เนื้อหาวันที่ : 2006-02-20 13:25:49 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2207 views

สรุปผลดี-เสีย เอฟทีเอไทย-สหรัฐ จะเดินหน้าหรือถอยหลังดี

การประชุมกลุ่มย่อยเวทีนโยบายสาธารณะเอฟทีเอไทย-สหรัฐอเมริกา ประโยชน์จะตกแก่คนกลุ่มน้อยแต่คนกลุ่มใหญ่จะเสียประโยชน์ ประชาชนต้านให้ทบทวนใหม่

กลุ่มที่ 1 : กระบวนการเจรจา/อธิปไตยของประเทศ/ผลกระทบต่ออำนาจตุลาการ

(ประธานกลุ่ม ร้อยตรีวิจิตร อยู่สุภาพ วิทยากร อาจารย์เจริญ คัมภีรภาพ, รศ.พิชัยศักดิ์ หรยางกูล, ดร.เพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์)

ประมวลประโยชน์และผลกระทบ

1.ในด้านภาพรวม จากการประมวลประโยชน์และผลกระทบเห็นว่าข้อตกลงเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ระหว่างประเทศไทยกับสหรัฐอเมริกานั้น ประโยชน์จะตกแก่คนกลุ่มน้อยแต่คนกลุ่มใหญ่จะเสียประโยชน์ ที่สำคัญที่สุดคือ การสูญเสียอำนาจอธิปไตยของประเทศ ตัวอย่างเช่น ทรัพยากรชีวภาพพันธุ์พืชพันธุ์สัตว์อาจถูกจดสิทธิบัตร เกษตรกรที่ใช้พันธุ์พืชจะไม่สามารถแลกเปลี่ยนหรือเอาไปปลูกต่อได้เพราะผิดกฎหมาย ตำรวจต้องถูกบังคับให้ไล่จับเกษตรกร เหมือนกรณีที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ ทั้งหมดนี้คือการละเมิดอำนาจอธิปไตยของประเทศ

2.จากการวิเคราะห์ข้อเสนอของฝ่ายสหรัฐ พบว่าข้อเสนอของฝ่ายสหรัฐได้เข้ามาแทรกแซง และเปลี่ยนแปลงอำนาจอธิปไตย ของประเทศไทย ทั้งในเชิงอำนาจบริหาร ตุลาการ และนิติบัญญัติ มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงกฎหมายและการบริหารของรัฐ ตัวอย่างเช่น การที่ไทยต้องเข้าไปเป็นภาคีสิทธิบัตรระหว่างประเทศ (Patent Cooperation Treaty) การเข้าเป็นภาคีอนุสัญญา ว่าด้วยการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ ( Union for Protection New Varieties of Plant) นั้นจะทำให้ไทยต้องแก้ไขกฎหมายภายใน เพื่อให้เป็นไปตามข้อตกลงด้วย

ข้อเสนอแนะ

1.การทำข้อตกลงเขตการค้าเสรีต้องผ่านการพิจารณาของรัฐสภา ทั้งนี้ เนื่องจากบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญมาตรา 224 กำหนดไว้ชัดเจนว่า ข้อตกลงระหว่างประเทศใดๆ ที่มีผบกระทบต่อเขตดินแดน อำนาจแห่งรัฐ หรือต้องแก้ไขกฎหมายภายใน เพื่ออนุวัตรตามข้อตกลงระหว่างประเทศนั้น ต้องนำเสนอให้รัฐสภาเป็นผู้พิจารณาเห็นชอบ ก่อนการลงนามการทำเอฟทีเอกับสหรัฐ หากไทยยินยอมตามคำเรียกร้องของสหรัฐ จะมีผลทำให้ไทย ต้องแก้ไขกฎหมายหลายฉบับ เช่น กฎหมายสิทธิบัตร กฎหมายลิขสิทธิ์ กฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืช เป็นต้น ดังนั้น รัฐบาลจะรวบรัดลงนามเมื่อเจรจาแล้วเสร็จมิได้

