เนื้อหาวันที่ : 2009-04-08 10:37:34 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2798 views

วัดปงสนุก มรดกแห่งเขลางค์นคร

เวียงเมืองหรือเมืองเขลางค์นครเก่าตั้งอยู่ในบริเวณตำบลเวียงเหนือ อำเภอเมืองปัจจุบัน ฝั่งเหนือของแม่น้ำวัง มีการพัฒนามาแล้วตั้งแต่สมัยอาณาจักรหริภุญไชยยังดำรงอยู่

ลุงคิด http://kitphoto.multiply.com

 

หากเอ่ยถึงชื่อจังหวัดลำปาง คนทั่วไปมักเข้าใจว่าลำปางเป็นเพียงเมืองเล็กๆ ทางผ่านเพื่อขึ้นไปยังจังหวัดเชียงใหม่และเชียงราย มีพระธาตุลำปางหลวงเป็นของคู่บ้านคู่เมืองและมีชื่อเสียงในการผลิตสินค้าเซรามิคอย่างชามตราไก่เท่านั้น น้อยคนนักจะทราบว่าเมืองลำปางเป็นเมืองโบราณเก่าแก่ในจังหวัดทางภาคเหนือ จากหลักฐานทางโบราณคดีพบว่ามีชุมชนอาศัยอยู่ในพื้นที่ของนครลำปางมากว่า 3,000 ปีล่วงมาแล้ว มีการค้นพบภาพเขียนสีและโครงกระดูกมนุษย์โบราณ ตลอดจนชิ้นส่วนภาชนะดินเผาในสมัยหริภุญไชย  

 

และชิ้นส่วนเครื่องถ้วยสันกำแพง เวียงเมืองหรือเมืองเขลางค์นครเก่าตั้งอยู่ในบริเวณตำบลเวียงเหนือ อำเภอเมืองปัจจุบัน ฝั่งเหนือของแม่น้ำวัง มีการพัฒนามาแล้วตั้งแต่สมัยอาณาจักรหริภุญไชยยังดำรงอยู่ เวียง คือ เมืองที่มีการกำหนดเขตรั้วรอบขอบชิด โดยการขุดคูน้ำและกำแพงดินล้อมรอบ เมืองเขลางค์นครนี้มีฐานะเป็นเมืองหลวงคู่แฝดของอาณาจักรหริภุญไชย มีพระเจ้าอนันตยศหนึ่งในพระราชโอรสแฝดของพระนางจามเทวีผู้ครองอาณาจักรหริภุญไชยเคยเสด็จมาปกครองนครแห่งนี้

 

วัดปงสนุกเหนือเป็นวัดโบราณวัดหนึ่งในลำปาง สันนิษฐานว่าสร้างร่วมสมัย พระเจ้าอนันตยศเสร็จมาทรงสร้างเมืองเขลางค์นคร เมื่อ พ.ศ. 1223 วัดปงสนุก เดิมมีชื่อเรียกอยู่หลายชื่อ ตามหลักฐานในจารึกที่พบในที่ต่างๆ มีอยู่ 4 ชื่อ คือ วัดศรีจอมไคล วัดศรีเชียงภูมิ วัดดอนแก้ว วัดพะยาว(พะเยา) ชุมชนเดิมบริเวณวัดปงสนุกเป็นผู้คนที่อพยพมาจาก 2 ที่ด้วยกัน คือจากการกวาดต้อนครั้งที่ลำปางไปรบกับเมืองเชียงแสน ราว พ.ศ. 2364

 

และจากเมืองพะเยาเมื่อชาวเมืองคราวหนีศึกพม่า ด้วยเหตุนี้ชาวเมืองเชียงแสนและเมืองพะเยา แม้เมื่อมาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่ใหม่ ก็ยังรำลึกถึงบ้านเกิดเมืองนอนเดิม จึงได้เอานามชื่อวัดและชื่อบ้านมาเรียก โดยชาวพะเยาก็เรียกวัดพะยาว(พะเยา) ชาวเชียงแสนก็เรียกวัดปงสนุก ซึ่งเป็นชื่อบ้านเดิมของตนในเชียงแสน ซึ่งปัจจุบันวัดปงสนุก ใน อ.เชียงแสน ก็ยังมีอยู่

 

 

ปัจจุบันวัด ปงสนุก แยกเป็น 2 วัด ทั้งที่อาณาเขตก็ไม่กว้างขวางเท่าใด คือ วัดปงสนุกเหนือ และวัดปงสนุกใต้ สาเหตุที่แยกเนื่องมาจากพระสงฆ์ สามเณร ในอดีต มีจำนวนมาก จึงแบ่งกันช่วยดูแลรักษาวัด แต่ถึงอย่างไรทั้งสองวัดก็นับถือกันว่าเป็นวัดพี่วัดน้องอาศัยช่วยเหลือกัน มาโดยตลอด

 

วัดปงสนุกในอดีตถือว่าเป็นวัดที่มีสำคัญและมีประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวพันกับ เมืองลำปาง อาทิ เป็นสถานที่ดำน้ำชิงเมืองบริเวณหน้าวัดระหว่างเจ้าฟ้าชายแก้วและเจ้าลิ้นก่าน ราวปี พ.ศ. 2302 และยังเป็นสถานที่ฝังเสาอินทขิลหรือเสาหลักเมือง หลักแรก เมื่อ พ.ศ. 2400 สมัยเจ้าหลวงเจ้าวรญาณรังษีราชธรรม เสาหลักเมืองดังกล่าว ถูกย้ายไปฝังไว้ที่ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองในปัจจุบัน

 

สิ่งที่แปลกแตกต่างไปจากวัดทั่วๆ ไป ของวัดปงสนุก คือ ม่อนดอย เนินเขาพระสุเมรุจำลอง อันเป็นที่ตั้งของวิหารพระเจ้าพันองค์ สร้างด้วยไม้ในลักษณะมณฑปหลังคาซ้อนสามชั้น บนสันหลังคาเหนือมุขทั้งสี่สร้างปราสาทไม้จำลองขนาดเล็กหุ้มด้วยสังกะสีฉลุลาย สื่อความหมายถึงทวีปทั้งสี่รอบเขาพระสุเมรุ ลักษณะตัวอาคารผสมผสานระหว่างศิลปกรรมล้านนา พม่าและจีน หลงเหลือเพียงอยู่แห่งเดียวในประเทศไทย ห้องกลางวิหารประดิษฐานพระพุทธรูปสี่องค์หันพระพักตร์ออกสี่ทิศประทับนั่งใต้โพธิ์พฤกษ์ทำด้วยตะกั่ว

 

ด้านล่างของฐานชุกชีประดับลวดลายรูปช้าง นาค สิงห์ นกอินทรี มีความเชื่อสืบกันมาว่า วิหารหลังนี้สร้างโดยช่างเชียงแสน เลียนแบบหอคำเมืองเชียงเกี๋ยงในสิบสองปันนาประเทศจีน ซึ่งไม่หลงเหลืออยู่แล้วในปัจจุบัน ด้วยความงดงามของวิหารแห่งนี้ทำให้กลายเป็นแรงบันดาลในการสร้างสถาปัตยกรรม ในสมัยหลัง อาทิ หอคำ ไร่แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย และวิหารสี่ครูบา วัดเจดีย์หลวง จ.เชียงใหม่

 

ราวปี 2548 ที่ผ่านมา ทางชุมชนปงสนุกร่วมกับผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปะและโบราณคดี และนักวิชาการท้องถิ่น ได้หารือและร่วมกันก่อตั้งโครงการบูรณะวิหารพระจ้าพันองค์ขึ้น หลังจากนั้นทางวัดและชุมชนจึงตื่นตัวในการอนุรักษ์และรักษามรดกท้องถิ่นเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ ห้องแสดงศิลปวัตถุ วัดปงสนุก ได้รับการจัดตั้งด้านข้างวิหารพระเจ้าพันองค์ เป็นศาลาชั้นเดียวขนานไปกับกำแพงบนม่อนดอย จัดแสดงโบราณวัตถุดั้งเดิมของวัดราว 4-5 ชิ้น ได้แก่ อาสนา สัตตภัณฑ์ ขันดอก แผงพระไม้

 

 

 

การเกิดขึ้นของโครงการบูรณะวิหารพระเจ้าพันองค์ ทำให้ชาวบ้านเริ่มเข้ามาสนใจประวัติศาสตร์ท้องถิ่นของตนเองมากขึ้น นำมาซึ่งโครงการและกิจกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ โครงการปรับปรุงภูมิทัศน์วัดปงสนุกเหนือและใต้ โครงการค้นคว้าศึกษาคัมภีร์ใบลาน นิทรรศการภาพพระบฏตุงค่าวจาวเขลางค์ ที่จัดแสดงตุงค่าวอายุราว 100 ปี ที่ถูกค้นพบโดยบังเอิญในหอไตรของวัดระหว่างการทำงานบูรณะวิหาร เป็นตุงที่ทำด้วยผ้าเนื้อละเอียดและบางส่วนเป็นตุงกระดาษสาจำนวนหลายสิบชิ้น แต่ละชิ้นเขียนเรื่องราวเกี่ยวกับพระเวสสันดรชาดกด้วยลวดลายวิจิตรสวยงาม ในอดีตใช้ประกอบพิธีเทศน์มหาชาติของวัด

องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติหรือ ยูเนสโก(UNESCO) ได้ประกาศรางวัลเพื่อการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ประจำปี ค.ศ. 2008 ซึ่งวัดปงสนุกได้รับรางวัล Award of Merit หรือรางวัลแห่งคุณงามความดี หลังจากที่คณะสงฆ์วัดปงสนุกเหนือ เจ้าหน้าที่ข้าราชการ นักวิชาการ ช่างฝีมือล้านนา และชาวบ้านในท้องถิ่น ได้ร่วมแรงร่วมใจกันปฏิสังขรณ์โบราณสถานภายในวัด ภายใต้ความรู้ความเข้าใจในสถาปัตยกรรมแบบล้านนา จนฟื้นคืนสู่สภาพที่สมบูรณ์ดังเช่นในปัจจุบัน

วัดปงสนุกเหนือ ตั้งอยู่เลขที่ 478 ถนนปงสนุก ต.เวียงเหนือ อ.เมืองลำปาง จากศาลากลางจังหวัดข้ามแม่น้ำวังที่สะพานรัษฎาเลี้ยวซ้ายเข้าสู่ถนนปงสนุกตรงไปสัก 500 เมตร วัดจะอยู่ด้านขวามือ ชาวบ้านชุมชนปงสนุกพร้อมที่จะนำท่านเที่ยวชมและอธิบายให้ทราบถึงประวัติของวัด และโบราณวัตถุในวัดให้ทุกท่านที่ไปเยี่ยมเยือนได้รับทราบความเป็นมาครับ