ครม.ไฟเขียวให้กระทรวงการคลังกู้เงินในประเทศ 9.4 หมื่นล้านบาท เริ่มตั้งแต่เดือนมิ.ย.52 อ้างเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ เพราะคาดว่าจะจัดเก็บรายได้ต่ำกว่าเป้ามากกว่า 2 แสนล้านบาท ขณะที่รัฐบาลมีภาระรายจ่ายในการกระตุ้นเศรษฐกิจค่อนข้างมาก
นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ผู้อำนวยการ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ(สบน.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีนัดพิเศษวันนี้เห็นชอบให้กระทรวงการคลังกู้เงินในประเทศ 9.4 หมื่นล้านบาท โดยเป็นการกู้จากในประเทศ เริ่มตั้งแต่เดือนมิ.ย.52 ผ่านการออกพันธบัตรรัฐบาล พันธบัตรออมทรัพย์ ตั๋วเงินคลัง และ ตั๋วสัญญาใช้เงิน |
. |
การกู้เงินเพิ่มเติมอีก 94,000 ล้านบาทในปีงบประมาณ 52 สืบเนื่องมาจากการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลในปีงบประมาณนี้คาดว่าจะต่ำกว่าเป้าหมายมากกว่า 2 แสนล้านบาท ขณะที่รัฐบาลมีภาระรายจ่ายในการกระตุ้นเศรษฐกิจค่อนข้างมาก ส่งผลให้รัฐบาลต้องกู้เงินรวมทั้งหมด 441,000 ล้านบาท เป็นการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ และชดเชยรายจ่ายรัฐบาลที่มากกว่ารายได้ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 20%ของงบประมาณรายจ่ายปี 52 และ 80% ของงบชำระหนี้เงินกู้ |
. |
การกู้เงินเพิ่มเติมดังกล่าวจะกู้จากในประเทศทั้งหมด แยกเป็นการออกพันธบัตรรัฐบาล จำนวน 34,000 ล้านบาท แบ่งเป็นแบบอัตราดอกเบี้ยลอยตัว 18,000 ล้านบาท โดยอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงอยู่ระหว่างหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย ที่เหลือเป็นแบบอัตราดอกเบี้ยแบบคงที่ |
. |
นอกจากนั้น เป็นการออกตั๋วเงินคลัง จำนวน 30,000 ล้านบาท ตั๋วสัญญาใช้เงิน จำนวน 20,000 ล้านบาท และพันธบัตรออมทรัพย์ จำนวน 10,000 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างพิจารณาอายุพันธบัตรคาดว่าจะอยู่ในช่วง 3-5 ปี เพื่อเป็นทางเลือกในการออมเงินของประชาชน |
. |
"ในปีงบประมาณ 52 จะมีตราสารหนี้ภาครัฐออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้น จาก 525,000 ล้านบาท เป็นประมาณ 620,000 ล้านบาท จากการกู้เงินเพื่อชดเชยขาดดุลงบประมาณ กู้เงินชดเชยรายจ่ายมากกว่ารายได้ และรีไฟแนนซ์เงินกู้ที่ครบ due" นายพงษ์ภาณุ กล่าว |
. |
สำหรับตราสารหนี้ภาครัฐที่จะออกสู่ตลาดกว่า 620,000 ล้านบาทนั้น ธปท.จะเป็นฝ่ายดูแลสภาพคล่องในระบบ เพื่อไม่ให้เกิดการกระจุกตัวของการออกตราสารภาครัฐและภาคเอกชน และไม่ให้ส่งผลกระทบต่ออัตราผลตอบแทนในตลาด ซึ่งจะพบว่ารัฐบาลพยายามออกตราสารให้เกิดความหลากหลายมากขึ้น เพื่อให้สามารถบริหารจัดการได้ง่าย แม้รัฐบาลจะมีต้นทุนการเงินที่สูงขึ้น แต่อีกด้านจะเป็นผลดีต่อนักลงทุน ที่ได้ประโยชน์จากผลตอบแทนที่ดีขึ้น |
. |
ทั้งนี้ การกู้เงินเพิ่มอีก 94,000 ล้านบาทจะทำให้หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นอีก 1%ของจีดีพี ซึ่งคาดว่าสิ้นปีงบประมาณ 52 (30 ก.ย.52) ยอดหนี้สาธารณะจะเพิ่มขึ้นจาก 39% ในปัจจุบัน เป็น 44% ของจีดีพี |
. |
อย่างไรก็ตาม ผู้อำนวยการ สบน. กล่าวยอมรับว่า ในปีงบประมาณ 52 รัฐบาลมีความจำเป็นที่ต้องกู้เงินเพิ่มอีกมากกว่า 94,000 ล้านบาท ซึ่งการกู้เงินในส่วนที่เพิ่มขึ้นจากนี้จะต้องมีการออก พ.ร.ก.เพื่อขยายเพดานการกู้เงินตามกฎหมาย ซึ่งไม่ขอให้รายละเอียดในเรื่องนี้ แต่นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง จะเป็นผู้ชี้แจงเอง |