ผลิตไฟฟ้าราชบุรี แถลงความสำเร็จด้านการจัดการน้ำของโรงไฟฟ้าราชบุรี ภายใต้แนวคิดการลดการระบายน้ำลงสู่คลองธรรมชาติ โดยเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการน้ำด้วยเทคโนโลยี Reverse Osmosis & Ultra Filter ปรับปรุงคุณภาพน้ำทิ้งกลับไปใช้ใหม่ในกระบวนการผลิต
โรงไฟฟ้าราชบุรี เพิ่มประสิทธิภาพการจัดการน้ำด้วยเทคโนโลยี Reverse Osmosis & Ultra Filter ปรับปรุงคุณภาพน้ำทิ้งกลับไปใช้ใหม่ในกระบวนการผลิต |
. |
บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรี จำกัด แถลงความสำเร็จด้านการจัดการน้ำของโรงไฟฟ้าราชบุรี ภายใต้แนวคิดการลดการระบายน้ำลงสู่คลองธรรมชาติ ล่าสุดบริษัทฯ ได้นำเทคโนโลยี Reverse Osmosis (RO) และ Ultra Filter (UF) มาทำงานร่วมกัน เพื่อใช้ปรับปรุงคุณภาพน้ำที่ใช้แล้วจากหอหล่อเย็นกลับไปหมุนเวียนใช้ใหม่ในกระบวนการผลิตไฟฟ้า |
. |
ในวันเดียวกัน บริษัทฯ ยังได้จัดพิธีเปิดอาคารปรับปรุงน้ำทิ้งกลับมาใช้ใหม่ (Cooling Water Reuse Plant: CWRP) มูลค่ากว่า 200 ล้านบาท โดยมีนายพรชัย รุจิประภา ปลัดกระทรวงพลังงาน ให้เกียรติเป็นประธาน ความสำเร็จดังกล่าวสะท้อนถึงเจตนารมณ์ด้านความรับผิดชอบต่อสังคมของบริษัท โดยเฉพาะการให้ความสำคัญกับการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม |
. |
นายประจวบ อุชชิน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรี จำกัด กล่าวว่า โครงการลดการระบายน้ำลงสู่คลองธรรมชาติเป็นแนวทางหนึ่งที่บริษัทริเริ่มขึ้นเพื่อใช้จัดการทรัพยากรน้ำของโรงไฟฟ้าให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งบริษัทได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2550 และมีความคืบหน้ามาเป็นลำดับ โดยเมื่อเดือนมีนาคม ที่ผ่านมา บริษัทได้เริ่มนำน้ำที่ใช้แล้วจากหอหล่อเย็นมาปรับปรุงคุณภาพด้วยเทคโนโลยี RO และUF เพื่อนำมาใช้ในกระบวนการผลิตของโรงไฟฟ้าราชบุรีใหม่ |
. |
ซึ่งช่วยให้บริษัทสามารถลดการใช้น้ำจากธรรมชาติ ลดการใช้สารเคมีในการบำบัดน้ำของกระบวนการผลิตน้ำตามปกติลงได้จำนวนหนึ่ง พร้อมทั้งช่วยลดปริมาณน้ำที่ต้องระบายออกสู่คลองธรรมชาติได้มากขึ้น การลงทุนครั้งนี้คาดว่าจะถึงจุดคุ้มทุนภายในระยะเวลา 10 ปี และบริษัทยังเชื่อมั่นว่า ชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อมจะได้รับประโยชน์จากโครงการนี้ตามที่บริษัทตั้งใจไว้ |
. |
ภายใต้การจัดการของระบบ Reverse Osmosis (RO) และ Ultra Filter (UF) นี้ น้ำจากระบบหล่อเย็นที่ผ่านการบำบัดในบ่อบำบัดน้ำด้วยวิธีการตกตะกอนและลดอุณหภูมิของน้ำลงให้มีสภาพใกล้เคียงกับอุณหภูมิของน้ำในธรรมชาติ จะถูกนำมาผ่านกระบวนการปรับปรุงคุณภาพด้วยเทคโนโลยี RO และUFและนำกลับไปใช้หมุนเวียนใหม่ในกระบวนการผลิต |
. |
ซึ่งจะทำให้โรงไฟฟ้าราชบุรีสามารถลดการใช้น้ำธรรมชาติในกระบวนการผลิตลงได้ 6% เมื่อเทียบกับปริมาณการใช้น้ำก่อนติดตั้งระบบ RO และUF ขณะเดียวกันปริมาณน้ำที่ต้องระบายลงสู่คลองธรรมชาติยังลดลงถึง 13% จากปริมาณน้ำที่ระบายสู่คลองธรรมชาติก่อนใช้ระบบ RO และUF นอกจากนี้ ยังช่วยให้บริษัทสามารถลดค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ของโรงไฟฟ้าราชบุรีได้อย่างมีนัยสำคัญ |
. |
ในด้านคุณภาพน้ำที่ผ่านกระบวนการปรับปรุงคุณภาพจากระบบ RO และUF ซึ่งตรวจวิเคราะห์โดยศูนย์ห้องปฏิบัติการกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข จัดอยู่ในระดับมาตรฐานของน้ำดื่ม ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 61 (พ.ศ. 2524) โดยโรงไฟฟ้าสามารถนำน้ำผ่านการปรับปรุงคุณภาพน้ำแบบระบบ RO และ UF มาใช้หมุนเวียนได้ใหม่แทนการปล่อยออกสู่สิ่งแวดล้อมภายนอก |
. |
เพราะน้ำที่ผ่านกระบวนการ RO และUF นั้นมีคุณภาพเทียบได้กับน้ำสำหรับอุปโภคและบริโภค ทั้งนี้ บริษัทอยู่ระหว่างพิจารณาความเหมาะสมที่จะให้ชุมชนรอบโรงไฟฟ้าได้ใช้ประโยชน์จากน้ำที่ผ่านกระบวนการ RO และUF ของโรงไฟฟ้าต่อไป |
. |
โครงการลดการระบายน้ำลงสู่คลองธรรมชาติของโรงไฟฟ้าราชบุรี เป็นโครงการต่อเนื่องที่เริ่มดำเนินการเมื่อปี 2550 ประกอบด้วยโครงการย่อย 3 โครงการ คือ 1) โครงการลดการระบายน้ำด้วยวิถีธรรมชาติโดยใช้พื้นที่ 350 ไร่ 2) โครงการเพิ่มระบบรดน้ำต้นไม้ในโรงไฟฟ้า และ 3) โครงการนำน้ำกลับมาใช้ใหม่ในกระบวนการผลิตโดยใช้เทคโนโลยี Reverse Osmosis และ Ultra Filter |
. |
ผลจากการดำเนินโครงการดังกล่าว น้ำใช้แล้วในกระบวนการผลิตที่ผ่านการปรับปรุงคุณภาพด้วยระบบบำบัดน้ำของโรงไฟฟ้าจนอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพน้ำทิ้งตามกฎหมาย จะถูกนำมาใช้เพื่อรดน้ำต้นไม้ประมาณ 26% ใช้ในโครงการวิถีธรรมชาติประมาณ 18% อีก 13% จะถูกนำไปปรับปรุงคุณภาพเพื่อใช้ในกระบวนการผลิตใหม่ด้วยระบบ RO และUF และส่วนที่เหลือ 43% จะระบายสู่คลองธรรมชาติ |