เนื้อหาวันที่ : 2009-03-27 15:54:26 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1554 views

ศูนย์วิจัยกสิกรฯ เตือนภาคส่งออกไทย ระวังมาตรการกีดกันการค้าจากอียู

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เผย การเจรจาจัดทำ FTA อาเซียน-อียูที่ล่าช้าออกไปอาจจะไม่ทันที่จะช่วยต้านทานกระแสกีดกันทางการค้าของอียูที่กำลังสร้างความท้าทายให้กับผู้ส่งออกของไทยได้ในขณะนี้ หวั่นการส่งออกไทยได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า การเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรี(FTA) อาเซียน-อียูที่ล่าช้าออกไปอาจจะไม่ทันที่จะช่วยต้านทานกระแสกีดกันทางการค้าของอียูที่กำลังสร้างความท้าทายให้กับผู้ส่งออกของไทยได้ในขณะนี้ เนื่องจากอียูกำลังทยอยประกาศมาตรการและกฎระเบียบทางการค้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นมาตรการด้านสุขอนามัยคน พืชและสัตว์ และมาตรการสิ่งแวดล้อมที่อียูให้ความสำคัญค่อนข้างมาก         

.

"การส่งออกของไทยไปอียูในปีนี้คงต้องเผชิญกับความท้าทายจากทั้งความต้องการของตลาดที่ชะลอตัวลงอย่างหนัก และอุปสรรคทางการค้าจากมาตรการต่างๆ ของอียูที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้นภายใต้วิกฤตเศรษฐกิจโลกที่ทำให้ประเทศที่พึ่งพาการส่งออกอย่างไทยต้องได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก" เอกสารเผยแพร่ ระบุ                                               

.

โดยการจัดทำ FTA อาเซียน-สหภาพยุโรป ต้องยุติลงชั่วคราว หลังการประชุมคณะกรรมการร่วมจัดทำความตกลง FTA อาเซียน-อียู ครั้งที่ 7 เมื่อต้นเดือน มี.ค.52 ที่มาเลเซีย ไม่สามารถหาข้อสรุปร่วมกันได้ เกี่ยวกับข้อเสนอของอียูที่จะปรับเปลี่ยนรูปแบบการเจรจาจากระดับภูมิภาคต่อภูมิภาค เป็นระดับทวิภาคีในกรอบ FTA อาเซียน-อียู ระหว่างสหภาพยุโรปกับสมาชิกอาเซียนเดิมคือ สิงคโปร์ ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์  บรูไน และเวียดนาม เพื่อให้มีผลบังคับใช้ได้โดยเร็วก่อนที่จะขยายขอบเขตออกไปยังสมาชิกที่เหลือ  

.

อย่างไรก็ตาม การยุติการเจรจา FTA อาเซียน-อียู อาจไม่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยโดยรวมในปี 52 ที่มีแนวโน้มหดตัวลง 13.5-20% เนื่องจากกระบวนการเจรจา FTA จะต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งจนกว่าจะเสร็จสิ้น ซึ่งอาจไม่ทันท่วงทีที่จะช่วยกระตุ้นการส่งออกท่ามกลางกลางวิกฤตเศรษฐกิจที่เลวร้ายได้ 

.

แม้ว่าไทยจะกระตุ้นการส่งออกสินค้าไปยังอียู ซึ่งเป็นตลาดส่งออกอันดับ 2 รองจากอาเซียนโดยเน้นการส่งออกสินค้าที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต รวมถึงสินค้าที่มีราคาต่ำเพื่อให้สอดคล้องกับกำลังซื้อของผู้บริโภคในตลาดอียูที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวอย่างหนัก  

.

แต่วิกฤตเศรษฐกิจที่คุกคามความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในอียูจนแตะระดับต่ำสุดในรอบ 2 ทศวรรษ เมื่อเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา และเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้การส่งออกสินค้าของไทยในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้หดตัวลงอย่างหนักถึง 28.2% ลดลงจากปี 51 ที่ขยายตัว 19.4%

.

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า แม้ว่าสินค้าไทยกว่า 7,000 รายการ เช่น เครื่องปรับอากาศ กุ้งแปรรูปและปลาหมึกแช่เย็นแช่แข็ง จะได้รับสิทธิ GSP รอบใหม่จากอียู ที่เริ่มตั้งแต่ 1 ม.ค.52 แต่การส่งออกของไทยส่วนใหญ่ยังคงชะลอตัวอย่างต่อเนื่องในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา เนื่องจากกำลังซื้อของผู้บริโภคและภาคอุตสาหกรรมที่ยังคงซบเซาอย่างหนัก

.

เห็นได้จากสินค้ากลุ่มยานยนต์และอุปกรณ์ ที่ไทยเพิ่งได้คืนสิทธิ GSP จากอียูในรอบนี้ และสามารถส่งออกยานยนต์ไปยังอียูได้โดยไม่ถูกเรียกเก็บภาษี แต่การส่งออกรถยนต์ของไทยกลับหดตัวถึง 62% ขณะที่การส่งออกรถจักรยานยนต์ซึ่งมีราคาต่ำกว่ารถยนต์กลับขยายตัวถึง 46.3% แม้ว่าอัตราการขยายตัวจะชะลอลงจากปี 51 ก็ตาม สะท้อนให้เห็นถึงความอ่อนแรงของผู้บริโภคและภาคการผลิตในสหภาพยุโรปโดยเฉพาะรถแวน รถกระบะ และรถบรรทุกที่มีอัตราการหดตัวค่อนข้างสูง