โครงการท่อส่งก๊าซและโรงแยกก๊าซไทย-มาเลเซีย โครงการที่สร้างความขัดแย้งมาตั้งแต่รัฐบาลชวน หลีกภัย และทักษิณ ชินวัตร จนถึงปัจจุบัน ได้รับการคัดค้านทั้งจากชาวบ้านในพื้นที่ กรรมาธิการสิ่งแวดล้อมของวุฒิสภา นักวิชาการกว่า 1,300 คนทั่วประเทศ หากแต่โครงการยังดำเนินต่อท่ามกลางเสียงคัดค้าน ใครได้ประโยชน์ใครเสียประโยชน์ ใครได้เปรียบใครเสียเปรียบ โครงการจะสร้างประโยชน์ต่อประเทศชาติได้จริงหรือไม่ คำถามคาใจที่ต้องการคำตอบ
การใช้ก๊าซในโครงการไทย-มาเลเซีย : คำเตือนที่เป็นจริง ประสาท มีแต้ม |
. |
1. คำนำ |
เพื่อให้ท่านผู้อ่านได้ตัดสินใจว่าจะอ่านบทความนี้ต่อไปหรือไม่ ผมขอนำประเด็นสำคัญมาเสนอก่อน ประเด็นคือการวางแผนผลิตก๊าซที่ผิดพลาดทำให้คนไทยทุกคนต้องควักเงินในกระเป๋าเพิ่มขึ้น |
. |
จากรายงานประจำปี 2551 ของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) พบว่า ในปี 2551 บริษัท ปตท. ต้องจ่ายค่า "ไม่ซื้อก็ต้องจ่าย" ก๊าซจากโครงการไทย-มาเลเซีย (ซึ่งเป็นโครงการสร้างความขัดแย้งมาตั้งแต่รัฐบาลชวน หลีกภัย และทักษิณ ชินวัตร จนถึงปัจจุบัน) เป็นจำนวน 13,716 ล้านบาท |
. |
นอกจากนี้ค่าไม่ซื้อก็ต้องจ่ายจากโครงการท่อก๊าซไทย-พม่า(ที่คาราคาซังกันกันมาตั้งแต่ปี 2541) ก็ยังเรียกคืนได้ไม่หมด ยังคงเหลืออีกหนึ่งหมื่นกว่าล้านบาท รวมทั้งสองรายการทาง ปตท. ต้องจ่ายไปแล้วถึงประมาณ 2 หมื่น 4 พันล้านบาท |
. |
2. ค่าไม่ใช้ก็ต้องจ่ายคืออะไร? |
ในการซื้อขายก๊าซระหว่างผู้ผลิต(ผู้ขุดในทะเล)กับผู้ซื้อมาขายต่อ(คือ ปตท.-ผูกขาดรายเดียวในประเทศ) ต้องมีสัญญาที่เรียกว่า "ไม่ซื้อก็ต้องจ่าย" กล่าวคือสัญญาต้องบังคับไว้ล่วงหน้าว่าในแต่ละปีผู้ซื้อจะต้องซื้อก๊าซจำนวนเท่าใด ถ้าหากผู้ซื้อมีความจำเป็นที่ไม่สามารถรับซื้อได้ครบตามสัญญา ผู้ซื้อก็ต้องจ่ายเงินให้ครบตามจำนวนที่ได้ระบุไว้ |
. |
เมื่อใดก็ตามที่ผู้ซื้อมีความจำเป็นมากขึ้น (เกินกว่าที่ระบุในสัญญา) ส่วนที่เกินก็ไม่ต้องจ่ายเงินเพิ่ม เพราะถือว่าได้จ่ายไปแล้ว ปตท.เรียกเงินส่วนนี้เพื่อให้ฟังดีขึ้นว่า "เงินจ่ายล่วงหน้าซื้อก๊าซ" แต่สาระก็เหมือนที่ผมกล่าวมาแล้วนั่นแหละครับ |
. |
