เนื้อหาวันที่ : 2009-04-01 14:33:46 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2188 views

ยอดขายรถยนต์ในญี่ปุ่นเดือนมี.ค.ร่วง หลังศก.ถดถอยฉุดดีมานด์หดตัว

ยอดขายรถยนต์ในญี่ปุ่นประจำเดือนมี.ค.ดิ่งลง 32% โตโยต้า นิสสัน ร่วงลงหนักสุด เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยรุนแรงส่งผลให้ดีมานด์รถยนต์ภายในประเทศหดตัวลง

สมาคมนายหน้าค้ารถยนต์ของญี่ปุ่นรายงานในวันนี้ว่า ยอดขายรถยนต์ในญี่ปุ่นประจำเดือนมี.ค.ดิ่งลง 32% โดยยอดขายจากค่ายโตโยต้า มอเตอร์ และนิสสัน มอเตอร์ ร่วงลงหนักสุด เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยรุนแรงส่งผลให้ดีมานด์รถยนต์ภายในประเทศหดตัวลง                                             

.

สมาคมระบุว่า ยอดขายรถยนต์ในญี่ปุ่นซึ่งไม่นับรวมมินิคาร์ ร่วงลงแตะระดับ 323,063 คันในเดือนมี.ค. โดยยอดขายจากค่ายโตโยต้าดิ่งลง 32% เหลือเพียง 135,700 คัน และยอดขายจากค่ายนิสสัน ลดลง 34% แตะระดับ 59,292 คัน ส่วนยอดขายของฮอนด้าซึ่งไม่นับรวมมินิคาร์ดิ่งลง 25% แตะที่ 45,253 คัน และยอดขายของมาสด้า มอเตอร์ ลดลง 36% แตะที่ 17,211 คัน 

.

ยาซูฮิโร่ มัทสึโมโตะ นักวิเคราะห์จากบริษัทหลักทรัพย์ชินเซอิกล่าวว่า ตลาดรถยนต์ญี่ปุ่นซึ่งได้รับผลกระทบอยู่แล้วจากจำนวนประชากรที่ลดลง อาจปรับตัวลดลงอีกในปีนี้ เนื่องจากอัตราว่างงานพุ่งสูงขึ้นและค่าแรงที่ลดลงทำให้กำลังซื้อรถยนต์ลดน้อยลงด้วย โดยเมื่อวานนี้ทางการญี่ปุ่นเปิดเผยว่าอัตราว่างงานเดือนก.พ.พุ่งขึ้นแตะระดับ 4.4% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 3 ปี ขณะที่ค่าแรงในญี่ปุ่นลดลงรวดเร็วที่สุดในรอบ 5 ปี 

.

ความต้องการรถยนต์ที่หดตัวลงทำให้รัฐบาลญี่ปุ่นตัดสินใจใช้มาตรการลดหน่อยภาษีรถยนต์ประหยัดพลังงานบางรุ่นเพื่อกระตุ้นดีมานด์ภายในประเทศ โดยสมาคมนายหน้าค้ารถยนต์ญี่ปุ่นคาดว่า มาตรการดังกล่าวจะทำให้ยอดขายรถยนต์โดยรวมเพิ่มขึ้นถึง 310,000 คัน 

.

ยอดขายรถยนต์ในญี่ปุ่นที่ทรุดตัวลงสะท้อนให้เห็นว่าตลาดรถยนต์ของสหรัฐซึ่งเป็นตลาดใหญ่ที่สุดในโลกกำลังหดตัวลงด้วย นับตั้งแต่ยอดขายของเจนเนอรัล มอเตอร์ส (จีเอ็ม) และไครสเลอร์ร่วงลงอย่างรุนแรง ขณะที่จีเอ็มและไครสเลอร์กำลังเสี่ยงต่อการล้มละลายหลังจากคณะทำงานเฉพาะกิจด้านอุตสาหกรรมรถยนต์ของสหรัฐปฏิเสธแผนการปรับโครงสร้างของจีเอ็มและไครสเลอร์ โดยให้เหตุผลว่าค่ายรถยนต์ทั้งสองไม่ได้นำเสนอแผนปรับโครงสร้างที่น่าเชื่อถือถึงขนาดทำให้กิจการดำรงอยู่ต่อไปได้ 

.

ล่าสุดมีรายงานว่าประธานาธิบดีบารัค โอบามา แห่งสหรัฐ ระบุว่า ในการปรับโครงสร้างของบริษัท เจนเนอรัล มอเตอร์ส (จีเอ็ม) นั้น การล้มละลายเป็นทางออกที่ดีที่สุด โดยผ่านกระบวนการที่ลูกหนี้คือจีเอ็มและเจ้าหนี้คือรัฐบาลสหรัฐทำข้อตกลงและจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการร่วมกัน (Prepackaged Bankruptcy) ซึ่งรัฐบาลเชื่อว่าทางเลือกนี้จะช่วยให้จีเอ็มกลับมาเป็นบริษัทรถยนต์ที่มีความสามารถในการแข่งขันได้อีกครั้ง สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงาน