การกระทรวงพลังงาน เผยส่งเสริมการแข่งขันด้านพลังงานอย่างเสรี ราคาน้ำมันไม่ต้องการให้รายใหญ่เข้ามาแทรกแซงจนรายย่อยต้องปิดตัว ส่วนค่าไฟฟ้าจะมีการรื้อโครงสร้างค่าไฟฐานใหม่ คาดค่าไฟจะลดลง แต่เอฟทีสะท้อนต้นทุนเชื้อเพลิงที่แท้จริง พร้อมย้ำต้องคำนึงถึงประสิทธิภาพการผลิตของ 3 การไฟฟ้า
สำนักข่าวไทยรายงานข่าวเกี่ยวกับนายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า นโยบายจะเดินหน้าส่งเสริมการแข่งขันในธุรกิจพลังงานอย่างเสรี โดยไม่ต้องการให้ใครเข้ามาแทรกแซงราคาน้ำมัน เพราะที่ผ่านมามีการแซงแทรงโดยบริษัทของรัฐ ทำให้ผู้ค้ารายย่อยต้องปิดตัวไปจำนวนมาก ส่วนเรื่องค่าไฟฟ้าจะมีการปรับสูตรโครงสร้างค่าไฟฟ้าฐานให้เป็นธรรมและเหมาะสม เพราะสูตรปัจจุบันให้ความสำคัญเรื่องผลตอบแทน กับ กฟผ.มากเกินไป ซึ่งจะทำให้ค่าไฟฟ้าฐานลดลง ส่วนเรื่องค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ หรือ เอฟที จะดูแลให้ปรับขึ้น-ลงตามต้นทุนเชื้อเพลิงที่แท้จริง ไม่ให้นำต้นทุนแฝงมารวม |
. |
ค่าไฟฟ้าจะต้องสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง โดยเป็นต้นทุนที่มาจากการทำงานที่มีประสิทธิภาพไม่ใช่การดำเนินงานที่ไม่มีประสิทธิภาพแล้วผ่านเข้ามารวมเป็นต้นทุนค่าไฟฟ้า กฟผ.ต้องบริหารจัดการเชื้อเพลิงให้ประหยัดที่สุด เช่น เมื่อราคาน้ำมันเตาสูงขึ้นก็ไม่ใช่จะต้องปรับค่าเอฟที แต่ควรหันไปใช้พลังงานอื่น ๆ เช่น ก๊าซธรรมชาติและพลังงานจากถ่านหิน หาก กฟผ.ไม่สามารถบริหารจัดการได้ก็ต้องรับภาระไป นายปิยสวัสดิ์ กล่าว |
. |
ส่วนเรื่อง ปตท. ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองนั้น คงต้องให้เป็นไปตามกระบวนการกฎหมาย แต่จะดำเนินการปรับปรุงร่างกฎหมายดูแล ปตท.ตามที่เคยประกาศไว้ก่อนการแปรรูป อาทิ การโอนอำนาจมหาชน และการโอนที่ดินจากการเวนคืน ไปให้บริษัท ปตท. ต้องปรับปรุงให้เหมาะสม โดยยืนยันว่าในช่วง 1 ปีจะไม่แปรรูป กฟผ.แน่นอน เพราะเห็นว่าการแปรรูปจะต้องมีกฎหมายกำกับกิจการพลังงาน และมีคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานเข้ามาดูแล |
. |
นายปิยสวัสดิ์ กล่าวถึงนโยบายการทำงานว่า ในรายละเอียดยังไม่สามารถชี้แจงได้ จะต้องหารือกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง อย่างไรก็ตาม สิ่งที่จะดำเนินการจะเป็นเรื่องที่สามารถทำได้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี ส่วนเรื่องใดที่ต้องใช้ระยะเวลาดำเนินการเกินกว่า 1 ปี เช่น แปรรูป กฟผ. ก็จะยังไม่ดำเนินการ อย่างไรก็ตาม มีหลายเรื่องที่จะต้องทำ เช่น การปรับโครงสร้างการกำกับดูแลโครงสร้างการบริหาร เพื่อไม่ให้มีประเด็นการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง สิ่งที่ควรจะดำเนินการ เช่น อำนาจมหาชนที่อยู่ในรัฐวิสาหกิจที่ผ่านการแปรรูปไปแล้ว เช่น ปตท. ก็จัดการเอาอำนาจเหล่านี้ไปอยู่ในองค์กรกำกับดูแล ซึ่งรัฐบาลที่ผ่านมาไม่ได้ทำ ในขณะที่เรื่องดังกล่าวควรดำเนินการตั้งแต่ 5 ปีที่แล้ว เพราะทำให้เกิดปัญหาฟ้องร้องต่อศาลปกครอง |
. |
นอกจากนี้ จะเร่งผลักดันการใช้พลังงานหมุนเวียนในประเทศที่เหลืออยู่ เนื่องจากที่ผ่านมามีเพียงนโยบายแต่ไม่ได้มีการปฏิบัติอย่างเพียงพอ มีการปฏิบัติเพียงบางเรื่อง เช่น เอทานอล และไบโอดีเซล ในขณะที่วัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร น้ำเสีย ขยะ ไม่ได้มีการสานต่อให้เดินหน้าเร็วเท่าที่ควร ทั้งนี้ การลงทุนของเอกชนด้านพลังงานก็มีเอกชนพร้อมที่จะลงทุนในพลังงานจากวัสดุทางการเกษตร และจากการที่นโยบายไม่เดินหน้าในทุกเรื่องทำให้ปัจจุบันโรงผลิตไฟฟ้าจากวัสดุเหลือใช้จากยางพาราไม่มีแม้แต่แห่งเดียวในประเทศไทย ทั้ง ๆ ที่มีวัสดุเหลือใช้อย่างยางพารา และรากยางพาราอยู่มาก |