โครงการท่อก๊าซไทย-พม่า ปตท.ก็ต้องเสียเงินส่วนนี้มาตลอด นับตั้งแต่ปี 2541 ที่เริ่มโครงการ ในปี 2544 ค่าไม่ใช้ก็ต้องจ่ายได้สูงถึง 29, 257.9 ล้านบาท เงินจำนวนนี้ก็ค่อย ๆ ลดลงเมื่อมีการใช้มากกว่าจำนวนที่ได้ระบุไว้ในสัญญา ในปี 2551 เงินจำนวนนี้ได้ลดลงมาอยู่ที่ 10,339.89 ล้านบาท |
. |
ถ้าถามว่า จ่ายเงินล่วงหน้าแล้วเสียหายตรงไหน? คำตอบก็คือค่าดอกเบี้ยและค่าเสียโอกาส สมมุติว่าโดยเฉลี่ย ค่าไม่ซื้อก็ต้องจ่ายมีค่าคงที่คือ 2 หมื่นล้านบาท ถ้าอัตราดอกเบี้ยทบต้นร้อยละ 6 ต่อปี ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา เงินรวมก็จะเป็นประมาณ 3 หมื่น 6 พันล้านบาทไม่ใช้น้อยเลยเมื่อเทียบกับกำไรหลังการแปรรูปปีละ 1 แสนล้านบาทของ ปตท. ทั้งหมด |
. |
สำหรับโครงการท่อก๊าซไทย-มาเลเซีย ปีที่ผ่านมาเพิ่งเป็นปีแรกของสัญญารับก๊าซที่ผู้ซื้อคือ ปตท. จะต้องรับ ในปีต่อ ๆ ไปจะเสียเพิ่มขึ้นแค่ไหน ผมจะไม่ขอกล่าวถึงในที่นี้ แต่จะขอย้อนอดีตให้ท่านผู้อ่านทราบว่า "ภาคประชาชน" และตัวผมเองได้เคยเตือนว่าอย่างไรบ้าง |
. |
3. คำเตือนในอดีต |
โปรดอย่าคิดว่าเป็นการ "ฟื้นฝอยหาตะเข็บ" หรือหาเรื่อง ปตท. แต้ถ้าเรายังยืนยันที่จะสร้างสังคมใหม่หรือ "การเมืองใหม่" เรื่องนี้คือบทบาทที่จำเป็น (แต่ยังอ่อนด้อยอย่างมาก) ของสังคมไทย |
. |
โครงการท่อส่งก๊าซและโรงแยกก๊าซไทย-มาเลเซีย ได้รับการคัดค้านทั้งจากชาวบ้านในพื้นที่ กรรมาธิการสิ่งแวดล้อมของวุฒิสภา นักวิชาการกว่า 1,300 คนทั่วประเทศ ขณะเดียวกันผู้คัดค้านบางส่วนก็ได้รับการประณามจากสื่อมวลชนบางส่วนและสังคมว่า "ผู้คัดค้านเป็นพวกขัดขวางการพัฒนา พวกรับเงินต่างชาติ" |
. |
เมื่อเดือนมกราคมปี 2545 พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีคนใหม่ได้ลงมาพบกลุ่มผู้คัดค้านถึงพื้นที่โครงการ พร้อมบอกกับชาวบ้านว่า "ไม่ว่ารัฐบาลจะตัดสินใจอย่างไรจะต้องอธิบายให้สังคมเข้าใจได้" |
. |
ผมและเพื่อนอาจารย์อีก 3 ท่านได้มีโอกาสไปชี้แจงให้นายกฯฟังจนดึก ผมรู้สึกว่านายกฯเห็นด้วยกับการนำเสนอของ "นักวิชาการกลุ่มคัดค้าน" |
. |
หลังจากนั้นอาจารย์ทั้ง 4 คนก็ได้รับเชิญจากคณะทำงานของนายกทักษิณ ชินวัตร (หรือคณะ "53 นายพล") ให้ไปร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในฐานะฝ่ายคัดค้านกับข้าราชการระดับสูงที่เกี่ยวข้องอีกหลายกรม รวมทั้ง ดร.ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพลังงานแห่งชาติในขณะนั้นด้วย |
