นักวิชาการเตือน หลบฝน ใต้ต้นไม้ ตู้โทรศัพท์สาธารณะ เสี่ยงถูกฟ้าผ่า พร้อมแนะวิธีหลบภัยจากฟ้าผ่าที่ถูกต้อง ปลอดภัย
ดร.บัญชา ธนบุญสมบัติ นักวิชาการจากศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) และที่ปรึกษาด้านวิชาการศูนย์สื่อสารวิทยาศาสตร์ไทย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กล่าวว่า ในช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคม มักจะเกิดพายุฤดูร้อน ที่ทำให้เกิดฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และสิ่งสำคัญที่ต้องระวังเป็นอย่างมาก คือ ฟ้าผ่า ซึ่งเป็นสาเหตุให้มีผู้เสียชีวิตทุกปี |
. |
"สาเหตุหนึ่งที่มีผู้เสียชีวิตจากฟ้าผ่า คือความเข้าใจผิดเรื่องที่หลบภัย โดยมักจะวิ่งเข้าไปหลบฝนบริเวณใต้ต้นไม้ ตู้โทรศัพท์สาธารณะ เพราะคิดว่าเป็นสถานที่ที่ปลอดภัย แต่ที่จริงกลับเป็นจุดเสี่ยงที่สุด เนื่องจากฟ้าผ่าเกิดจากการเชื่อมโยงของประจุ 2 ชนิดที่ต่างกัน คือประจุลบจากเมฆจะวิ่งลงมาหาประจุบวกที่อยู่บนพื้นดิน |
. |
ดังนั้นกรณีนี้ จุดที่ประจุลบและบวกจะวิ่งมาเจอกันเร็วที่สุด ก็คือบริเวณที่สูงที่สุดจากพื้นดิน ซึ่งตามสถิติที่ผ่านมาพบว่า บริเวณที่สูง เช่น ต้นไม้ เสาไฟฟ้า หลังคาบ้าน คือจุดเสี่ยงที่จะเกิดฟ้าผ่ามากที่สุด และเมื่อฟ้าผ่าลงมาบริเวณที่สูง |
. |
เช่น ต้นไม้ กระแสไฟฟ้าจะวิ่งลงมาตามต้นไม้ และอาจจะวิ่งมาตามพื้น เรียกว่า กระแสที่ไหลมาตามพื้น (ground current) หรืออาจจะ “กระโดด” เข้าสู่ตัวคนทางด้านข้างได้ เรียกไฟฟ้าแลบจากด้านข้าง (side flash)" |
. |
ดร.บัญชา กล่าวว่า สถานที่หลบภัยจากฟ้าผ่าที่ปลอดภัย แนะนำให้หลบภายในตัวอาคาร หากอยู่ในรถยนต์ให้ปิดประตูให้สนิทและไม่สัมผัสกับส่วนที่เป็นโครงรถยนต์ ส่วนภายในบ้านหรืออาคารให้ถอดปลั๊กไฟที่ไม่จำเป็นออก ขณะที่คนซึ่งอยู่กลางแจ้งเมื่อเกิดฟ้าผ่าให้นั่งยองๆ ก้มศีรษะเพื่อลดตัวให้ต่ำที่สุด เท้าชิดกันและเขย่งเล็กน้อยเพื่อลดความเสี่ยงในกรณีกระแสไฟไหลมาตามพื้น |