เนื้อหาวันที่ : 2009-03-30 18:21:50 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 539 views

ผู้ค้าเอทานอลจี้รัฐสกัดโหมส่งออกโมลาส หวั่นกระทบแผนพลังงานทดแทน

นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี นายกสมาคมผู้ผลิตเอทานอลไทย กล่าวว่า รัฐบาลควรจะเร่งเข้ามาแก้ไขปัญหาที่ขณะนี้ไทยได้ส่งออกโมลาสเพิ่มขึ้นมาก เนื่องจากราคาโมลาสตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นมาก เพราะประเทศอินเดียยุติการส่งออก ขณะที่ความต้องการของโลกเพื่อนำไปผลิตสุรา อาหารสัตว์ ผงชูรส เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จะทำให้ปลายปีนี้อาจจะเหลือโมลาสเพื่อการผลิตเอทานอลเพียง 1 ล้านตัน ซึ่งไม่เพียงพอ ดังนั้น ภาครัฐจึงควรเร่งเข้ามาแก้ปัญหาโดยด่วน         

.

ส่วนการกำหนดสูตรราคากลางการจำหน่ายเอทานอลสำหรับไตรมาส 2 ซึ่งจะเป็นราคาแนะนำที่จะเริ่มต้นใช้ในเดือน เม.ย.นั้น ขณะนี้ยังไม่ชัดเจนว่าจะอ้างอิงราคาอย่างไร หลังจากจะต้องเปลี่ยนแปลงใหม่ เพราะสูตรปัจจุบันอ้างอิงราคาส่งออกของบราซิล แต่ขณะนี้บราซิลไม่มีการส่งออกแล้ว                                     

.

ทั้งนี้ สมาคมฯ ได้เสนอให้กระทรวงพลังงานใช้สูตรอ้างอิงราคาต้นทุนที่ผสมกันระหว่างโมลาสและมันสำปะหลังแล้วเฉลี่ยด้วยปริมาณการผลิตทั้งหมด ซึ่งหากเป็นไปตามนี้ก็คาดว่าราคาเอทานอลไตรมาส 2 จะขยับเป็นประมาณลิตรละ 19.70 บาท จากไตรมาส 1 อยู่ที่ประมาณลิตรละ 17.18 บาท ส่วนไตรมาสต่อไปก็คาดว่าราคาจะสูงขึ้นอีกตามต้นทุนโมลาสที่เพิ่มขึ้น โดยราคาตลาดโลกขณะนี้ขยับจากต้นทุนที่ 2 บาท/กก. เป็น 4 บาท/กก.แล้ว 

.

ด้านนายอนุสรณ์ แสงนิ่มนวล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.บางจากปิโตรเลียม(BCP) กล่าวว่า ยอมรับว่าเป็นห่วงเรื่องการส่งออกโมลาสมากจนอาจจะทำให้วัตถุดิบที่ใช้ผลิตเอทานอลขาดแคลน ซึ่งภาครัฐควรเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหา เพราะโรงงานเอทานอลของไทย 13 โรงงาน ต้องใช้โมลาสเป็นวัตถุดิบถึง 11 โรงงาน

.

"หากไม่เร่งแก้ปัญหาอาจจะกระทบต่อแผนการส่งเสริมพลังงานทดแทน ซึ่งในส่วนของ BCP ได้เจรจากับผู้ผลิตเอทานอลเพื่อซื้อล่วงหน้าป้องกันเอทานอลขาดแคลนแล้ว โดย BCP มีความต้องการเอทานอลประมาณ 200,000 ลิตร/วัน"นายอนุสรณ์ กล่าว   

.

อย่างไรก็ดี การปรับสูตรเอทานอลใหม่สำหรับเริ่มใช้ตั้งแต่ไตรมาส 2 ของปีนี้นั้น หากราคาเอทานอลปรับขึ้นไปลิตรละ 1 บาท จะมีผลให้ราคาแก๊สโซฮอล์เพิ่มขึ้นลิตรละ 10 สตางค์