. |
การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเป็นอย่างเข้มข้นนานกว่า 7 ชั่วโมง ก่อนปิดการประชุม พลเอก ชัยศึก เกตุทัต (ต่อมาได้รับแต่งตั้งให้เป็นคณะกรรมการของ ปตท. ที่มีเบี้ยประชุมครั้งละกว่า 4 หมื่นบาท) ในฐานะประธานได้เปิดโอกาสให้ข้าราชการคนอื่น ๆ ที่ร่วมรับฟังด้วยแสดงความเห็นบ้าง ปรากฏว่ามีข้าราชการสายวิชาการท่านหนึ่งและเพียงท่านเดียวเท่านั้นได้ยกมือแสดงความคิดเห็นอย่างชัดถ้อยชัดคำสั้น ๆ ว่า "เรื่องก๊าซผมเห็นด้วยกับฝ่ายคัดค้านเพราะมีเหตุผลและยังไม่มีความจำเป็นในขณะนี้" ที่ประชุมเงียบกริบ ไม่มีคำพูดใด ๆ อีกจากท่านประธานฯ นอกจาก "ปิดประชุม" |
. |
ผมทราบในเวลาต่อมาว่า ข้าราชการท่านนี้ได้ลาออกจากราชการหลังจากนั้นไม่นานนัก เรื่องที่ผมนำมาเล่าทั้งหมด ไม่ปรากฏว่าเป็นข่าวในสื่อมวลชน ถ้าจะถามเหตุผลว่าเพราะอะไรก็คงคิดได้ไม่ยากนะครับ |
. |
โดยสรุป สิ่งที่นักวิชาการฝ่ายคัดค้านได้เตือนไว้สำหรับโครงการท่อส่งก๊าซไทย-พม่าและ ไทย-มาเลเซียก็เป็นจริงตามที่กล่าวแล้ว |
. |
อนึ่ง เท่าที่ผู้เขียนค้นพบจากอินเทอร์เน็ตทราบว่า ปตท. จะสร้างท่อก๊าซไทย-พม่าอีกเส้นหนึ่ง เป็นเส้นที่สามให้แล้วเสร็จในปี 2555 จะซ้ำรอยเดิมหรือไม่ก็ต้องฝากให้สังคมช่วยกันติดตามนะครับ |
. |
4. ยังมีความเข้าใจผิดพลาดในโครงการท่อก๊าซไทย-มาเลเซียอีก |
สังคมไทยถูกทำให้เชื่อโดยเจ้าของโครงการและหน่วยงานของรัฐว่า โครงการท่อก๊าซและโรงแยกก๊าซไทย-มาเลเซีย เป็นการนำก๊าซในพื้นที่ทับซ้อนระหว่างสองประเทศมาใช้ประโยชน์ในการพัฒนาประเทศและพัฒนาภาคใต้ โดยมีการลงทุนกันฝ่ายละครึ่งและใช้ประโยชน์กันฝ่ายละครึ่งหรือที่เรียกกันสั้น ๆ ว่า "50:50" แต่ในความเป็นจริงหาได้เป็นเช่นนั้นไม่ |
. |
ความจริงคือก๊าซในทะเลที่เป็นส่วนของไทยให้นำไปใช้ที่มาบตาพุด ส่วนก๊าซของมาเลเซียให้นำมาแยกที่ประเทศไทยแล้วนำไปใช้ที่มาเลเซียผ่านแผ่นดินประเทศไทย แผนที่ข้างล่างนี้(มาจากคำบรรยายของดร.คุรุจิต นาครทรรพ รองปลัดกระทรวงพลังงาน 24 มีนาคม 2551) คงจะยืนยันในสิ่งที่ผมพูดได้ |
. |
