เนื้อหาวันที่ : 2009-04-02 11:14:33 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2772 views

นิปปอนเพนด์ วางระบบบริหารคลังสินค้าด้วยระบบบาร์โค้ด

เป็นเวลากว่า 3 ทศวรรษที่นิปปอนเพนต์ ประเทศไทย ได้นำประสบการณ์ อันเชี่ยวชาญมาสร้างสรรค์ความงดงามแห่งสีสันและคุ้มครองความสดใสให้คงคู่กับบ้านเรือนของไทย วันนี้ได้ก้าวไปอีกขั้นด้วยการพัฒนาระบบบริหารคลังสินค้าเพื่อส่งผลิตภัณฑ์สีถือมือลูกค้าได้รวดเร็ว ถูกต้องและแม่นยำด้วยระบบบาร์โค้ด ของอินเตอร์เมค

                                                                                  

ทีมพัฒนาระบบไอที บริษัท นิปปอนเพนต์ (ประเทศไทย) จำกัด

.

เป็นเวลากว่า 3 ทศวรรษแล้วที่บริษัท นิปปอนเพนต์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้นำประสบการณ์      อันเชี่ยวชาญมาสร้างสรรค์ความงดงามแห่งสีสันและคุ้มครองความสดใสให้คงคู่กับบ้านเรือนของไทย         นิปปอนเพนต์มีผลิตภัณฑ์สีที่หลากหลาย ตอบรับกับการใช้งานได้ดี ตั้งแต่สถาปัตยกรรมขนาดใหญ่          สีพ่นเคลือบในวงการอุตสาหกรรมรถยนต์ มอเตอร์ไซต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เรือ งานซ่อมรถ เฟอร์นิเจอร์ คอมพิวเตอร์ ตลอดจนถึงอุตสาหกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องกันในด้านเทคโนโลยี 

.

บริษัท นิปปอนเพนต์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากบริษัท นิปปอนเพนต์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทแม่ในประเทศญี่ปุ่นที่มีเทคโนโลยีขั้นสูง นอกจากนั้นแล้วยังร่วมมือด้านเครือข่ายการตลาดภายใต้ NIPSEA GROUP (Nippon Paint South-East Asia) 

.

เมื่อเร็วๆ นี้  บริษัท นิปปอนเพนต์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้พัฒนาการบริหารจัดการคลังสินค้า ด้วยการจัดทำโครงการระบบบาร์โค้ดมาใช้สำหรับงานบริหารคลังสินค้าสำเร็จรูป (Finished Goods Warehouse) ซึ่งมีทั้งหมด 7 โกดัง ใน 2 โรงงาน คือที่จังหวัดสมุทรปราการ และจังหวัดชลบุรี (นิคมอมตะนคร) 

.

ระบบบาร์โค้ดดังกลาวจะช่วยบริหารจัดเก็บสินค้า นำสินค้าออกจากคลังเก็บสินค้าเพื่อส่งต่อไปยังลูกค้า รวมทั้งการบริหารจัดการภายในคลัง และการตรวจสอบปริมาณสินค้าคงคลัง แบบออนไลน์ และเรียลไทม์จากหน้าชั้นวางสินค้า(Rack)ในแต่ละวันที่มีเป็นจำนวนมากผ่านเข้า-ออก  สินค้าที่ผ่านเข้า-ออกมีปริมาณหลายกลุ่ม แต่ละกลุ่มจะประกอบไปด้วยเฉดสีต่างๆ

.

โดยระบบดังกล่าวสามารถทดแทนขั้นตอนการบันทึกข้อมูลของพนักงาน จึงช่วยเพิ่มความรวดเร็วในการทำงานและป้องกันความผิดพลาดที่เกิดจากการบันทึกข้อมูลอีกทั้งยังสามารถช่วยจัดการในเรื่องคุณภาพของสินค้าให้จ่ายสินค้าตรงความเป็นจริง แบบ FIFO (First In First Out) เพราะสินค้าของบริษัทฯ เป็นกลุ่มเคมีคอล ซึ่งมีอายุ และระยะเวลาการใช้งาน

.

