เนื้อหาวันที่ : 2009-04-10 14:20:04 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1097 views

เป้าหมายการส่งออกปี 2552

ครม. รับทราบเป้าหมายการส่งออกสินค้าปี 2552 ประมาณร้อยละ 0-3 ธุรกิจบริการ ร้อยละ 10 มอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาดำเนินการตามข้อเสนอมาตรการเร่งด่วนเพื่อกระตุ้นการส่งออก

คณะรัฐมนตรีรับทราบเป้าหมายการส่งออกสินค้าปี 2552 ประมาณร้อยละ 0-3 และธุรกิจบริการ ร้อยละ 10 และมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาดำเนินการตามข้อเสนอมาตรการเร่งด่วนเพื่อกระตุ้นการส่งออก ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ  

.

โดยให้กระทรวงพาณิชย์รับข้อสังเกตของคณะรัฐมนตรีไปพิจารณาดำเนินการด้วยว่า     เนื่องจากระยะเวลาได้ล่วงเลยมากว่า 3 เดือนแล้ว กระทรวงพาณิชย์ควรพิจารณาทบทวนเป้าหมายดังกล่าวให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริงมากยิ่งขึ้นรวมทั้งให้เร่งเสนอมาตรการต่าง ๆ ที่สมควรจะดำเนินการไปเพื่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาโดยเร็ว                                                

.

กระทรวงพาณิชย์รายงานสรุปผลการสัมมนาเชิงปฏิบัติการร่วมกับภาคเอกชนและสมาคมการค้าทุกอุตสาหกรรม เพื่อจัดทำเป้าหมายการส่งออก ปี 2552 และการจัดทำมาตรการเร่งด่วนกระตุ้นการส่งออกปี 2552 เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2552 ณ ห้องประชุมกระทรวงพาณิชย์ โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นประธานฯ สรุปสาระสำคัญ ดังนี้    

.
1. เป้าหมายการส่งออกปี 2552
            1.1 การส่งออกปี 2551 เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.6 คิดเป็นมูลค่า 177,841.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ 

            1.2 เป้าหมายการส่งออกปี 2552 จะลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับปี 2551 โดยในช่วงครึ่งแรกของปี 2552 คาดว่าการส่งออกจะลดลงมากและอาจจะกลับมาดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้การส่งออกชะลอตัวลง ในปี 2552 ได้แก่
.

                (1) ความต้องการในตลาดโลกที่ลดลงตามเศรษฐกิจของตลาดส่งออกหลัก 
               .(2) ปัญหาการขาดสภาพคล่องของผู้ซื้อในต่างประเทศจากผลกระทบของวิกฤตทางการเงินที่มีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น 

.

               (3) คาดว่าปริมาณการส่งออกสินค้าเกษตรจะใกล้เคียงกับปี 2551 หรือลดลงเล็กน้อย แต่ราคาส่งออกจะลดลงค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับ ปี 2551 ซึ่งอยู่ในระดับที่สูงมาก
                (4) การปิดสนามบินสุวรรณภูมิในช่วงปลายปี 2551 สร้างความไม่มั่นใจในการสั่งซื้อสินค้าจากไทย 

.
            1.3 ปัจจัยสนับสนุนให้ช่วงครึ่งหลังของปี 2552 ซึ่งคาดว่าการส่งออกจะมีแนวโน้มที่ปรับตัวดีขึ้นกว่าในช่วงครึ่งแรกของปี ได้แก่
                (1) เศรษฐกิจของตลาดส่งออกสำคัญโดยเฉพาะตลาดหลักคาดว่าจะมีแนวโน้มที่ปรับตัวดีขึ้นเป็นลำดับ
                (2) ค่าเงินบาทมีเสถียรภาพและราคาน้ำมันโลกอยู่ในระดับต่ำ 
.
                (3) ผู้ประกอบการไทยได้รับการยอมรับในด้านการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพและมาตรฐาน
                (4) สินค้าจีนยังประสบปัญหาเรื่องคุณภาพและมาตรฐาน
                (5) ผลสำเร็จจากความร่วมมือของภาครัฐและเอกชนในการดำเนินมาตรการเร่งด่วนกระตุ้นการส่งออก                         
.

2. มาตรการเร่งด่วนเพื่อกระตุ้นการส่งออกในปี 2552 เพื่อผลักดันให้การส่งออกในช่วงครึ่งหลังของปี 2552 มีการขยายตัวเพิ่มขึ้น จึงจำเป็นต้องดำเนินมาตรการเร่งรัด และกระตุ้นการส่งออกในปี 2552 อย่างเต็มที่ โดยมีข้อเสนอดังนี้ 

.
            2.1 ด้านตัวสินค้า 

                (1) สนับสนุนด้านนวัตกรรม โดยขอความร่วมมือจากสำนักนวัตกรรมแห่งชาติให้ความรู้แก่กลุ่มธุรกิจที่มีศักยภาพ 
               .(2)เผยแพร่งานวิจัยและพัฒนาสินค้าสำเร็จแล้วให้กลุ่มธุรกิจได้นำไปช่วยเสริมการวิจัยและพัฒนา โดยขอความร่วมมือจากกระทรวง กรม และสถาบันการศึกษา
                (3) ให้ความสำคัญการพัฒนาสินค้า การเพิ่มมูลค่าและการสร้าง Brand โดยการอบรมสัมมนาอย่างต่อเนื่อง 

.

               .(4) ส่งเสริมธุรกิจบริการที่มีศักยภาพสูง ได้แก่ ธุรกิจบริการภายใต้โครงการ "Siam Supreme Service"  หรือโครงการ "Triple S" (SSS) โดยจัดให้มีสถาบันเฉพาะของธุรกิจบริการเพื่อเป็นหน่วยงานหลักในการกำหนดยุทธศาสตร์และส่งเสริมธุรกิจบริการ
                (5) เร่งดำเนินการโครงการครัวไทยสู่โลก โดยตั้งทีมงาน อาทิ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สถาบันอาหารภาคเอกชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง                             

.
             2.2 ด้านราคาต้นทุนสินค้าและสภาพคล่อง 

                 (1) ช่วยเหลือผู้ส่งออกอย่างเร่งด่วนในเรื่องภาษีวัตถุดิบของสินค้าที่นำเข้าเพื่อการส่งออก 
               ..(2) เพิ่มสภาพคล่องทางการเงินให้ผู้ส่งออกโดยเพิ่มการให้สินเชื่อเพื่อการส่งออกผ่าน Exim Bank วงเงิน 10,000 ล้านบาท                            

.

               ..(3) หาวงเงินช่วยประกันการส่งออก โดยผ่าน Exim Bank โดยจัดตั้งกองทุนประกันการส่งออกเพื่อป้องกันความเสี่ยงด้านการชำระเงินจากผู้ซื้อหรือธนาคารผู้ซื้อในต่างประเทศ วงเงิน 5,000 ล้านบาท
                .(4) แก้ไขปัญหาแรงงาน ตลอดจนเพิ่มทักษะอาชีพให้กับบางกลุ่มอุตสาหกรรมร่วมกับกระทรวงที่เกี่ยวข้อง 

.

              ..(5) ดูแลและวางแผนเรื่องการตลาดสำหรับสินค้าเกษตรเพื่อหาทางผลักดันเข้าสู่ระบบ (Contract Faming) โดยร่วมมือกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 
               .(6) การลดต้นทุนด้าน Logistic ให้เหมาะสมและไม่ทำให้ผู้ส่งออกมีต้นทุนที่สูงเกินจริง โดยการประสานกับภาคเอกชน 

.
            2.3 ด้านการตลาด 

              (1) รักษาตลาดเก่าให้เข้มแข็ง โดยภาครัฐช่วยผู้ส่งออกสร้างความสัมพันธ์กับกลุ่มลูกค้าเป้าหมายด้วยวิธี CRM (Customer Relation Management) ภายใต้โครงการ Thailand Best Friend
                (2) สร้างความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจกับกลุ่มลูกค้าเดิม จัด Road Show ไปในตลาดเป้าหมาย โดยร่วมมือกับหน่วยงานอื่น ได้แก่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยและสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน เป็นต้น                                                        

.

                (3) เร่งขยายการส่งออกไปตลาดใหม่ โดยการจัด Road Show ในตลาดต่างประเทศที่มีศักยภาพในโครงการ New Market for Exporter (NME) และการเร่งรัดการนำคณะผู้แทนการค้าไปเจรจาการค้าในตลาดใหม่ตลอดจนเร่งเจรจากรอบการค้า ASEAN SUMMIT + 6
                (4) สร้างเครือข่ายในต่างประเทศเพิ่มขึ้นจากเดิมมีสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ 66 แห่ง สร้างเครือข่ายเพิ่มภายใน 3 ปี อีก 50 แห่งทั่วโลก 

.

            2.4 ด้านการสื่อสารและสร้างภาพลักษณ์ให้กับสินค้าไทยประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์สินค้าไทยให้เป็นสินค้าที่มีคุณภาพ 
           .2.5 มาตรการเสริมสำหรับปัญหาเรื่องขาดคำสั่งซื้อ Order ชั่วคราว ได้แก่ การจัดจำหน่ายสินค้าไทย ภายใต้โครงการ "ไทย ใช้ของไทย ฝ่าวิกฤติโลก" และการจัดงาน Made in Thailand ที่ส่วนกลางและส่วนภูมิภาค 

.

3. เมื่อพิจารณาปัจจัยทั้งภายนอกและภายในประเทศประกอบกับการดำเนินมาตรการเร่งด่วนเพื่อกระตุ้นการส่งออกปี 2552 คาดว่าจะสามารถผลักดันให้มูลค่าการส่งออกสินค้าในปี 2552 เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 0-3 เป็นมูลค่าประมาณ 177,841-183,177 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และธุรกิจบริการ 12 สาขา ที่ได้รับการส่งเสริมจะสามารถทำรายได้เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 10 จากมูลค่า 998,628 ล้านบาท เป็น 1,100,000 ล้านบาท

.

โดยมีสมมติฐานที่สำคัญ ได้แก่ ประเทศต่างๆ ประสบความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจและการเงินในประเทศ ค่าเงินบาทมีเสถียรภาพและมีค่าอยู่ในระดับเฉลี่ยประมาณ 35 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกยังอยู่ในระดับต่ำ ราคาเฉลี่ยประมาณ 50 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล