ภาวะเศรษฐกิจของโลกและประเทศไทยในปัจจุบันอยู่ในช่วงถดถอยอย่างเห็นได้ชัด ห้วงเวลานี้เองที่ได้กระตุกความฉงนสงสัยของผู้เฝ้าสังเกตการณ์ระบบทุนนิยมเสรีที่มีโลกาภิวัฒน์เป็นตัวขับเคลื่อนว่าจะหมุนระบบเศรษฐกิจของโลกและชาติไปในทิศทางใด
ทศพล ทรรศนกุลพันธ์ |
คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ |
. |
ภาวะเศรษฐกิจของโลกและประเทศไทยในปัจจุบันอยู่ในช่วงถดถอยอย่างเห็นได้ชัด ห้วงเวลานี้เองที่ได้กระตุกความฉงนสงสัยของผู้เฝ้าสังเกตการณ์ระบบทุนนิยมเสรีที่มีโลกาภิวัฒน์เป็นตัวขับเคลื่อนว่าจะหมุนระบบเศรษฐกิจของโลกและชาติไปในทิศทางใด |
. |
วิกฤตเศรษฐกิจที่มีศูนย์กลางปัญหาอยู่ที่การเอาหนี้เน่ามาตัดส่วนขายเป็นท่อนๆ ให้แก่นักลงทุน จนผลสุดท้ายกลายเป็นความล่มสลายเนื่องจากวงจรฟองสบู่ของการปั่นมูลค่าหนี้เน่าเหล่านั้นต้องแตก จากลูกหนี้ที่แท้จริงไม่มีความสามารถที่จะนำเงินมาชดใช้หนี้ได้ ส่งผลกระทบลูกโซ่ไปยังผู้ที่เป็นเจ้าหนี้ ต่อไปที่คนที่ซื้อหนี้ไปบริหารความเสี่ยง และสุดท้ายสถาบันการเงินทั้งหลายที่ลงทุนไปกับการเก็งกำไรในกองทุนหนี้เหล่านั้น และทำให้ภาคการเงินของศูนย์กลางระบบทุนนิยมเสรีโลกอย่างสหรัฐอเมริกาต้องพังครืนลงมา |
ผลที่คนทั้งโลกได้เห็นพร้อมกันคือ มีสถาบันการเงินขนาดใหญ่ล้มละลายเป็นหนี้มหาศาล นักลงทุนที่เข้าไปซื้อกองทุน หรือซื้อหนี้ประสบปัญหาขาดทุนจนสิ้นเนื้อประดาตัว ธนาคารไม่สามารถเก็บหนี้จากลูกค้าที่เป็นผู้ประกอบการหรือลูกหนี้รายย่อยได้ เจ้าหนี้เบื้องต้นที่เป็นเจ้าของธุรกิจไม่สามารถเรียกรับชำระหนี้จากลูกหนี้ชั้นต้นได้ (ส่วนมากเป็นหนี้ที่เกิดจากการปล่อยสินเชื่อในกิจการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์) และชั้นล่างสุดเกิดลูกหนี้ซึ่งไม่สามารถชำระหนี้ได้จนต้องสูญเสียอสังหาริมทรัพย์ที่ตนได้ผ่อนชำระราคาไป |
. |
ที่ผ่านมามาตรการของรัฐบาลสหรัฐในการแก้ไขวิกฤตเศรษฐกิจนี้มีอยู่ 2 ส่วนหลัก คือ |
1. การเข้าพยุงสถานะของสถาบันการเงินและกอบกู้ความเชื่อมั่นให้กับระบบการเงินอีกครั้ง |
2. การอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจเพื่อกระตุ้นการบริโภคอันจะทำให้เกิดการหมุนเวียนของเงินในระบบ และกอบกู้ความเชื่อมั่นให้กับระบบบริโภคอีกครั้ง |
. |
จากปรากฏการณ์ของยักษ์ใหญ่แห่งระบบทุนนิยมเสรีข้างต้นสะท้อนให้เห็นว่า มีสิ่งที่รัฐที่ยึดมั่นในระบบทุนนิยมเสรีจะต้องสร้างหลักประกันความเชื่อให้แก่คนในระบบอยู่ 2 สิ่ง คือ |
. |
