เนื้อหาวันที่ : 2009-03-26 10:12:26 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2177 views

จนท.แบงก์ชาติออสซี่เชื่อมั่นศก.ในปท.จะไม่เผชิญวิกฤตซับไพรม์ซ้ำรอยสหรัฐ

เจ้าหน้าที่ธนาคารกลางออสเตรเลียเผย อัตราดอกเบี้ยของออสเตรเลียที่อยู่ระดับต่ำสุดในรอบ 40 ปี และรัฐบาลให้เงินช่วยเหลือผู้ซื้อบ้านเป็นครั้งแรกนั้น ไม่เป็นปัจจัยที่สร้างความเสี่ยงให้ออสเตรเลียต้องเผชิญกับวิกฤตซับไพรม์เหมือนที่เคยเกิดในสหรัฐ

เจ้าหน้าที่ธนาคารกลางออสเตรเลียเปิดเผยว่า อัตราดอกเบี้ยของออสเตรเลียที่อยู่ระดับต่ำสุดในรอบ 40 ปี และรัฐบาลให้เงินช่วยเหลือผู้ซื้อบ้านเป็นครั้งแรกนั้นไม่น่าจะเป็นปัจจัยที่สร้างความเสี่ยงให้ออสเตรเลียต้องมาเผชิญกับวิกฤตซับไพรม์ในลักษณะเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นในสหรัฐมาก่อน                                                      

.

แอนโทนี่ ริชาร์ด หัวหน้านักวิเคราะห์ด้านเศรษฐกิจจากธนาคารกลาง กล่าวกับทางบลูมเบิร์กว่า "ในช่วงเวลากว่า 1 ปีที่ผ่านมาเราเห็นว่าจะมีการกำหนดมาตรฐานการออกเงินกู้ในออสเตรเลียที่เข้มงวดมากขึ้น โดยจะเห็นถึงยอดการออกเงินกู้ที่หดตัวลงอย่างหนัก" 

.

ขณะนี้หลายฝ่ายมีความวิตกกังวลเพิ่มขึ้นว่า การปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงไปอย่างมาก 4% นับตั้งแต่เดือนก.ย.ที่ผ่านมา และการที่รัฐบาลอัดฉีดเงินช่วยเหลือผู้ซื้อบ้านหลังแรกสูงสุดเป็นวงเงิน 21,00 ดอลลาร์ออสเตรเลีย (14,700 ดอลลาร์สหรัฐ) นั้นอาจทำให้ตัวเลขเงินกู้ให้กับลูกหนี้ที่มีความเสี่ยงขยายวงกว้างมากขึ้น โดยผู้ซื้อบ้านหลังแรกมีสัดส่วนคิดเป็น 26.5% ของจำนวนผู้ที่ขอเงินกู้ในเดือนม.ค. ซึ่งเพิ่มขึ้นจากระดับ 18.1% ในปีที่แล้ว 

.

อย่างไรก็ตาม ผู้ทำเรื่องกู้เงินซื้อบ้านจำเป็นต้องพิจารณาถึงสถานะการเงินของตนเองให้รอบคอบ รวมถึงคำนึงว่าตนจะสามารถผ่อนชำระเงินกู้ได้อย่างต่อเนื่องหรือไม่ หากอัตราดอกเบี้ยเงินกู้จำนองบ้านเริ่มกลับคืนสู่ภาวะปกติ 

.

ทั้งนี้ เกล็น สตีเวนส์ ผู้ว่าการธนาคารกลางออสเตรเลียปรับลดอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 3.25% เมื่อเดือนก.พ. เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจที่หดตัวลงเป็นครั้งแรกในรอบ 8 ปี นับตั้งแต่เดือนก.ย. ขณะที่ธนาคารพาณิชย์ลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้จำนองบ้านลง 3.75% 

.

ริชาร์ดกล่าวว่า การปรับลดอัตราดอกเบี้ยช่วยให้ผู้ซื้อบ้านประหยัดเงินกู้บ้านที่ราคาเฉลี่ย 250,000 ดอลลาร์ออสเตรเลีย/หลังได้ประมาณ 600 ดอลลาร์ออสเตรเลีย/เดือน ซึ่งประมาณ 90% ของผู้ซื้อบ้านในออสเตรเลียล้วนทำเรื่องกู้เงินจำนองบ้านที่คิดอัตราดอกเบี้ยเปลี่ยนแปลงตามธนาคารกลาง ซึ่งเป็นที่ชัดเจนว่า นโยบายการเงินมีผลต่ออัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของออสเตรเลีย 

.

"อัตราดอกเบี้ยที่ลดลงช่วยลดภาระหนี้สินที่ภาคครัวเรือนต้องแบกรับได้ราว 5% ซึ่งบ่งชี้ว่าการใช้นโยบายดังกล่าวช่วยเสริมสร้างสภาพคล่องได้อย่างมาก อีกทั้งยังช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในการผ่อนชำระเงินกู้ในแต่ละเดือน" ริชาร์ดกล่าวเสริม