2.หนังสือสัญญาของข้อตกลงต้องมีทั้งฉบับภาษาไทยและภาษาอังกฤษ และอยู่ภายใต้การเจรจาที่มีความเท่าเทียมกัน การมีหนังสือสัญญาทั้งสองภาษาจะเป็นหลักประกันในการตีความข้อสัญญา เพราะในกรณีที่มีข้อขัดแย้งในการตีความ หากมีการตีความเป็นภาษาอังกฤษ ไทยอาจเสียเปรียบได้เนื่องจากมีรากฐานทางวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน การใช้หนังสือสัญญาเป็นภาษาไทย ยังเป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนคนไทยทุกกลุ่ม ซึ่งได้รับผลกระทบจากสัญญา สามารถเข้าถึง ศึกษาและทำความเข้าใจในผลข้อตกลงดังกล่าวได้มากขึ้นด้วย

3.ข้อตกลงในเรื่องต่างๆ ควรมีอายุสัญญา เช่น 10 ปี 20 ปี เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อจะทำให้ผู้บริหารประเทศ และประชาชน สามารถมีทางออกได้ในกรณีที่ข้อตกลงสร้างผลกระทบ และสร้างความเสียหายที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรง ต่อประเทศชาติในอนาคต

4.กระบวนการเจรจาต้องมีระยะเวลาเพียงพอ โดยมีการพัฒนากรอบข้อตกลง (formulate draft) ขึ้นก่อน จากนั้นนำไปทดลองใช้ในระยะเวลาหนึ่ง มีการวัดผลว่าเกิดผลเช่นไร จากนั้นค่อยปรับปรุงให้ได้ร่างที่ต้องการ ก่อนที่จะนำผลของข้อตกลงไปบังคับใช้ในทางปฏิบัติ

5.กลุ่มมีข้อเสนอให้ยืดระยะเวลาการเจรจาออกไป

6.กระบวนการค้าเสรีต้องมีขีดจำกัดที่ทำให้การแข่งขันเป็นธรรม ไม่ผูกขาดในระบบการตลาด

7.การเจรจาต้องโปร่งใสและเปิดเผย หัวข้อของการเจรจาทั้งของไทยและสหรัฐ ให้รัฐสภาและประชาชนรับทราบ

8.ก่อนทำสัญญาข้อตกลงต้องผ่านการลงประชามติตามรัฐธรรมนูญ

กลุ่มที่ 2 : การเงิน การคลังและการธนาคาร

(ประธานกลุ่ม ดร.พิสิฐ ลี้อาธรรม วิทยากร ดร.ทวีลาภ ฤทธาภิรมย์, น.ส.จุฬารัตน์ สุธีธร, นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ)

ประมวลประโยชน์และผลกระทบ

กลุ่มย่อยเรื่องการเงินการคลังและการธนาคารค่อนข้างเป็นกังวลกับการเปิดเสรีค่อนข้างมากในหลายประเด็น เช่น การเรียกร้องของฝ่ายสหรัฐที่จะให้ไทยยอมรับหลักการปฏิบัติเยี่ยงคนชาติ (National Treatment) ซึ่งจะทำให้บริษัททางการเงินของสหรัฐ เข้ามามีบทบาทในกิจการธนาคาร ประกันภัย และบริการทางการเงินรูปแบบต่างๆ คาดว่าสิ่งที่สหรัฐเรียกร้องคือการยกเลิกข้อจำกัดการถือหุ้นของคนต่างชาติ ข้อจำกัดสัดส่วนการบริหารของผู้ถือหุ้นต่างชาติ การขยายสาขาของธนาคาร ระยะเวลาในการอนุญาตเปิดกิจการ หรือการเปิดบริการทางการเงินรูปแบบต่างๆ เป็นต้น 

การเปิดเสรีทางการเงินอาจมีผลดีบางเรื่อง เช่น การสร้างความโปร่งใสเกี่ยวกับการกำหนดนโยบาย การสร้างความตื่นตัวให้บริษัทในประเทศมีความตื่นตัวมากขึ้น แต่โดยภาพรวมธุรกิจการเงินการธนาคารในไทย ยังไม่อาจแข่งขันได้กับต่างประเทศ และมีความกังวลในการควบคุมการบริการทางการเงินที่รัฐไม่สามารถควบคุมได้ จนทำให้เกิดผลกระทบต่อการกำหนดนโยบายการพัฒนาประเทศ และผลกระทบที่มีต่อประชาชนระดับรากหญ้า ดังปัญหาที่เกิดขึ้นกับการให้บริการสินเชื่อส่วนบุคคลที่เกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้

