เนื้อหาวันที่ : 2009-04-02 10:45:20 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1766 views

สายด่วนแจ้งเหตุเว็บไม่เหมาะสม

สำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เปิดตัว สายด่วนแจ้งเหตุเว็บไม่เหมาะสม ไทยฮอตไลน์ และ การสัมมนาเรื่อง การปกป้องเด็กบนโลกออนไลน์ ด้วยจุดมุ่งหมายในการปกป้องสังคมจากเนื้อหาที่เป็นอันตราย

เมื่อบ่ายวันที่ 1 เมษายน 2552 ณ ห้องประชุม สำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ได้มีงานแถลงข่าวเปิดตัว สายด่วนแจ้งเหตุเว็บไม่เหมาะสม ไทยฮอตไลน์ ( www.thaihotline.org ) และ การสัมมนาเรื่อง การปกป้องเด็กบนโลกออนไลน์                                                                                                             

.

"ในยุคของการหลอมรวมทางเทคโนโลยี เนื้อหาดิจิตอลบนโลกออนไลน์เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ในขณะเดียวกัน การเผยแพร่เนื้อหาที่เป็นอันตราย ผิดกฎหมาย ก็มีมากขึ้นตามไปด้วย แม้จะมีกฎหมายหลายฉบับที่ใช้ในการกำกับดูแล แต่ก็ยังขาดการตีความที่ชัดเจนว่าเนื้อหาแบบใดเข้าข่ายไม่เหมาะสมหรือต้องห้าม

.

การที่ภาคเอกชนจะร่วมกันแก้ปัญหาการนำข้อมูลที่เป็นอันตรายเข้าสู่ระบบ ผ่านกลไกการรับแจ้งและประสานงานระหว่างสมาชิกในลักษณะของสายด่วนหรือฮอตไลน์แจ้งเหตุเว็บไม่เหมาะสม ถือว่าเป็นเรื่องดีที่ควรสนับสนุน" เป็นคำกล่าวของ พลเอก ชูชาติ พรหมพระสิทธิ์ ประธาน กทช. ในพิธีเปิดงาน 

.

เว็บไซต์ไทยฮอตไลน์ ถือกำเนิดขึ้นด้วยความร่วมมือของสมาคมผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตและมูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย ด้วยจุดมุ่งหมายในการปกป้องสังคมจากเนื้อหาที่เป็นอันตราย โดยจัดให้มีช่องทางรับแจ้งเนื้อหาไม่เหมาะสมทางเว็บไซต์ จัดเจ้าหน้าที่ตรวจตรา และประสานงานกับองค์กรสมาชิกเพื่อระงับข้อมูลที่เป็นปัญหาก่อนที่จะขยายตัวไปสู่วงกว้าง 

.

ศ.ดร. ไพรัช ธัชยพงษ์ ประธานมูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย กล่าวว่า "เราได้เปิดเว็บไซต์ชื่อ ไทยฮอตไลน์ ( www.thaihotline.org ) รับแจ้งเนื้อหาไม่เหมาะสมจากประชาชน มาเป็นระยะเวลาร่วม 5 เดือน แล้ว จนถึงปัจจุบัน รับเรื่องร้องเรียนและตรวจสอบมากกว่า 324 รายการ แบ่งเนื้อหาที่ได้รับแจ้งเป็นกลุ่มใหญ่ๆ ได้ดังนี้

.

สื่อลามกอนาจาร 122 รายการ (ภาพและคลิปลามก ขายวีซีดีและอุปกรณ์ทางเพศ เรื่องเล่า/เว็บบอร์ด/เกมลามก)  การพนัน 55 รายการ (ส่วนใหญ่เป็นเว็บพนันบอล มีเว็บเกมพนันอื่นๆ บ้าง)  เว็บไซต์หมิ่นประมาท หมิ่นสถาบัน 35 รายการ (หมิ่นบุคคล หมิ่นสถาบัน วิจารณ์การเมือง)    ละเมิดสิทธิส่วนบุคคล 5 รายการ (คลิปหลุด แอบถ่าย ภาพหรือคลิปการละเมิดบางส่วนไปปรากฏอยู่ในกลุ่มสื่อลามกอนาจารด้วย) ขัดต่อศีลธรรม 28 รายการ (ขายบริการทางเพศ ทำแท้ง ภาพไม่เหมาะสม) 

.

