เนื้อหาวันที่ : 2009-04-17 11:05:05 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1237 views

ศูนย์วิจัยกสิกรฯ คาดการเมืองวุ่นวายหนักอาจฉุด GDP ไทยปีนี้หดตัวถึง 6%

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองในช่วงวันหยุดเทศกาลสงกรานต์ลุกลามจนกลายเป็นการจลาจลและสร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวงต่อภาพลักษณ์ในด้านความปลอดภัยและความสงบเรียบร้อยของประเทศไทยในสายตาของชาวต่างชาติ จะเป็นการซ้ำเติมเศรษฐกิจไทยที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากเศรษฐกิจโลก

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองในช่วงวันหยุดเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมาที่ลุกลามจนกลายเป็นการจลาจลและสร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวงต่อภาพลักษณ์ในด้านความปลอดภัยและความสงบเรียบร้อยของประเทศไทยในสายตาของชาวต่างชาติ จะเป็นการซ้ำเติมเศรษฐกิจไทยที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากเศรษฐกิจโลก                                                                                      

.

ดังนั้น จึงมีแนวโน้มทำให้เศรษฐกิจไทยในปี 52 หดตัวมากกว่าคาดการณ์เดิมอีกประมาณ 2-3% โดยอาจหดตัวลง 3.5-6.0% จากเดิมที่คาดไว้ว่าจะติดลบ 1.5-3.5% 

.

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าความสูญเสียจากเหตุการณ์ดังกล่าวอาจทำให้เศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาส 2/52 หดตัวลงมากกว่า 7% จากเดิมคาดว่าจะหดตัว 3.1-3.8% และจะเป็นอัตราติดลบที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจากไตรมาส 4/51 ที่เศรษฐกิจไทยหดตัว 4.3%และไตรมาส 1/52 ที่คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะหดตัว 4.5-6% 

.

เศรษฐกิจไทยที่หดตัวมากขึ้นในไตรมาส 2/52 เป็นผลจากรายได้การท่องเที่ยวของชาวต่างชาติที่ลดลง ตลอดจนเม็ดเงินสะพัดจากการใช้จ่ายของคนไทยในช่วงเทศกาลสงกรานต์หดหายไป นอกจากนี้ ยังมีผลกระทบในด้านการลงทุนที่มีการชะลอออกไปในภาวะที่ยังไม่มีความไม่แน่นอน       

.

สถานการณ์การเมืองไทยอาจจะยังคงอยู่ภายใต้ความไม่แน่นอนต่อไป แม้ว่าจะไม่ถึงขั้นมีเหตุการณ์ความรุนแรงเกิดขึ้น แต่ก็อาจเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นฟูความเชื่อมั่นรวมถึงการดำเนินนโยบายของรัฐบาลในช่วงที่เหลือของปี  ขณะที่ยังคงมีความเสี่ยงต่อโอกาสที่ปัจจัยทางการเมืองจะส่งผลกระทบรุนแรงกว่าที่ประมาณการไว้นี้ 

.

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า เหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองจะสร้างความสูญเสียแก่รายได้ของธุรกิจท่องเที่ยวในปี 52 ทั้งนักท่องเที่ยวไทยและต่างชาติ เพิ่มขึ้นอีกประมาณ 50,000-100,000 ล้านาท และทำให้การลงทุนหดตัวลงมากขึ้น โครงการลงทุนของภาคเอกชนจะยิ่งชะลอออกไป ขณะที่การลงทุนของภาครัฐอาจมีความคืบหน้าล่าช้า เพราะไม่สามารถขับเคลื่อนนโยบายได้ตามปกติ จึงคาดว่าการลงทุนโดยรวมปีนี้จะหดตัว 6.1-7.8% หรือลดลงประมาณ 34,000-100,000 ล้านบาท 

.

ด้านการบริโภคภาคเอกชน ความไม่แน่นอนทางการเมืองที่หวนกลับมาท่ามกลางภาวะที่เศรษฐกิจไทยต้องเผชิญกับผลกระทบรุนแรงจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกอยู่แล้วจะยิ่งส่งผลให้ประชาชนไม่มั่นใจที่จะจับจ่ายใช้สอย และลดทอนผลของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่รัฐบาลผลักดันออกมา ซึ่งเดิมคาดว่าจะเห็นผลในการกระตุ้นการบริโภคของภาคเอกชนในช่วงไตรมาส 2/52

.

