เนื้อหาวันที่ : 2009-04-24 09:20:01 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 4178 views

พลัง อบต.บี้ภาษี 18 ล้าน โรงไฟฟ้าจะนะงัดข้อขอจ่ายแค่ 4 ล้าน

โครงการโรงแยกก๊าซธรรมชาติไทย - มาเลเซียเข้ามาสร้างความแตกแยกในชุมชนอย่างรุนแรง กลับขอลดหย่อนภาษี จ่ายให้ท้องถิ่นน้อยกว่าที่ควรจะเป็น โครงการฯ ที่มีปัญหามาตั้งแต่ต้นส่งผลกระทบต่อคนท้องถิ่นจะสิ้นสุดตรงไหน

โรงไฟฟ้าจะนะ

.

นายเจะโส๊ะ หัดเหาะ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลตลิ่งชัน อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา กล่าวถึงกรณีมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์โรงแยกก๊าซธรรมชาติไทย - มาเลเซีย ของบริษัท ทรานส์ ไทย - มาเลเซีย (ประเทศไทย) จำกัด หรือ ทีทีเอ็ม (TTM) จ่ายภาษีโรงเรือนและที่ดินให้กับท้องถิ่นน้อยกว่าที่ควรจะเป็นว่า

.

คณะกรรมการพิจารณากลั่นกรองการประเมินค่ารายปี ขององค์การบริหารส่วนตำบลตลิ่งชัน ได้เปรียบเทียบกับอัตราการเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดินขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในอำเภอขนอม จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นที่ตั้งโรงแยกก๊าซธรรมชาติขนอม เนื่องจากมีราคาที่ดินที่ใกล้เคียงกัน โดยไม่ได้นำมูลค่าของเครื่องจักรในโรงแยกก๊าซไทย - มาเลเซีย มาคำนวณภาษี

.

นายเจะโส๊ะ เปิดเผยว่า ที่ผ่านมา ทางโรงแยกก๊าซธรรมชาติไทย – มาเลเซีย ได้จ่ายภาษีให้กับท้องถิ่นประจำปี 2551 แล้ว เป็นเงิน 3,493,096 บาท ภาษีป้าย 3,168 บาท ภาษีบำรุงท้องที่ 2,708.46 บาท ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตประกอบกิจกรรมที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ 2,000 บาท และค่าตอบแทนรายปีการปลูกสร้างสิ่งล่วงล้ำลำน้ำ กรณีท่อส่งก๊าซธรรมชาติจากทะเลเข้ามายังโรงแยกก๊าซไทย - มาเลเซียปีละ 93,435 บาท

.

นายเจะโส๊ะ เปิดเผยต่อว่า คณะกรรมการพิจารณากลั่นกรองการประเมินค่ารายปี ซึ่งตั้งขึ้นตามคำสั่งอบต. เลขที่ 15/2550 ลงวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2550 ได้กำหนดภาษีโรงเรือนและที่ดินสำหรับโรงงานอุตสาหกรรม ได้แก่ 1. พื้นที่สนับสนุนการผลิต คิดภาษีตารางเมตรละ 33 บาท

.

2. พื้นที่ติดตั้งเครื่องจักร คิดภาษี 21.99 บาท (คิดค่ารายปี 1 ใน 3 ตามกฎหมายแพ่ง) 3. พื้นที่ลานจอดรถ, ถนน ภาษี 5.49 บาท 4. พื้นที่สนามหญ้า, บ่อน้ำ ภาษี 3.30 บาท 5. ถังเก็บผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น ผลิตภัณฑ์ เชื้อเพลิง ผลิตภัณฑ์เคมี ถังเก็บวัตถุอันตราย หรือถังที่เกี่ยวข้องตามกฎหมายอื่นๆ คิดภาษีลูกบาศก์เมตรละ 3.30 บาท

.

"ต่อมา ทางทีทีเอ็มได้ขอลดหย่อนภาษีเหลือ 1.9 ล้านบาท อ้างว่าได้จัดตั้งกองทุนพัฒนาสังคมแล้ว แต่คณะกรรมการฯ ไม่อนุญาต" นายเจะโส๊ะ กล่าว

.

นายรอหีม สะอุ กรรมการพิจารณากลั่นกรองการประเมินค่ารายปี กล่าวว่า ตนได้เสนอที่ประชุมคณะกรรมการครั้งล่าสุดว่า โครงการก่อสร้างโรงแยกก๊าซไทย - มาเลเซียได้เข้ามาสร้างความแตกแยกในชุมชนอย่างรุนแรง แล้วยังจะมาขอลดหย่อนภาษีอีก นอกจากไม่ควรขอลดหย่อนภาษีแล้ว ยังต้องนำแพทย์เข้ามาตรวจสุขภาพประชาชนในพื้นที่ด้วย

.

