เนื้อหาวันที่ : 2009-04-16 15:01:37 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2139 views

นักวิเคราะห์คาดแผนกระตุ้นศก.ของญี่ปุ่น ช่วยพยุงศก.ฟื้นตัวได้เพียงชั่วคราว

นักวิเคราะห์เชื่อ แผนกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงินมหาศาลของนายกรัฐมนตรีทาโร่ อาโสะของญี่ปุ่นจะช่วยให้เศรษฐกิจในประเทศหลุดพ้นจากการเผชิญภาวะถดถอยที่เลวร้ายที่สุดหลังสมัยสงครามโลกได้เพียงชั่วคราว

นักวิเคราะห์หลายสำนักเชื่อว่า แผนกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงินมหาศาลของนายกรัฐมนตรีทาโร่ อาโสะของญี่ปุ่นจะช่วยให้เศรษฐกิจในประเทศหลุดพ้นจากการเผชิญภาวะถดถอยที่เลวร้ายที่สุดหลังสมัยสงครามโลกได้เพียงชั่วคราว                                                        

.

นักวิเคราะห์จากมอร์แกน สแตนลีย์, นิกโก ซิตี้กรุ๊ป และแมคไคว์รีย์ ซีเคียวริตี้กล่าวว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นในรอบปีที่สิ้นสุด ณ เดือนมี.ค.2553 จะหดตัวลงน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้  หลังจากที่นายอาโสะประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจล็อตใหม่มูลค่า 15.4 ล้านล้านเยน (1.55 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ) ไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว 

.

"การปรับเพิ่มคาดการณ์เศรษฐกิจในครั้งนี้มีขึ้นหลังจากญี่ปุ่นออกมาตรการขนาดใหญ่เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ปัจจัยภายในประเทศเพียงอย่างเดียวไม่สามารถช่วยให้เศรษฐกิจขยายตัวได้อย่างยั่งยืน การฟื้นตัวของเศรษฐกิตโลกผ่านการปฏิรูประบบการเงินจึงเป็นสิ่งสำคัญ" ซาโต้กล่าวพร้อมทั้งคาดว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นจะหดตัว 3.3% ในรอบปีที่สิ้นสุด ณ วันที่ 31 มี.ค.2553 ซึ่งลดลงน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ว่าจะหดตัว 4.3%

.

ด้านนักวิเคราะห์จากนิกโก ซิตี้กรุ๊ปกล่าวว่า "หากรัฐบาลไม่ประกาศแผนกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมในปีหน้า การใช้จ่ายภาคสาธารณะจะลดลงอย่างรวดเร็วและจะสร้างแรงกดดันให้ GDP เผชิญช่วงขาลงในปีงบประมาณหน้า       

.

ขณะเดียวกันโนมูระ ซีเคียวริตี้ กล่าวว่า การกระตุ้นเศรษฐกิจของญี่ปุ่นจะได้ผลเพียงระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น อย่างไรก็ตาม บริษัทได้ปรับเพิ่มคาดการณ์ GDP ขึ้นสู่ระดับ 2.8% จากที่คาดว่าจะลดลง 4.3% 

.

ส่วนริชาร์ด เจอร์แรม นักวิเคราะห์จากแมคไคว์รีย์ ซีเคียวริตี้กล่าวว่า แผนการกระตุ้นเสถียรภาพในตลาดแรงงานของอาโสะอาจช่วยให้ภาคครัวเรือนลดการออมเงินลงและเพิ่มการใช้จ่ายมากขึ้น แต่จะไม่มากพอที่จะชดเชยกับอุปสงค์ที่ตกต่ำลงซึ่งทำให้ราคาสินค้าปรับตัวลดลง 

.

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของอาโสะมีเม็ดเงินรวมทั้งสิ้น 25 ล้านล้านเยนนับตั้งแต่อาโสะเข้ารับตำแหน่งผู้นำในเดือนก.ย.หรือคิดเป็นสัดส่วนกว่า 5% ของผลผลิตมวลรวมภายในประเทศ โดยมาตรการดังกล่าวมุ่งเน้นที่การสร้างงาน การพัฒนาเทคโนโลยีสีเขียว และการดูแลสุขภาพ