นอกจากนี้ จะส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจและการจ้างงานมากกว่าที่เคยคาดไว้ ซึ่งจะกดดันการบริโภคมากขึ้นอีก จึงคาดว่าการบริโภคภาคเอกชนในปี 52 จะหดตัว 1.1-3.2% จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัว 0% ถึง -1% อัตราเงินเฟ้อทั่วไป คาดว่าอยู่ที่ขยายตัว 0.5% ถึง -1% เงินเฟ้อพื้นฐาน อยู่ที่ 0-1% ส่วนภาคส่งออกจะหดตัวลง 16.5-20% การนำเข้าหดตัว 19-23% ดุลการค้าเกินดุล 4,600-5,400 ล้านดอลลาร์ ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 2,800-5,000 ล้านดอลลาร์ 

.

ส่วนผลกระทบอื่นๆ จะเป็นเรื่องของอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศ ในขณะนี้ S&P ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของสกุลเงินบาทระยะยาวลงจากระดับ A เป็น A- ขณะที่สกุลเงินต่างประเทศระยะยาว อันดับความน่าเชื่อถือยังอยู่ที่ BBB+ แต่มีมุมมองในเชิงลบมากขึ้น และ ฟิทช์ เรทติ้งส์ ก็ปรับลดอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวจาก BBB+ ลงเป็น BBB และสกุลเงินบาทระยะยาวจาก A ลงเป็น A- ขณะที่ทบทวนแนวโน้มความน่าเชื่อถือของไทยเป็นมีเสถียรภาพ จากเชิงลบ 

.

ทั้งนี้ มีโอกาสที่สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือต่างๆ จะปรับลดอันดับของประเทศไทยลงอีกถ้าสถานการณ์ยังไม่คลี่คลาย ซึ่งการลดอันดับความน่าเชื่อถือของไทยลงจะทำให้รัฐบาลและภาคเอกชนมีต้นทุนทางการเงินสูงขึ้น 

.

ด้านการลงทุนในหลักทรัพย์ ความไม่แน่นอนทางการเมืองจะสร้างความเสี่ยงเพิ่มขึ้นต่อการลงทุนในตลาดเงินตลาดทุนในประเทศไ  เนื่องจากนักลงทุนมีความสนใจลงทุนในสินทรัพย์ของไทยลดลง และภาวะเงินทุนไหลออกจะส่งผลให้สภาพคล่องในระบบลดลง และอาจทำให้สภาพคล่องในระบบตึงตัวมากขึ้น อาจมีผลต่อทิศทางอัตราดอกเบี้ยภายในประเทศอีกทาง                   

.

อัตราแลกเปลี่ยน ผลกระทบต่อรายได้การท่องเที่ยวจากต่างประเทศจะทำให้ฐานะดุลบัญชีเดินสะพัดอ่อนแอลง ประกอบกับเงินทุนต่างประเทศที่ไหลเข้าตลาดหุ้นอาจมีแนวโน้มลดลง และอาจเกิดสภาวะเงินทุนไหลออก ซึ่งปัจจัยดังกล่าวนี้จะมีผลต่อสถานะดุลการชำระเงิน และทำให้ค่าเงินบาทมีแนวโน้มที่จะอ่อนค่า แม้จะเป็นผลดีต่อภาคการส่งออก แต่อีกด้านหนึ่งก็จะเพิ่มต้นทุนแก่สินค้าที่จำเป็นต้องนำเข้าจากต่างประเทศ

.

และผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือของธุรกิจไทยในสายตาของคู่ค้า โดยคู่ค้าในต่างประเทศที่จะสั่งซื้อสินค้าจากไทยอาจกังวลต่อความเที่ยงตรงในการส่งมอบสินค้าของผู้ส่งออกไทย ทำให้อาจลดคำสั่งซื้อสินค้าจากผู้ส่งออกไทย หรือกระจายคำสั่งซื้อไปยังประเทศอื่นๆ ด้วย ซึ่งจะทำให้ผู้ส่งออกไทยอาจต้องสูญเสียโอกาสทางการค้าไป