โดยในเชิงการเตรียมความพร้อมนั้น ไทยต้องเตรียมความพร้อมทางด้านกฎหมายการเงินของไทย เช่น ร่าง พ.ร.บ.ธุรกิจสถาบันการเงิน กฎหมายประกันเงินฝาก ฯลฯ เตรียมความพร้อมเพื่อรับผลกระทบจากความเชื่อมโยง ระหว่างธุรกิจการเงินกับธุรกิจอื่นๆ เช่น เทเลคอม และภาคเอกชนต้องให้ข้อมูลทั้งในเชิงรับ และเชิงรุก เพื่อให้คณะเจรจาสามารถต่อรองได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ข้อเสนอแนะ

1.รัฐควรศึกษาในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการเจรจาโดยละเอียดอย่างรอบคอบ โดยศึกษาจากกรณีที่สหรัฐเจรจามาแล้ว เช่น ชิลี สิงคโปร์ โดยมีเป้าหมายประโยชน์ของประชาชนเป็นสำคัญ

2.ไทยควรใช้หลักการเจรจาเพื่อการแบ่งปันผลประโยชน์ต่อกันในแต่ละเรื่องที่เท่าเทียมกัน

3.รัฐควรเปิดเผยข้อมูล บอกกล่าวข้อมูลให้ประชาชนได้รับทราบอย่างตรงไปตรงมา

4.ควรยืดเวลาการเปิดเสรีทางการเงินให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาการเงินการคลังของประเทศ และให้เงื่อนเวลาในการปรับปรุงการออกกฎหมายและระเบียบต่างๆ เพื่อรองรับอย่างเพียงพอ

5.ภาครัฐ และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง ควรมีแผนในการรองรับผลกระทบจากการเปิดเสรีในทุกสาขา เพราะมีความเชื่อมโยงเกี่ยวข้องกัน 

กลุ่มที่ 3 : เกษตรกรรม

(ประธานกลุ่ม นายสุธรรม วิชชุไตรภพ วิทยากร นายบัณฑูร เศรษฐศิโรตม์, นายสิทธิพร บุรณนัฎ, นายอดุลย์ วังตาล)

ประมวลประโยชน์และผลกระทบ

1.การเปิดเสรีสินค้าเกษตรกรรมผลประโยชน์ส่วนใหญ่จะตกอยู่กับบริษัท และธุรกิจการเกษตรมากกว่าจะตกสู่เกษตรกร ผลประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับก็ไม่มีข้อมูลหรือตัวเลขที่ชัดเจนแต่ประการใด ผลกระทบต่อภาคเกษตรกรรมมองที่ตัวเลขทาง GDP อย่างเดียวไม่ได้ แต่ต้องมองที่จำนวนเกษตรกรด้วย

2.ไทยในฐานะผู้ผลิตสินค้าเกษตรโดยสุทธิจะเปลี่ยนเป็นผู้ซื้อสินค้าเกษตรแทน ส่งผลกระทบต่อโครงสร้างการผลิตการเกษตร และส่งผลกระทบต่อโครงสร้างทางสังคมในท้ายที่สุด ผลกระทบนี้จะเกิดขึ้นอย่างรุนแรง เพราะภาคเกษตรกรรม ยังไม่พร้อมที่จะรับการเปลี่ยนแปลง นโยบายทางเศรษฐกิจอย่างกะทันหันขนาดนี้ เกษตรกรเอง ก็ไม่สามารถปรับเปลี่ยน อาชีพที่เหมาะสมกับตัวเองได้ ตัวอย่างเช่น ขณะนี้เกษตรกรที่เลี้ยงโคนมเลิกเลี้ยงไปแล้ว 20-30% และภายในปี 2009 ไทยอาจไม่มีผู้เลี้ยงโคเนื้อเหลืออยู่อีกเลย

3.ผลกระทบที่เกิดขึ้นนั้นมิได้เกิดขึ้นเพราะเกษตรกรไทยมีประสิทธิภาพการผลิตที่ต่ำกว่า แต่เกิดขึ้นจากสินค้าเกษตรชนิดเดียวกัน ของประเทศคู่เจรจามีราคาถูกกว่า เนื่องจากกระบวนการอุดหนุนภายใน (Domestic Subsidy) ให้กับเกษตรกรของตน