เป็นอันตรายต่อสังคมและความมั่นคงของประเทศ 64 รายการ (วิจารณ์การเมือง สถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ภาพไม่เหมาะสม ขายยาสลบ ยาปลุกเซ็กซ์ ยานอนหลับ เครื่องโคลนซิมการ์ด เป็นต้น)   สแปมเมล์ 10 รายการ (ขายสินค้า เชิญชวนหาสมาชิก นัดเดท)   อื่นๆ 5 รายการ (ปลอมแปลงข้อมูล ขายรายชื่ออีเมลและโปรแกรมทำสแปม เว็บจับคู่ ให้โหลด mp3) 

.

ซึ่งไทยฮอตไลน์ได้ประสานงานกับผู้ดูแลข้อมูลโดยตรงเพื่อถอดเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมออกรวม 54 รายการ ประสานเจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินการกับเว็บไซต์ที่ผิดกฎหมาย 182 รายการ แจ้งผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตพิจารณา 

.

ดำเนินการตามความเหมาะสม 56 รายการ ไม่ได้ดำเนินการใดๆ เนื่องจากข้อมูลการแจ้งไม่สมบูรณ์หรือเป็นกรณีที่ไม่เข้าข่ายต้องดำเนินการใดๆ รวม 32 รายการ ในจำนวนนี้ส่วนใหญ่เป็นเว็บไซต์ที่ตั้งอยู่ในต่างประเทศ ซึ่งยากแก่การจัดการ" 

.

ศ.ดร.ไพรัช กล่าวเสริมว่า ไทยฮอตไลน์ทำงานตามมาตรฐานฮอตไลน์สากลที่ได้รับการยอมรับทั่วโลก โดยให้ความสำคัญกับการปกป้องเด็กจากการถูกแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ ไม่ว่าจะเป็น สื่อลามกเด็ก การล่อลวง ละเมิด ทำร้ายเด็ก การค้าประเวณีเด็ก และการค้ามนุษย์ ข้อมูลส่วนตัวและการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล ยาเสพติด และ การก่อการร้าย 

.

ในขณะเดียวกันก็ร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ตำรวจและผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตในการจัดการกับเนื้อหาที่ผิดกฎหมายของประเทศ และเนื้อหาอื่นๆ ที่มีความเปราะบางต่อสังคมไทยด้วย 

.

"เนื่องจากกรอบการพิจารณาเนื้อหาที่ปรากฎอยู่บนสื่อออนไลน์ในปัจจุบันนั้นยังขาดความชัดเจนว่าเนื้อหาอย่างไรที่เรียกว่าไม่เหมาะสม หรือฝ่าฝืนต่อกฎหมายซึ่งส่งผลกระทบทางสังคมและความมั่นคงของประเทศ เช่น เนื้อหาที่อาจเข้าข่ายหมิ่น ข้อมูลอันขัดต่อศีลธรรมอันดีงามของประชาชน    

.

ไทยฮอตไลน์จึงมุ่งเน้นไปที่การเก็บรวบรวมสถิติเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมต่างๆ ที่ได้รับแจ้ง แล้วส่งต่อไปยังเนคเทคเพื่อใช้ในการศึกษาวิจัยเรื่องการกำหนดกรอบเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมอันส่งผลกระทบต่อสังคมและความมั่นคงของประเทศอย่างชัดเจน เพื่อผลักดันมาตรการในการลดหรือหยุดความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว" ศ.ดร.ไพรัช กล่าว 

.