1. ความเชื่อมั่นในระบบเศรษฐกิจที่ต้องใช้เงินเป็นศูนย์กลางของการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจ ที่ต้องอาศัยสถาบันการเงินเป็นตัวกลางในการขับเคลื่อน เป็นศูนย์กลางของธุรกรรมทางการเงินไม่ว่าจะเป็นการฝากเงินส่วนเกินเพื่อการออม การสินเชื่อให้กู้ หรือแม้กระทั่งการลงทุนของสถาบันการเงินในกิจการต่างๆ |
. |
2. ความเชื่อมั่นในระบบเศรษฐกิจที่ต้องอาศัยกำลังในการบริโภคเพื่อผลักดันการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจ ที่ต้องอาศัยการบริโภคสินค้าต่างที่ผู้ประกอบการทั้งหลายผลิตขึ้นมา เป็นตัวขับดันให้มีการผลิตสินค้า การจ้างแรงงาน และสุดท้ายคือการสร้างรายได้อันจะนำไปสู่การบริโภคและการผลิตซ้ำไปซ้ำมา |
. |
รัฐในระบบทุนนิยมเสรีซึ่งมีหน้าที่ในการบำบัดทุกข์บำรุงสุขของประชาชนจึงต้องเข้ามาแทรกแซงในระบบเศรษฐกิจเพื่อแก้ไขวิกฤตใน 2 บทบาทใหญ่ด้วยกัน คือ |
. |
การอุ้มสถาบันการเงินเพื่อไม่ให้ล้มจนระบบการเงินสั่นคลอนเป็นเหตุให้ประชาชนสูญเสียความมั่นใจต่อระบบจนแห่กันไปถอนเงินหรือเลิกยึดถือเงินเป็นตัวกลางในการแลกเปลี่ยนอีกต่อไป |
. |
การอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจเพื่อให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยบริโภคสินค้า เพื่อส่งเสริมให้มีการผลิต มีการจ้างงาน เกิดรายได้ แล้วนำไปสู่การจับจ่ายใช้สอยบริโภคสินค้าอีกซ้ำๆไป โดยต้องระวังไม่ให้ประชาชนกอดเงินไว้เฉยๆจนเกิดภาวะฝืดเคืองจนไม่มีการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจ |
. |
เมื่อพินิจพิเคราะห์บทบาทของรัฐในการแทรกแซงเศรษฐกิจด้วยสายตาของนักสิทธิมนุษยชนที่ต้องการเห็นมนุษย์สามารถสามารถกำหนดอนาคตของตนเองได้บนวิถีทางเลือกที่แตกต่างหลากหลายแล้ว เห็นว่า รัฐไม่ได้ใช้อำนาจและทรัพยากรที่มีอยู่ไปในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมเท่าที่ควร เนื่องจาก |
. |
1. บทบาทของรัฐในการอุ้มสถาบันการเงินและระบบแลกเปลี่ยนทางเศรษฐกิจที่มีเงินเป็นศูนย์กลาง ไม่ได้ตั้งอยู่บนหลักของการปกป้องคนในสังคมที่มีความแตกต่างหลากหลายอย่างเท่าเทียมกัน กล่าวคือ กลุ่มคนที่รัฐเข้าไปอุ้มหรือช่วยเหลือ คือ กลุ่มนักธุรกิจการเงินการธนาคารซึ่งได้ดำเนินกิจการของตนในลักษณะการเก็งกำไร |
. |
บทบาทของรัฐส่วนนี้เท่ากับเป็นการเอาทรัพยากรส่วนกลางที่เป็นงบประมาณจากภาษีของประชาชนไปโอบอุ้มคนที่ดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจแบบเก็งกำไร เมื่อล้มไปกลับมีรัฐมาคอยโอบอุ้ม กลายเป็นวงจรแห่งความช่วยร้ายที่มีรัฐรับรองความชอบธรรมนั่นเอง |
. |
คำถามของประชาชนต่อบทบาทของรัฐในประเด็นนี้จึงอยู่ที่ “รัฐมีความเป็นธรรมในการเข้าไปปกป้องคนที่มีจิตชั่วร้ายทางเศรษฐกิจ(Moral Hazard) เพียงใด” เมื่อเทียบกับการเอางบประมาณไปปกป้องช่วยเหลือผู้ที่เป็นคนชายขอบทางเศรษฐกิจ อาทิ คนยากคนจน ขอทาน คนเร่ร่อน คนว่างงาน คนไม่มีที่ทำกิน เกษตรกรที่ขาดทุนจากการผลิตสินค้าเกษตรที่ขายแข่งในตลาดโลกไม่ได้ |
. |
อาจมีผู้โต้แย้งว่า หากไม่อุ้มสถาบันการเงินไว้ ระบบการเงินทั้งหมดก็จะล้มไปหมดจนคนหมดความเชื่อมั่นในระบบการเงิน |
. |
แต่ข้อสังเกตที่มี คือ มิใช่สถาบันการเงินทั้งหมดที่ล้ม เฉพาะสถาบันการเงินที่มีจิตชั่วร้ายทางเศรษฐกิจ(Moral Hazard) เท่านั้นที่ล้ม และเป็นการเพิ่มภาระในการตัดสินใจทางธุรกิจให้กับสถาบันการเงินเพิ่มเติมว่า ต่อไปถ้ายังดำเนินธุรกิจในลักษณะนี้อีกจะไม่มีใครอุ้ม คุณต้องรับผิดและบริหารความเสี่ยงให้กับตัวเอง |
. |
ซึ่งสิ่งนี้สะท้อนให้เห็นได้ชัดในระบบเศรษฐกิจไทยที่รัฐเลิกคงอัตราค่าเงินบาท ทำให้ธุรกิจต่างๆ ต้องมีการบริหารความเสี่ยงจากภาวะผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนกันเอง จนมีความสามารถในการปกป้องตนเองมากขึ้นนั่นเอง และรัฐก็ไม่ต้องเอางบประมาณเข้าไปรับภาระความเสี่ยงแทนเอกชนมากนัก เท่ากับรัฐปกป้องคนถูก เหลืองบประมาณไว้ใช้ในกิจการของสาธารณะมากขึ้นนั่นเอง |
. |
2. บทบาทของรัฐในการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบทางเศรษฐกิจเพื่อให้เกิดการบริโภค มีการผลิตสินค้าบริการ มีการจ้างงาน เกิดรายได้แล้วนำไปสู่การบริโภคอีกหลายๆรอบ ไม่ได้ตั้งอยู่บนพื้นฐานในการเปิดโอกาสให้ประชาชนเลือกมีวิถีชีวิตทางเศรษฐกิจที่แตกต่างหลากหลายมากนัก เนื่องจากการอัดฉีดเม็ดเงินทั้งหลายจะผ่านโครงการต่างๆที่มีลักษณะผลิตจ้างงานชั่วครั้งชั่วคราว มากกว่าการพัฒนาคุณภาพชีวิตและความสามารถทางการผลิตในระยะยาว |
. |
ซ้ำร้ายไปกว่านั้นโครงการที่มีลักษณะอัดฉีดเงินเข้าไปในกระเป๋าประชาชนโดยตรงเช่นเพิ่มรายได้ ค่าครองชีพ หรือแม้กระทั่งการลดภาษีเงินได้ เป็นการตอกย้ำให้คนใช้จ่ายบริโภคให้มากที่สุดโดยที่มิต้องคำนึงถึงการออมมากนัก เนื่องจากโครงการอัดฉีดเม็ดเงินทั้งหลายจากภาครัฐจะมาพร้อมมาตรการที่กระตุ้นให้ประชาชนเอาเงินที่ได้มาไปบริโภคให้ได้ เพื่อให้มีการหมุนเวียนเงินในระบบเศรษฐกิจมากที่สุด สิ่งที่เกิดขึ้นแน่ๆ คือ พฤติกรรมการบริโภคที่มากขึ้น การออมที่อาจจะเท่าเดิมหรือลดลง |
. |
คำถามสำคัญที่ตามมาคือ "การอัดฉีดเม็ดเงินเพื่อเพิ่มการบริโภคเป็นทางเลือกที่สร้างหลักประกันที่มั่นคงให้กับวิถีชีวิตของประชาชนแล้วหรือ” งบประมาณแต่ละปีที่รัฐจัดเก็บมาหากนำไปยัดใส่กระเป๋าคนเพื่อการจับจ่ายใช้สอย ย่อมหมดลงเมื่อมีการซื้อสินค้ามาบริโภค กลับกันถ้างบประมาณเหล่านั้นผันแปรมาเป็นโครงการหรือกิจกรรมที่สร้างความสามารถในการผลิตให้กับประชาชน เช่น การพัฒนาการเกษตรอย่างยั่งยืน การอบรมอาชีพอิสระ การสร้างองค์ความรู้ในการดำเนินชีวิตให้กับประชาชน" |
. |
เช่น การดำเนินกิจกรรมชุมชนพัฒนาบำเพ็ญสาธารณะประโยชน์ การฝึกอาชีวะศึกษานอกระบบ หรือนำมาจัดบริการสาธารณะที่ตอบสนองความจำเป็นที่หลากหลายในยามทุกข์ยาก เช่น สถานดูแลเด็กอ่อน เด็กกำพร้า ที่พักพึงผู้เร่ร่อน โรงอาหารสงเคราะห์ หรือบริการสาธารณสุข ย่อมมีความมั่นคงถาวรและตอบสนองความจำเป็นที่หลากหลายมากกว่าการเอาเงินไปยัดใส่กระเป๋าแล้วกลายเป็นสินค้าที่บริโภคแล้วหมดสิ้นไป |
. |
ข้อสังเกตที่ต้องระวังในเรื่องบทบาทของภาครัฐในทางเศรษฐกิจที่สำคัญอีกประการ คือ รัฐทั้งหลายนิยมการจัดงบประมาณแบบขาดดุล (โดยล่าสุดประเทศไทยกำลังจะจัดงบประมาณแบบขาดดุลคิดเป็น 4% ของ GDP) โดยไม่มีแนวโน้มว่าจะลดการขาดดุล หมายความว่ารัฐทั้งหลายต้องกู้ยืมเงินมาจากภายนอกหรือจากพันธบัตรต่าง ๆ |
. |
ดังนั้นเราต้องคิดให้มากว่า "รัฐมีความชอบธรรมหรือไม่ที่จะผูกเอาอนาคตของพวกเราทุกคนเข้าไปเป็นลูกหนี้สาธารณะ" เพื่อนำเม็ดเงินไป "อุ้ม" กลุ่มคนที่ดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจแบบเก็งกำไรอย่างชั่วร้าย หรือนำเม็ดเงินไป "อัดฉีด" ใส่กระเป๋าเพื่อการบริโภคแล้วหมดสิ้นไปอย่างรวดเร็ว เราจะมีทางเลือกในการกำหนดอนาคตตนเองและกำหนดอนาคตของรัฐให้นำงบประมาณที่เราต้องแบกรับภาระหนี้ร่วมกันไปใช้ให้เกิดประโยชน์มากขึ้น เป็นธรรมมากขึ้น และเกิดสวัสดิการที่มั่นคง หลากหลาย มากขึ้นได้อย่างไร |
. |
ทางเลือกทางรอด จึงน่าจะอยู่ที่นโยบายทางเศรษฐกิจการคลังที่ปลอดประชานิยม (อย่างไร้สติ) คือการเปลี่ยนงบประมาณที่จะทุ่มไปกับการโอบอุ้มนักเก็งกำไร หรือประชานิยมที่ทำให้มีแต่การบริโภค ไปเป็นการสร้างบริการสาธารณะที่มีลักษณะเป็นสวัสดิการที่อิงกับสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมมากขึ้น เพื่อสร้างหลักประกันที่มั่นคงให้กับชีวิตของประชาชนอย่างแท้จริง |
. |
เพราะเมื่อใดที่ประชาชนคนใดขาดปัจจัย 4 ก็ยังมีสวัสดิการที่เป็นหลักประกันให้ชีวิตอย่างหลากหลาย มิใช่การนำงบประมาณมาแบ่งกันไปจับจ่ายใช้สอยจนต้องสร้างหนี้ใหม่ขึ้นมาอีก |
. |
ที่มา : ประชาไทดอทคอม |