4.จากประสบการณ์การทำเอฟทีเอกับจีน ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ชี้ให้เห็นชัดเจนว่าไม่มีผู้รับผิดชอบ และไม่มีกระบวนการรองรับผลกระทบต่อเกษตรกรอย่างเพียงพอ ดังที่มีการอ้างว่ามีกองทุนเพื่อเยียวยาผลกระทบหนึ่งหมื่นล้านบาท แต่กลับไม่มีโครงการแลผู้รับผิดชอบอย่างรูปธรรมที่จะช่วยเหลือเกษตรกร สาธารณชนถูกชวนเชื่อให้เข้าใจว่าเกษตรกรได้รับการเยียวยาแล้ว

ข้อเสนอแนะ

1.เสนอให้มีการชะลอการเจรจาเอฟทีเอกับสหรัฐอเมริกาออกไป โดยเอฟทีเอที่ลงนามไปแล้วกับประเทศอื่น ที่เกษตรกรได้รับผลกระทบแล้ว อย่างชัดเจนต้องนำมาทบทวนใหม่

2.กระบวนการเจรจาต้องเป็นไปอย่างเปิดเผย ให้เกษตรกรได้รับทราบเนื้อหาในการเจรจา และต้องเปิดเผยเนื้อหาให้ทราบ เป็นสาธารณะโดยผ่านสื่อมวลชนทุกชนิด ต้องจัดให้มีเวทีสาธารณะในระดับพื้นที่ อย่างน้อยในระดับจังหวัดด้วย กระบวนการเจรจาต้องให้ความสำคัญต่อเกษตรกรและแรงงานซึ่งมีสัดส่วนถึงร้อยละ 80 ด้วย ไม่ใช่ให้ความสำคัญเฉพาะพ่อค้าและนักอุตสาหกรรม ซึ่งมีเพียงร้อยละ 20

3.จัดตั้งคณะกรรมการเจรจาเอฟทีเอ ซึ่งไม่ใช่มีเฉพาะข้าราชการเท่านั้น แต่ควรประกอบไปด้วยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจริง เช่น พ่อค้า นักอุตสาหกรรม เกษตรกร เป็นต้น โดยข้าราชการมีบทบาทเป็นผู้สนับสนุนและช่วยเหลือ

4.ไม่ควรเร่งรัดการเจรจา ควรพิจารณาให้รอบคอบ โดยต้องศึกษาและเตรียมความพร้อมอย่างรอบด้าน เช่น ศึกษาสถานภาพของอาชีพเกษตรกรแต่ละอาชีพว่าเป็นอย่างไร สามารถแข่งขันกับประเทศคู่เจรจาได้หรือไม่ ในสาขาใดที่ได้รับผลกระทบต้องปรังโครงสร้างภายในก่อนก่อนที่จะเจรจากับต่างประเทศ ดังตัวอย่างในออสเตรเลีย เป็นต้น

5.การลงนามในสัญญาใดๆ ก็ตาม ซึ่งจะนำไปสู่การสูญเสียอธิปไตย ต้องผ่านมติรัฐสภา ต้องทำประชามติ และให้ประชาชนมีส่วนร่วมตามรัฐธรรมนูญมาตรา 224 และ 76

6.ต้องช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบแล้วอย่างเร่งด่วน เช่น เกษตรกรที่ปลูกพืชตระกูลหอม ผักและผลไม้เมืองหนาว และเกษตรกรกลุ่มโคเนื้อโคนม โดยต้องทำให้เกิดผลอย่างรูปธรรมโดยเร็ว

7.ภาครัฐควรเอาแนวทางในการเกลี่ยผลประโยชน์ระหว่างผู้ที่ได้รับผลประโยชน์ ไปสู่ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการทำเอฟทีเอ เพื่อให้เกิดความสมดุลและความอยู่รอดของเกษตรกร

8.รัฐต้องสร้างสมดุลของการพัฒนาโดยเปิดโอกาส และสนับสนุนให้เกษตรกรทำเกษตรกรรมยั่งยืน ตามแนวทางเศรษฐกิจแบบพอเพียง

9.เกษตรกร และประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ต้องรวมตัวกันให้เข้มแข็ง เพื่อสร้างแรงกดดันต่อรัฐบาล

กลุ่มที่ 4 : ทรัพย์สินทางปัญญา (สิทธิบัตรยา สิทธิบัตรในทรัพยากรชีวภาพ ลิขสิทธิ์ ฯลฯ)