 คลังสินค้าของนิปปอนเพนต์

.

รวมถึงยังนำไปใช้ในการบริหารจัดการคลังสินค้าคืน (Good Return Store) เพื่อคัดแยกประเภทสินค้า และการทำรายการ ซึ่งเป็นสินค้าที่มีการคืนจากลูกค้าเพื่อการแลกเปลี่ยน การบริหารระบบบาร์โค้ดดังกล่าว ใช้ผ่านเครื่อง Intermec Mobile Computer model 730 และ 730 i-Safe จำนวน 25 เครื่อง

.

นิปปอนเพนต์ ใช้เวลาการพัฒนาและติดตั้งระบบบาร์โค้ดทั้งหมด 7 เดือน (มกราคม  –  กรกฎาคม2550) โดยใช้งานร่วมกับระบบ SAP Warehouse Management  มีการบันทึกข้อมูลในระบบของ SAP ทุกครั้งเมื่อมีการเคลื่อนย้านสินค้า   โดยระบบเดิมพนักงานจะใช้การบันทึกบนกระดาษแบบฟอร์ม

.

จากนั้นก็นำไปบันทึกยังสำนักงานเพื่อนำข้อมูลที่จดมาบันทึกเข้าระบบ SAP Warehouse Management ซึ่งมีหลายขั้นตอน ทำให้มีโอกาสผิดพลาดจากการบันทึกข้อมูลเข้าระบบ และหากต้องการตรวจสอบข้อมูลสินค้า ณ เวลาปัจจุบัน ก็ไม่สามารถทำได้  เนื่องจากข้อมูลไม่อัพเดท จนกว่าพนักงานจะมาบันทึกเข้าระบบ

.

หลังจากที่มีการนำระบบบาร์โค้ดมาใช้แล้ว ช่วยให้การทำงานง่ายขึ้น เพราะได้ลดขั้นตอนในระบบ SAP Warehouse Management ให้สั้นลงโดยให้โปรแกรมทำงานอัตโนมัติในบางขั้นตอนที่ไม่จำเป็น อีกทั้งพนักงานยังสามารถทำงานบันทึกข้อมูลสินค้าต่างๆ ได้จากหน้าชั้นวางสินค้าแบบออนไลน์ ไม่ต้องเขียนบันทึกที่กระดาษ แล้วนำมาบันทึกเข้าสู่ระบบ SAP Warehouse Management อีกครั้งหนึ่ง 

.

เมื่อใช้ Intermec Mobile Computer model 730 และ 730 i-Safe ข้อมูลจะถูกบันทึกเข้าระบบ Warehouse Management ของ SAP โดยอัตโนมัติ  ทำให้ช่วยลดความผิดพลาดที่เกิดจากการคีย์ข้อมูลเข้าระบบของพนักงาน และสามารถเช็คข้อมูลอัพเดทล่าสุดได้ ณ เวลาปัจจุบัน  รวมถึงช่วยในแง่ของการจ่ายสินค้าออกไปให้ลูกค้าแต่ละราย ที่สามารถสแกนบิลเพื่อยืนยัน การออกอินวอยซ์ให้กับลูกค้าได้เลย

.

หากมีการปรับเปลี่ยนตำแหน่ง โยกย้ายสินค้าภายในคลังสินค้า สามารถทราบได้ทันทีว่าสินค้าชนิดไหน เก็บไว้ที่ใด มีจำนวนเท่าไร สามารถเช็คได้ว่า ภายในคลังสินค้ามีพื้นที่ในการจัดเก็บเหลืออีกเท่าไร อีกทั้งยังสามารถช่วยจัดการในเรื่องคุณภาพของสินค้า การจ่ายสินค้าออกตรงความเป็นจริง แบบ FIFO (First In First Out) เพราะสินค้าจัดอยู่ในประเภทเคมีภัณฑ์ ซึ่งมีอายุการใช้งาน รวมไปถึงช่วยลดเวลาการตรวจสอบสต็อกสินค้าในแต่ละช่วงของไตรมาสอีกด้วย

.

