เนื้อหาวันที่ : 2009-03-27 14:35:11 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2168 views

PTTAR แต่งตั้ง 7 ธนาคารพาณิชย์เป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายหุ้นกู้

บริษัท ปตท. อะโรเมติกส์และการกลั่น จำกัด (มหาชน) แต่งตั้ง 7 ธนาคาร เป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายหุ้นกู้ PTTAR เสนอขายประชาชนทั่วไปผ่านสาขาของธนาคาร เริ่มเปิดจำหน่ายปลายเดือนเมษายน 2552 นี้

บริษัท ปตท. อะโรเมติกส์และการกลั่น จำกัด (มหาชน) หรือ PTTAR แต่งตั้งธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารทหารไทย ธนาคารนครหลวงไทย และธนาคารกรุงศรีอยุธยา เป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายหุ้นกู้ PTTAR เสนอขายประชาชนทั่วไปผ่านสาขาของธนาคาร เริ่มเปิดจำหน่ายปลายเดือนเมษายน 2552 นี้

.

นายชายน้อย เผื่อนโกสุม  ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่  บริษัท ปตท. อะโรเมติกส์และการกลั่น จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้แต่งตั้ง ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารทหารไทย ธนาคารนครหลวงไทย และธนาคารกรุงศรีอยุธยาเป็นผู้จัดจำหน่ายหุ้นกู้ของบริษัทฯ

.

โดยเป็นการเสนอขายต่อประชาชนทั่วไปผ่านเครือข่ายสาขาของธนาคาร สำหรับรายละเอียดเกี่ยวกับโครงสร้างและเงื่อนไขของหุ้นกู้ยังอยู่ระหว่างการพิจารณา ซึ่งบริษัทฯ คาดว่าจะเสนอขายหุ้นกู้ดังกล่าวในช่วงปลายเดือนเมษายน 2552 นี้ โดยบริษัทฯ จะนำเงินทุนที่ได้จากการจำหน่ายหุ้นกู้ครั้งนี้ไปใช้ในการชำระคืนหนี้เงินกู้ระยะสั้น รวมทั้งเป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ

.

บริษัท ปตท. อะโรเมติกส์และการกลั่น จำกัด (มหาชน) เป็นบริษัทในกลุ่ม ปตท. และมี ปตท. เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ร้อยละ 48.66 บริษัทฯ ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือจากบริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ที่ระดับ A- และแนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ ซึ่งสะท้อนถึงความมั่นคงในด้านการเงินของบริษัทฯ ในการเป็นผู้นำในธุรกิจการกลั่นน้ำมันที่มีสายการผลิตเชื่อมต่อไปสู่ธุรกิจปิโตรเคมีสายอะโรเมติกส์

.

ทั้งนี้ ในปี 2551 ที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้ดำเนินโครงการลงทุนเพื่อผสานประโยชน์จากการผลิตแบบเชื่อมต่อกันระหว่างโรงกลั่นและโรงงานอะโรเมติกส์ พร้อมไปกับการขยายกำลังการผลิต ด้วยการก่อสร้างโรงงานอะโรเมติกส์ หน่วยที่ 2 และก่อสร้างโครงการเพิ่มคุณภาพคอนเดนเซทเรสซิดิวจากโรงงานอะโรเมติกส์ ให้เป็นน้ำมันดีเซลและน้ำมันอากาศยาน

.

ซึ่งทั้งสองโครงการได้เริ่มทำการผลิตเชิงพาณิชย์ในเดือนมกราคมและมีนาคม 2552 ตามลำดับ ดังนั้น ตั้งแต่เดือนมกราคม 2552 กำลังการผลิตโดยรวมของบริษัทฯ จึงเพิ่มขึ้นจาก 215,000 บาร์เรลต่อวัน เป็น 280,000 บาร์เรลต่อวัน โดยวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตประกอบด้วยน้ำมันดิบ 145,000 บาร์เรลต่อวัน และคอนเดนเสท 135,000 บาร์เรลต่อวัน

.

โดยผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปของบริษัทประกอบด้วยสารอะโรเมติกส์ 2.1 ล้านตันต่อปี และผลิตภัณฑ์น้ำมันสำเร็จรูป 245,000 บาร์เรลต่อวัน ซึ่งจะทำให้บริษัทฯ มีรายได้เพิ่มขึ้นมาก นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังมีโครงการติดตั้งอุปกรณ์การผลิตเพิ่มเติมเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการเลือกใช้น้ำมันดิบได้หลากหลายยิ่งขึ้น ซึ่งจะทำให้ต้นทุนการผลิตลดลงได้มากอีกด้วย