ดร.ชฎามาศ ธุวะเศรษฐกุล รองผู้อำนวยการ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ หรือ เนคเทค กล่าวถึงงานวิจัยที่จะสนับสนุนงานของไทยฮอตไลน์ว่า ในอนาคต จะต้องศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมที่ปรากฎบนสื่อออนไลน์จากมุมมองของหน่วยงาน องค์กร หรือสมาคมที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคเอกชนสาขาต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง      

.

เช่น สายเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สายสื่อสารมวลชน สายอุตสาหกรรมบันเทิง (เพลง ภาพยนตร์ โทรทัศน์ เกม แอนิเมชั่น) สายคุ้มครองเด็กและเยาวชน สายองค์กรไม่แสวงหากำไร (NGOs) สายคุ้มครองผู้บริโภค สายด้านความมั่นคง และสายกระบวนการยุติธรรม โดยข้อมูลที่ได้จะนำมาจัดทำเป็นกรอบในการพิจารณาเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม 

.

รวมทั้งการพัฒนามาตรการทางเทคโนโลยีในการกรองข้อมูลซึ่งเป็นการกรองเฉพาะบางหน้าเว็บ โดยไม่มีการบล็อกทั้งเว็บไซต์ ทั้งนี้เพื่อส่งเสริมให้การให้บริการของผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตมีความเข็มแข็งมากยิ่งขึ้น ซึ่งงานทั้ง 3 ส่วน คือ ฮอตไลน์ การวิจัยเรื่องกรอบเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม และการวิจัยพัฒนามาตรการบล็อกหน้าไม่บล็อกทั้งเว็บไซต์ อยู่ภายใต้โครงการวิจัยเดียวกัน 

.

นางสาวกฤษณา พิมลแสงสุริยา เจ้าหน้าที่ประจำภูมิภาคแปซิฟิคและเอเชียตะวันออก มูลนิธิเพื่อยุติการแสวงหาประโยชน์ทางเพศจากเด็ก หรือ เอ็คแพท อินเตอร์เนชั่นแนล (ECPAT International) เชื่อมั่นว่า เด็กควรได้รับการปกป้องจากการละเมิดทางเพศในทุกรูปแบบที่เกิดขึ้นออนไลน์ ซึ่งฮอตไลน์เป็นวิธีการที่สำคัญ 

.

เนื่องจากเป็นวิธีหนึ่งที่สร้างและเปิดโอกาสให้สาธารณชนมีส่วนร่วมในการรายงานเว็บไซต์ที่ไม่เหมาะสม เอ็คแพทคาดหวังการทำงานอย่างใกล้ชิดกับไทยฮอตไลน์ โดยการแลกเปลี่ยนแนวคิดและประสบการณ์การดำเนินงานของเอ็คแพทในระดับสากล เพื่อร่วมกันสร้างความเข็มแข็งในการปกป้องเด็ก 

.

นางอัญญาอร พานิชพึ่งรัถ หัวหน้าเครือข่ายครอบครัวเฝ้าระวังสื่อ มูลนิธิเครือข่ายครอบครัว กล่าวว่า ผู้ปกครองส่วนใหญ่มีความกังวลใจเรื่องการใช้อินเทอร์เน็ตของบุตรหลาน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเว็บไซต์ที่มีความไม่เหมาะสมเรื่องเพศ ความรุนแรง หรือการขายสินค้าที่ไม่เหมาะสม ดังนั้น ความร่วมมือหรือมาตรการใดๆ ที่เกิดขึ้นเพื่อการปกป้องเด็กถือเป็นเรื่องที่ดีและจำเป็นต้องมี ตนและเครือข่ายครอบครัวยินดีทำงานร่วมกับไทยฮอตไลน์ ทั้งยังจะช่วยผลักดันให้เกิดการทำงานอย่างเป็นระบบระหว่างทุกๆ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีกด้วย