พื้นที่ในภาพที่เขียนว่า JDA ทางขวามือด้านล่างคือแหล่งก๊าซที่ว่าครับ ก๊าซของไทยไปตามท่อไปทางทิศเหนือผ่านแหล่ง ARTHIT ไม่ได้มาขึ้นฝั่งที่สงขลาเห็น ๆ กันอยู่ |
. |
อนึ่ง มีการอ้างกันว่า ก๊าซของไทยส่วนหนึ่งถูกนำมาใช้ที่โรงไฟฟ้าสงขลา เรื่องนี้เป็นความจริงครับ แต่จริงไม่หมด ในขณะที่ทีการดำเนินการสร้างท่อก๊าซ โรงไฟฟ้ายังไม่อยู่ในแผน แผนสร้างโรงไฟฟ้ามาทีหลังเพื่อให้โครงการดูดีเท่านั้นเอง แต่ก็สร้างผลกระทบเรื่องโรงไฟฟ้ามากเกินไปตามมาอีก (ไม่ขอกล่าวในที่นี้) มีผู้ที่ติดตามเรื่องท่อก๊าซมานานคนหนึ่งบอกผมว่า "ก๊าซที่นำมาใช้กับโรงไฟฟ้าเป็นก๊าซของไทยที่ไม่ได้ผ่านโรงแยกก๊าซ แต่ต่อท่อตรงมาจากแหล่งในทะเล ไม่ใช่ท่อที่ผ่านไปมาเลเซีย" เท็จจริงอย่างไร หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโปรดชี้แจงด้วย |
. |
5. ค่าผ่านท่อกับ "อำนาจมหาชนของรัฐ" |
หลังจากศาลปกครองสูงสุดได้ตัดสินว่า ส่วนใดที่ทาง ปตท.(ก่อนการแปรรูป) ได้ใช้ “อำนาจมหาชนของรัฐ” ไปเวนคืนที่ดิน เมื่อแปรรูปแล้วให้ ปตท. คืนเป็นสาธารณะสมบัติ |
. |
กล่าวเฉพาะ "โครงการไทย-มาเลเซีย" ก็มีการใช้อำนาจมหาชนของรัฐเช่นกัน ท่อก๊าซวางทั้งในทะเล ทางหลวงแผ่นดิน ฯลฯ ทาง ปตท. ก็ไม่ยอมคืน |
. |
ขณะเดียวกัน เงินที่ได้จากค่าผ่านท่อนำก๊าซไปให้มาเลเซียใช้ซึ่งคิดเป็นประมาณวันละ 29 ล้านบาทก็ต้องแบ่งให้ทางมาเลเซียครึ่งหนึ่งอีกครึ่งหนึ่งให้กับบริษัท ปตท. |
. |
เมื่อเร็ว ๆ นี้ ทาง ปตท.ได้ประกาศขึ้นค่าผ่านท่อทั้งประเทศ มีผลตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2552 เป็นต้นไปจากเดิมคิดในอัตรา 19.74 บาทต่อล้านบีทียู เป็น 21.76 บาทต่อล้านบีทียู หรือเพิ่มขึ้น 2.02 บาท โดยคิดผลตอบแทนการลงทุน (ROE) สูงกว่าค่ามาตรฐาน คือ คิดถึงร้อยละ 18 และคิดต้นทุนเงินกู้ที่อัตรา 10.5 ต่อปี (แทนที่จะเป็นร้อยละ 6 อย่างที่ผมสมมุติ) |
. |
ค่าผ่านท่อในอัตราใหม่นี้ ทำให้เกิดต้นทุนในค่าไฟฟ้าถึง 18 สตางค์ต่อหน่วยไฟฟ้า การกำหนดผลตอบแทนสูงเกินกว่าธุรกิจอื่น ๆ และการขึ้นค่าผ่านท่อดังกล่าวย่อมส่งผลให้ค่าไฟฟ้าแพงขึ้นอย่างแน่นอน |
. |
สิ่งที่ติดใจผมมากในขณะนี้ก็คือ "การใช้อำนาจมหาชนของรัฐไทย" ไปเอื้อประโยชน์ให้กับประเทศมาเลเซียนะซิ มันเป็นไปได้อย่างไร ? |
. |
ที่มา : ประชาไทดอทคอม |