เนื้อหาวันที่ : 2009-03-25 14:30:07 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2405 views

นายกสมาคมเอทานอลยกงานวิจัยชี้แก๊สโซฮอล์ก่อมลพิษน้อย

นายกสมาคมเอทานอลอ้างงานวิจัยอีกเพียบที่พบว่าแก๊สโซฮอล์ก่อมลพิษน้อย แถมสารที่อ้างว่าจะก่อมะเร็งยังถูกกำจัดก่อนถูกปล่อยออกจากท่อไอเสียอยู่แล้ว โต้นักวิจัยที่ออกมาแสดงความคิดเห็นเรื่องนี้ต้องศึกษาให้รอบด้าน อย่าสร้างความตื่นตระหนกให้สังคม หวั่นกระทบต่อเกษตรกรชาวไร่อ้อยและมันสำปะหลัง

นายกสมาคมเอทานอลอ้างงานวิจัยอีกเพียบที่พบว่าแก๊สโซฮอล์ก่อมลพิษน้อย แถมสารที่อ้างว่าจะก่อมะเร็งยังถูกกำจัดก่อนถูกปล่อยออกจากท่อไอเสียอยู่แล้ว โต้นักวิจัยที่ออกมาแสดงความคิดเห็นเรื่องนี้ต้องศึกษาให้รอบด้าน อย่าสร้างความตื่นตระหนกให้สังคม หวั่นกระทบต่อเกษตรกรชาวไร่อ้อยและมันสำปะหลัง

.

นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี นายกสมาคมผู้ผลิตเอทานอลไทย

.

นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี นายกสมาคมผู้ผลิตเอทานอลไทย กล่าวถึงกรณีที่มีนักวิจัยคนหนึ่งออกมาให้ข่าวเรื่องน้ำมันแก๊สโซฮอล์มีสารก่อมะเร็งนั้น ถือเป็นการให้ข้อมูลที่ยังไม่ครบถ้วน และหากประชาชนได้รับข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง ก็จะทำเกิดการเข้าใจผิดและตื่นตระหนกต่อการใช้แก๊สโซฮอล์ เป็นผลเสียต่อทิศทางการส่งเสริมพลังงานทดแทนของประเทศ

.

โดยเฉพาะพลังงานที่ประเทศไทยของเราสามารถผลิตได้เองอย่างเอทานอล และอาจจะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการ ต่อเนื่องไปถึงเกษตรกรชาวไร่อ้อยและไร่มันสำปะหลังซึ่งเป็นผู้ส่งวัตถุดิบให้กับผู้ผลิตเอทานอล จึงต้องการให้ผู้ที่จะเผยแพร่ข้อมูลหรือแสดงความคิดเห็นในลักษณะนี้เพิ่มความระมัดระวังให้มากขึ้น

.

"ในงานวิจัยชิ้นเดียวกับที่นักวิจัยดังกล่าวนำมาอ้างถึงนั้น หากดูในรายละเอียดจะพบว่าสารฟอร์มัลดีไฮด์และอะเซตัลตีไฮด์ ที่บอกว่าเป็นสารก่อมะเร็ง แท้จริงแล้วมีความเป็นพิษน้อยกว่าสารพิษชนิดอื่นๆ รวมถึงเบนซินด้วย อีกทั้งยังจัดอยู่ในกลุ่มที่เรียกว่า Probable หรือเข้าข่ายว่า ‘น่าจะ’ เป็นสารก่อมะเร็งเท่านั้น ไม่ใช่ Known ซึ่งได้รับการพิสูจน์แล้วว่าเป็นสารก่อมะเร็ง" นายสิริวุทธิ์ กล่าวว่า

.

นายกสมาคมผู้ผลิตเอทานอลไทย กล่าวด้วยว่า มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งของคณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน ที่เปรียบเทียบมลพิษไอเสียระหว่างเครื่องยนต์แก๊สโซลีนที่ใช้น้ำมันเบนซินกับแก๊สโซฮอล์ พบว่าการใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ส่งผลให้ปริมาณคาร์บอนมอนอกไซด์และไฮโดรคาร์บอน ต่ำกว่าน้ำมันเบนซิน 17.95% และ 17.28% ตามลำดับ  

.

นอกจากนี้ ยังมีข้อสังเกตจาก ผศ.ดร.ดวงใจ นาคะปรีชา จากภาควิชาเคมี มหาวิทยาลัยมหิดล เกี่ยวกับการอ้างผลวิจัยที่บอกว่าเป็นการเก็บตัวอย่างอากาศริมถนน 49 จุด ในกรุงเทพฯ มาวัดระดับสารประกอบคาร์บอนิล (เช่น ฟอร์มัลดีไฮด์และอะเซตัลตีไฮด์) นั้น ยังไม่ควรด่วนสรุปว่าสาเหตุมาจากการใช้แก๊สโซฮอล์ เพราะมีตัวแปรอื่นๆ ที่นักวิจัยควบคุมไม่ได้ 

.

โดยเฉพาะไม่สามารถบอกได้ว่ารถที่แล่นผ่านในจุดนั้นๆ เป็นรถที่ใช้แก๊สโซฮอล์มากน้อยแค่ไหน ซึ่งหากจะบอกว่าสารประกอบคาร์บอนิลดังกล่าวเกิดจากรถยนต์ที่ใช้แก๊สโซฮอล์ จะต้องทำวิจัยโดยวัดที่ท่อไอเสียเท่านั้น ไม่ใช่วัดจากอากาศทั่วไป 

.

นายสิริวุทธิ์ ยังได้อ้างถึงข้อเขียนของ ดร.เสกสรรค์ พรหมนิช ที่กล่าวถึงการศึกษาในประเทศบราซิล ว่า สารอัลดีไฮด์เกือบทั้งหมดสามารถถูกกำจัดได้หลังจากผ่าน Catalytic Converter (CAT) ซึ่งเป็นอุปกรณ์ลดมลพิษที่มีการใช้กับรถยนต์มานานแล้ว ดังนั้น สารที่ผ่านท่อไอเสียออกมาสู่อากาศจึงถูกกำจัดสารพิษไปแล้ว

.

"เทคโนโลยีที่มากับรถยนต์ในปัจจุบันสามารถกำจัดสารกลุ่มที่อาจก่อมะเร็งกลุ่มนี้ได้อยู่แล้ว เพราะฉะนั้น เชื่อว่าหากมีการทำวิจัยในเรื่องนี้อย่างถูกต้องตามหลักวิจัยจริงๆ  คือวัดสารที่ปล่อยจากท่อไอเสียของรถยนต์เฉพาะคันที่ใช้แก๊สโซฮอล์ ผลก็น่าจะออกมาต่างจากที่นักวิจัยคนที่บอกว่าแก๊สโซฮอล์ปลดปล่อยสารก่อมะเร็ง โดยไปวัดจากอากาศทั่วไป

.

นอกจากนี้ รถคันไหนที่ระบบกำจัดมลพิษบกพร่อง ก็สามารถปรับปรุงอุปกรณ์ต่างๆ ให้กลับคืนสู่สภาพที่ดีตามปกติได้" นายกสมาคมผู้ผลิตเอทานอลไทยกล่าวและย้ำว่า ในกรณีที่จะแสดงความคิดเห็นที่มีผลกระทบต่อสังคมในวงกว้าง นักวิจัยที่ดีควรจะศึกษาข้อมูลให้ครบถ้วนรอบด้าน ไม่ใช่ด่วนสรุปแล้วทำให้สังคมตื่นตระหนก