(ประธานกลุ่ม นางสาวสุรีย์รัตน์ ตรีมรรคา วิทยากร ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก, รศ.ดร.จิราพร ลิ้มปานานนท์, นายวีรวัธน์ ธีระประสาธน์, นายปรีชา ส่งวัฒนา)

ประมวลผลประโยชน์และผลกระทบ

จากการอภิปรายของกลุ่มพบว่าการเจรจาเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา จะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสังคมไทยทั้งหมด เช่นจะทำให้ยามีราคาแพงขึ้น เกิดผลกระทบต่อการบริหารหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (โครงการ 30 บาท) อุตสาหกรรมยาชื่อสามัญถูกทำลาย และรัฐบาลจะไม่มีเครื่องมือในการแก้ปัญหาสาธารณสุข โดยเนื้อหาการเจรจาที่จะยอมรับไม่ได้โดยเด็ดขาดประกอบไปด้วย

1) การขยายอายุสิทธิบัตรยา 5-10 ปี

2) การผูกขาดข้อมูลการทดลองยา (Data Excusivity - DE 5)

3) การให้หน่วยงานของรัฐ (อย.) ทำหน้าที่เป็นตำรวจสิทธิบัตร และทำให้ยาสามัญขึ้นทะเบียนล่าช้า

4) การจำกัดการใช้มาตรการยืดหยุ่นของข้อตกลงทรัพย์สินทางปัญญาภายใต้องค์การการค้าโลก (TRIPs) เช่น การบังคับใช้สิทธิ

5) การไม่ยอมรับการเข้าเป็นภาคีการคุ้มครองพันธุ์พืชระหว่างประเทศ (UPOV 1991)

6) การขยายสิทธิบัตรออกไปครอบคลุมพืช สัตว์ และสิ่งมีชีวิต

ข้อเสนอแนะ

1.ควรมีความโปร่งใสเปิดเผยข้อมูล ในการเจรจากับประชาชน โดยเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในกระบวนการเจรจา

2.ข้อตกลงเอฟทีเอกับประเทศต่างๆ ควรผ่านการพิจารณาของรัฐสภาเพื่อความรัดกุมป้องกันความเสียหาย

3.ทั้ง 2 ฝ่ายต้องยื่นข้อเสนอที่ต้องการสูงสุดเพื่อเข้าสู่กระบวนการต่อรองในการเจรจา โดยต้องมีข้อเสนอเชิงรุก เช่น ให้สหรัฐเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ (CBD) สหรัฐควรเปิดเผยข้อมูลการจดสิทธิบัตร แจ้งที่มาของการนำทรัพยากรพันธุกรรม และคุ้มครองภูมิปัญญาท้องถิ่นของไทย โดยถ้าสหรัฐไม่สามารถให้ในสิ่งที่ไทยเสนอ ก็ตัดในสิ่งที่สหรัฐเสนอเป็นการแลกเปลี่ยนกัน

4.ชะลอการเจรจาออกไปจนกว่าจะพร้อม แล้วค่อยเจรจากับสหรัฐกันใหม่ โดยเฉพาะเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา เรื่องพืช สัตว์ โดยในระหว่างนี้นั้นไทยต้องพัฒนาศักยภาพทุกด้านของประเทศในการพึ่งตนเอง เช่น การวิจัยในทรัพยากรธรรมชาติ และภูมิปัญญาท้องถิ่นของไทย อุตสาหกรรมยา เทคโนโลยีชีวภาพ

5.รัฐควรปรับปรุงนโยบายและกฎหมาย เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประชาชนให้เข้มแข็ง รัดกุมมากขึ้น เช่น ภายหลัง 5 ปี ควรเปิดให้ยาสามัญเข้ามานับจากวันที่ยานั้นออกสู่ตลาดในประเทศไหนๆ ก็ตาม รวมทั้งแนวทางในการเพิ่มสมรรถนะนักวิจัย และภาคเอกชนของไทยให้สามารถแข่งขันได้ทางด้านทรัพย์สินทางปัญญา