นางอลิสา หมานหล๊ะ กรรมการพิจารณากลั่นกรองการประเมินค่ารายปี กล่าวว่า ทีทีเอ็มขอลดหย่อนภาษี โดยอ้างว่าไม่ได้สร้างโรงเรือนในพื้นที่ทั้งหมด ซึ่งตนไม่เห็นด้วย เพราะพื้นที่ว่างก็เป็นส่วนหนึ่งของโรงแยกก๊าซ

.

เจ้าหน้าที่ฝ่ายประชาสัมพันธ์ของทีทีเอ็ม แจ้งว่า ประเด็นนี้ต้องนัดสัมภาษณ์ผู้บริหารระดับสูง โดยตนได้แจ้งให้ผู้บริหารทราบแล้วนอกจากการจ่ายภาษีให้กับท้องถิ่นแล้ว ทางทีทีเอ็มยังได้ตั้งกองทุนพัฒนาสังคม 12  ล้านบาทต่อปี ประกอบด้วย เงินกองทุนเพื่อการพัฒนาสังคมหมู่บ้าน 10 ล้านบาท

.

กองทุนนกเขาชวาเสียงจะนะ 1 ล้านบาท และกองทุนพัฒนาอาชีพประมง 1 ล้านบาท โดยมีการตั้งคณะกรรมการซึ่งประกอบด้วยส่วนราชการ ตัวแทนชุมชนพื้นที่ใกล้เคียงโรงแยกก๊าซไทย – มาเลเซีย และตัวแทนทีทีเอ็มเป็นผู้พิจารณาการใช้เงินกองทุน

.

จากการตรวจสอบของผู้สื่อข่าวพบว่า วิธีการคำนวณภาษีโรงแยกก๊าซฯ ขององค์การบริหารส่วนตำบลตลิ่งชัน กับการคำนวณภาษีโรงไฟฟ้าจะนะ ขององค์การบริหารส่วนตำบลคลองเปี๊ยะ อำเภอจะนะ แตกต่างกัน ส่งผลให้ตัวเลขภาษีที่ได้จากการคำนวณแตกต่างกันกว่า 10 ล้านบาท

.

นายเฉลิม ทองพรม นายกองค์การบริหารส่วนตำบลคลองเปียะ อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการพิจารณากลั่นกรองการประเมินค่ารายปี เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2552

.

ซึ่งตั้งขึ้นตามคำสั่งที่ 253/2551 ของ อบต.คลองเปียะ ได้คำนวณภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปี 2552 สำหรับโรงไฟฟ้าจะนะ ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่ตั้งในพื้นที่บ้านควนหัวช้าง ตำบลคลองเปียะ เป็นเงินทั้งปี 25,524,691.05 บาท แต่เนื่องจากปี 2551 โรงไฟฟ้าจะนะได้เดินเครื่องผลิตไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ได้เพียง 6 เดือนจึงลดภาษีลงเหลือ 18,000,000 บาทเศษ

.

นายเฉลิม เปิดเผยต่อว่า ทางโรงไฟฟ้าจะนะจึงได้ส่งหนังสืออุทธรณ์ไปยังคณะกรรมการพิจารณาคำร้องขอให้พิจารณาประเมินใหม่ โดยขอให้ลดหย่อนภาษีลงเหลือ 4,000,000 บาท โดยให้เหตุผลว่า ภาษีดังกล่าวสูงเกินไป และโรงไฟฟ้าจะนะเป็นรัฐวิสาหกิจที่ให้บริการประชาชน

.

คณะกรรมการฯ พิจารณาแล้ว ยังคงยืนยันตามอัตราเดิม ไม่ให้ลดหย่อน ทางโรงไฟฟ้าจะนะจึงแจ้งว่า จะนำเรื่องนี้เสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา เนื่องจากเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างหน่วยงานของรัฐด้วยกัน ไม่สามารถฟ้องศาลปกครองได้

.

นายเฉลิม เปิดเผยว่า คณะกรรมการพิจารณากลั่นกรองการประเมินค่ารายปี ได้ยึดแนวการประเมินค่ารายปีของทรัพย์สินตามคำสั่งของกรุงเทพมหานคร โดยประเมินทั้งอาคารที่ทำการ อาคารโรงไฟฟ้า

.

ถังน้ำมัน โรงสูบน้ำ โรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างที่เกี่ยวเนื่องกับโรงไฟฟ้า ที่ดินที่ใช้ต่อเนื่องกับโรงเรือน และอ่างเก็บน้ำ นอกจากนี้ ยังคิดภาษีในพื้นที่สายส่งไฟฟ้าเป็นเงิน 980,899.50 บาท และพื้นที่สถานีปรับความดันท่อส่งก๊าซธรรมชาติของ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) เป็นเงิน 240,942 บาท

.

