูลค่าผลิตภัณฑ์ภาคการเกษตรทั้งประเทศ แซงหน้าภาคกลางขึ้นเป็นอันดับหนึ่งของประเทศ แผนพัฒนาภาคใต้กลับมองข้ามความสำคัญ เช่นเดียวกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ภาคใต้ทั้งฝั่งอันดามันและอ่าวไทย ถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงระดับโลก

.

ในปี 2550 รายรับจากการท่องเที่ยวภาคใต้สูงถึง 150,000 ล้านบาท ทั้งยังมีศักยภาพที่จะพัฒนาได้อีก แต่แผนพัฒนาภาคใต้ นอกจากจะไม่ได้มุ่งพัฒนา กลับทำให้เกิดความเสี่ยง หรือภัยคุกคามทรัพยากรการท่องเที่ยว ด้วยการส่งเสริมอุตสาหกรรมที่ก่อมลพิษ และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ที่อาจส่งผลกระทบรุนแรงต่อสภาพแวดล้อม เช่น ท่าเรือปากบารา

.

ดร.เดชรัต กล่าวว่า ยิ่งไปกว่านั้น การลงทุนทรัพยากรมนุษย์ เช่น การลงทุนทางการศึกษา กลับมิได้ถูกรวมเป็นทิศทางหลักในการพัฒนาภาคใต้ ทั้งที่ภาคใต้มีความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบ ด้านการลงทุนทางการศึกษาอย่างชัดเจน เนื่องจากคนภาคใต้ให้ความสำคัญกับการการศึกษาของลูกหลาน แถมความสมบูรณ์ของสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ ยังเป็นสิ่งดึงดูดใจ ที่สามารถนำไปใช้ในการพัฒนาการศึกษาระดับสูงได้ด้วย

.

ดร.เดชรัต กล่าวว่า แผนพัฒนาภาคใต้จึงควรให้ความสำคัญกับการพัฒนาอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ที่เพิ่มมูลค่าผลผลิตทางการเกษตร ซึ่งปัจจุบันสัดส่วนการแปรรูปเพิ่มมูลค่าผลผลิตทางการเกษตรในภาคใต้ มีเพียงร้อยละ 10 - 20 ของผลผลิต รวมทั้งลดต้นทุนการเกษตร โดยใช้เทคนิคการเกษตรชีวภาพ หรือระบบเกษตรกรรมยั่งยืน เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร  

.

"หากแผนพัฒนาภาคใต้ ตั้งเป้าเพิ่มมูลค่าผลผลิตการเกษตรให้ได้ร้อยละ 25 จะสามารถบำรุงรักษาทรัพยากรและบรรยากาศการท่องเที่ยวของภาคใต้ บวกกับการต่อยอดไปสู่การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ถ้าตั้งเป้าเพิ่มรายได้จากการท่องเที่ยวให้ได้ร้อยละ 25 ก็จะเพิ่มรายได้ขึ้น 35,000 ล้านบาท

.

เช่นเดียวกับการตั้งเป้าเพิ่มการลงทุนทรัพยากรมนุษย์ในทุกระดับและทุกมิติอีกร้อยละ 25 จะเพิ่มรายได้ให้ภาคใต้ไม่น้อยกว่า 13,500 ล้านบาท แถมยังเป็นการเพิ่มศักยภาพของทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งเป็นหัวใจการพัฒนาในระยะยาว" ดร.เดชรัต กล่าว

.

ดร.เดชรัต กล่าวว่า จากยุทธศาสตร์การลงทุนทั้งสามด้าน สามารถเพิ่มรายได้ให้กับภาคใต้ถึง 145,500 ล้านบาท เป็นรายได้ที่คนเกือบ 9 ล้านคนในภาคใต้เกี่ยวข้อง เข้ามามีส่วนในการพัฒนา และรับประโยชน์ ต่างจากการพัฒนาที่เน้นทุนและวัตถุดิบนำเข้า เช่น อุตสาหกรรมเหล็ก และปิโตรเคมี

.

ซึ่งมีผู้เกี่ยวข้องได้รับประโยชน์ไม่เกินหนึ่งแสนคน จากยุทธศาสตร์การลงทุนทั้งสามด้าน จะเพิ่มรายได้ให้คนภาคใต้ไม่น้อยกว่า 16,000 บาท/คน/ปี พอที่จะทำให้ทุกคนพ้นจากความยากจน และพัฒนาไปสู่ศักยภาพของตนได้อย่างแท้จริง

.

แล้วอุตสาหกรรมปิโตรเคมีจะสร้างและกระจายรายได้ได้มาน้อยแค่ไหน หากนำมาหักลบกับต้นทุนด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน เหมือนกับที่เกิดขึ้นแล้วที่มาบตาพุด เว้นแต่ไม่อยากเอามาคิดคำนวณเป็นต้นทุนด้วย

.
ที่มา : ประชาไทดอทคอม