การใช้อุปกรณ์อินเตอร์เมคในคลังสินค้า

.

นายสุรินทร์ เปรมชื่น ผู้จัดการฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ บริษัท นิปปอนเพน์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวถึงสาเหตุที่เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ของอินเตอร์เมคว่า เราเลือกใช้ Intermec Mobile Computer model 730 และ 730 i-Safe โดยเฉพาะ Intermec 730i – Safe ซึ่งออกแบบมาสำหรับคลังสินค้าในอุตสาหกรรมเฉพาะที่เกี่ยวกับเคมีภัณฑ์ที่มีความเสี่ยงโดยเฉพาะ และมีคุณสมบัติตรงตามที่เราต้องการ อุปกรณ์ดังกล่าวจึงเหมาะสมเป็นอย่างมาก

.

หลังจากใช้ระบบบาร์โค้ดดังกล่าวแล้วพบว่า ช่วยให้ทำงานเร็วเพิ่มขึ้น 70%  ลดความผิดพลาดของข้อมูลที่เกิดจากการคีย์ข้อมูลเข้าระบบของพนักงานได้เกือบ 100% ข้อมูลมีความถูกต้องแม่นยำมากขึ้น สามารถทราบรายละเอียดของสินค้าแต่ละกลุ่มได้ว่าถูกเก็บอยู่ที่ใด มีจำนวนเหลือในสต็อกเท่าไร มีพื้นที่การจัดเก็บที่เหลือในแวร์เฮ้าส์มากน้อยเพียงใด  

.

อีกทั้งยังช่วยให้พนักงานทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นโดยการเพิ่มความเข้มในการบริการจัดการ ตรวจสอบ สินค้าให้ได้คุณภาพที่ดีก่อนจะส่งถึงมือลูกค้า และที่สำคัญที่สุดคือ เปลี่ยนระบบการทำงาน จาก Office Operating ที่หลังจากเช็คสต็อกสินค้าแล้วต้องไปคีย์ข้อมูลเพื่อบันทึกใส่ระบบในออฟฟิศ มาเป็น On-Site Operation ที่สามารถบันทึกข้อมูลเข้าระบบอัตโนมัติจากหน้าไซต์งานได้ทันที

.

หลังจากที่โครงการระบบบาร์โค้ด สำหรับงานบริหารคลังสินค้าสำเร็จรูปของนิปปอนเพนต์ ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีแล้ว นายสุรินทร์ กล่าวว่า ในอนาคตมองว่า จะมีการขยายต่อไปในส่วนของคลังสินค้าเก็บวัตถุดิบ และคลังสินค้าที่อยู่ระหว่างการผลิตด้วย ซึ่งอาจนำระบบอาร์เอฟไอดีมาใช้แทนบางส่วน 

.

โดยเฉพาะในส่วนของคลังสินค้าที่อยู่ระหว่างการผลิต เพื่อใช้ติดตามสินค้าในไลน์การผลิต โดยใช้อาร์เอฟไอดีในการติดตาม สินค้าที่อยู่ในไลน์การผลิต กำลังผลิตอยู่ขบวนการใด  กลุ่มงานใด และใช้เครื่องจักรตัวไหน  แต่ละขั้นตอนใช้เวลาเท่าไร ใส่ส่วนผสมอะไรลงไปบ้าง การยืนยันว่าสินค้าเสร็จแล้ว (goods receive) และผลการตรวจสอบคุณภาพเป็นอย่างไร เพื่อคำนวณต้นทุนว่าใช้ทรัพยากรทั้งเวลา สี เครื่องจักร และแรงงานคน

.