นายเฉลิม เปิดเผยว่า ภาษีที่สูงสุดของโรงไฟฟ้าจะนะคือ อาคารโรงไฟฟ้าที่มีส่วนควบ เป็นเครื่องจักรกลไกหรือเครื่องกำเนิดสินค้า โดยมีสูตรคำนวณตามพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พุทธศักราช 2475 มาตรา 13 คือ 1. อาคารเครื่องกังหันแก๊ส 2. อาคารเครื่องกังหันไอน้ำ และ3. HRSG AND STACK NO.1& NO.2 คิดค่ารายปีของอาคารทั้ง 3 หลัง เป็นเงิน 6,877,272 บาท

.

จากนั้นนำมูลค่าเครื่องจักรราคา 4,080,000,000 บาท ไปคิดอัตรา 6.5% ซึ่งเท่ากับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ จะได้ตัวเลขเท่ากับ 265,200,000 บาท แล้วนำค่ารายปีของอาคารทั้ง 3 หลัง คือ เงิน 6,877,272 บาทมาบวกรวม จะได้ตัวเลข 272,077,272 บาท จากนั้นนำไปลด 1 ใน 3 เป็นค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สิน ก็จะได้ตัวเลข 90,692,424 บาท นำไปคูณกับ 12.5% ของจำนวนเงินดังกล่าว ก็จะได้ภาษี 11,336,533 บาท” นายเฉลิม กล่าว

.

นายเฉลิม กล่าวว่า เรื่องนี้มีการเจรจากันหลายครั้งแล้ว โดยทางโรงไฟฟ้าขอให้คำนวณภาษี ด้วยการใช้อัตราดอกเบี้ยเงินฝาก คือ 1.75% แทนที่จะเป็นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ 6.5% พร้อมกับต่อรองจะขอจ่ายภาษีที่ 7 ล้านบาท

.

รายงานข่าวจากโรงไฟฟ้าจะนะแจ้งว่า เดิมทางผู้บริหารโรงไฟฟ้าจะนะ พร้อมจะจ่ายภาษีที่ 10 ล้านบาท ต่อมาทราบว่าทางโรงแยกก๊าซจ่ายภาษีแค่ 3 ล้านกว่าบาท จึงจะขอต่อรองจ่ายภาษีเพียง 5 ล้านบาท โดยจะขอให้นายอำเภอจะนะเป็นตัวกลางเจรจา

.

นายอดุลย์ ทองเพชร นายก อบต.ป่าชิง อำเภอจะนะ เปิดเผยว่า พื้นที่ของโรงไฟฟ้าจะนะติดอยู่ในเขตตำบลป่าชิงอำเภอจะนะด้วย แต่เป็นที่ตั้งอาคารสำนักงาน คลังเก็บพัสดุและสวนหย่อม ทาง อบต.จึงคิดภาษีได้เพียง 400,000 บาท

.

สำหรับโรงไฟฟ้าจะนะ ได้จัดตั้งกองทุนพัฒนาชุมชนรอบโรงไฟฟ้า ในช่วงก่อสร้างปี 2549 - 2551 ปีละ 3.4 ล้านบาท เมื่อก่อสร้างเสร็จและเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ กฟผ.ได้ตั้งกองทุนพัฒนาพื้นที่บริเวณรอบโรงไฟฟ้า โดยหักเงินจากการจำหน่ายไฟฟ้าหน่วยละ 1 สตางค์เข้ากองทุน หรือ Energy Tax และมอบเงินให้มูลนิธิประมงคลองนาทับ 20 ล้านบาท เพื่อช่วยบรรเทาความเสียหายเบื้องต้น แก่ผู้ประกอบอาชีพประมง ที่ได้รับผลกระทบด้วย

.

นายเจริญ ศรีสุรักษ์ หัวหน้าแผนกประชาสัมพันธ์และชุมชนสัมพันธ์ โรงไฟฟ้าจะนะ เปิดเผยว่า ปี 2551 สามารถหักเงินสะสมเข้ากองทุนฯได้ 35 ล้านบาท ซึ่งคณะกรรมการกองทุนกำหนดให้จัดสรรเงินให้ทุกตำบลในอำเภอจะนะแห่งละ 1 ล้านบาท เทศบาลตำบลจะนะ ที่ว่าการอำเภอจะนะ และจังหวัดสงขลาอีกแห่งละ 1 ล้านบาท รวมเป็น 17 ล้านบาท

.

"แม้โรงไฟฟ้าจะนะได้จัดตั้งกองทุนให้กับชุมชนจำนวนมาก แต่ก็จะไม่นำไปเป็นข้ออ้างในการขอลดหย่อนภาษี" นายเจริญ กล่าว