กลุ่ม 5 : การค้า การบริการ การลงทุน และภาคอุตสาหกรรม

(ประธานกลุ่ม นายประพัฒน์ โพธิวรคุณ วิทยากร รศ.ดร.ลาวัลย์ ถนัดศิลปะกุล, ดร.นิลสุวรรณ ลีลารัศมี, นายสุรพล ว่องวัฒนโรจน์, นางภรณี ลีนุตพงษ์, ดร.สุวันชัย แสงสุขเอี่ยม)

ประมวลประโยชน์และผลกระทบ

ไทยจะได้ผลประโยชน์จากสินค้าเกษตร และอุตสาหกรรมบางประเภท โดยผลบวกที่ได้รับจะเป็นผลบวกทางเศรษฐกิจ ในระยะสั้น ในขณะที่ผลกระทบจะมีค่อนข้างมาก เช่น

- อุตสาหกรรมท่องเที่ยวจะมีผลกระทบ เนื่องจากโดยส่วนใหญ่ยังไม่พร้อม ยกเว้นพวกร้านอาหารและภัตตาคาร

- การเปิดบริการสาธารณสุข ทำให้แพทย์ไม่เพียงพอในการให้บริการ

- ไทยจะเสียเปรียบการค้าขายและการให้บริการผ่านทาง Internet

- ไทยเสียเปรียบด้านแรงงาน แรงงานชาวอเมริกาจะเข้ามาพร้อมๆ กับการลงทุน ในขณะที่แรงงานไทยมีข้อจำกัด ในการเข้าตลาดสหรัฐ

- การเข้ามาใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติของไทยโดยสหรัฐ

- การปฏิบัติเยี่ยงชาติ (National Treatment) คนอเมริกันจะได้สิทธิเท่าคนไทย

- ไม่สามารถบังคับถ่ายโอนเทคโนโลยีได้ จึงได้ประโยชน์เฉพาะค่าแรง

- นโยบายของสหรัฐ ส่งออกสินค้าเกษตรให้มากขึ้น มีผลกระทบต่อเกษตรกรไทย

- ผลกระทบเรื่องอธิปไตยของรัฐ เช่น สิทธิในการออกกฎหมาย การใช้กฎหมาย

- แม้ข้อตกลงสามารถยกเลิกได้ทันที แต่จะมีผลผูกพันไปอีก 10 ปี

ข้อเสนอแนะ

1.กระบวนการเจรจาต้องมีความพร้อมโดย 

- ให้ประชาชนได้รับทราบ ให้ข้อมูลและมีส่วนร่วมให้มากกว่านี้

- การทำการศึกษาวิจัยทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม

- รัฐมีสิทธิในการเจรจา แต่ควรมีการดำเนินการเพื่อให้เกิดความชอบธรรมด้วย การกำหนดประเด็นการเจรจาล่วงหน้า และให้มีการพิจารณาอนุมัติและรับรอง โดยผ่านรัฐสภา จัดทำประชาพิจารณ์

- องค์ประกอบของอำนาจเจรจา ควรมีภาคประชาชนที่มีส่วนได้ส่วนเสียเข้าร่วมเจรจาด้วย

- ข้อตกลงควรมีระยะเวลาเปลี่ยนผ่าน (Transition Period)

- การประเมินผลจากการทำข้อตกลงเสรีทางการค้า ควรมีการจัดตั้งองค์กรในการประเมิน และกำหนดตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจ และสังคม หากผลการประเมินไม่ดีก็ให้ยกเลิก

2.เนื้อหาการเจรจาเกี่ยวกับการเปิดเสรีด้านการบริการ การลงทุน และอุตสาหกรรมนั้น ควรอยู่บนหลักการดังนี้

- เป็นการเจรจาโดยใช้ Positive List

- ไม่ควรทำสัญญาในลักษณะที่เมื่อลงนามแล้วมีผลใช้บังคับทันที

- ดูเนื้อหาการเจรจาให้ครบทั้ง 2 ด้าน เช่น สิ่งแวดล้อม และแรงงาน

- เนื่องจากขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจา ยังไม่ได้มีการตกลงอย่างเป็นทางการ หากเห็นว่าไม่เหมาะสมก็ไม่จำเป็นต้องทำข้อตกลง

3.การเยียวยาและการบรรเทาผลกระทบ

- ควรมีมาตรการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบที่ชัดเจนก่อนตกลง

- ส่งเสริม Cluster ของสินค้าหรือสิ่งที่เราได้รับประโยชน์จากข้อตกลงให้เกิดเป็นรูปธรรม