เนื้อหาวันที่ : 2009-03-24 09:58:00 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1225 views

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดปีนี้ ศก.ไทยหดตัวมากกว่าที่ IMF ประเมิน

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยหวั่น แนวโน้มเศรษฐกิจโลกปี 52 มีโอกาสหดตัวมากกว่าที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศประเมินไว้ที่ 0.5-1.0% ผวากระทบการส่งออกของไทยคาดหดตัวลงถึง 13.5-20% นับเป็นการหดตัวรายปีครั้งร้ายแรงที่สุดเป็นประวัติการณ์

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า แนวโน้มเศรษฐกิจโลกโดยรวมในปี 52 มีโอกาสที่จะหดตัวลงมากกว่าที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ(IMF) ประเมินไว้ล่าสุดที่ 0.5-1.0% ซึ่งสภาวะดังกล่าวจะส่งผลกดดันให้การส่งออกของไทยยังคงหดตัวในอัตราตัวเลขสองหลักต่อเนื่องไปจนถึงต้น Q4/52 โดยคาดว่าการส่งออกทั้งปีอาจจะหดตัวลง 13.5-20% ก่อน                            

.

นับเป็นการหดตัวรายปีครั้งร้ายแรงที่สุดเป็นประวัติการณ์ และแม้ว่าการนำเข้าจะหดตัวลงมากกว่าการส่งออก ซึ่งส่งผลดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล แต่ก็คาดว่าผลบวกที่เพิ่มเข้ามาสู่จีดีพีจะถูกหักลบลงไปด้วยการสะสมสินค้าคงคลังที่ลดลงในระบบเศรษฐกิจ โดยคาดว่าการนำเข้าในปี 52 อาจจะหดตัว 15.5-23%  และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลประมาณ 4,900 ล้านดอลลาร์ จากที่ขาดดุล  200 ล้านดอลลาร์ในปี

.

และการหดตัวรุนแรงในภาคอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อการส่งออกนี้จะส่งผลให้การว่างงานเพิ่มขึ้นรวดเร็ว และบั่นทอนภาวะการใช้จ่ายของผู้บริโภคให้หดตัว 0.0-1.0% แม้คาดว่าจะมีผลของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลเข้ามาช่วยบรรเทาปัญหาในระดับหนึ่งแล้วก็ตาม ขณะที่การลงทุนก็มีแนวโน้มหดตัวลง 4.7-7.8%      

.

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ปรับประมาณการแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 52  โดยคาดว่าจีดีพีจะหดตัว1.5-3.5% โดยจีดีพีมีแนวโน้มหดตัวลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ Q1/52-Q3/52 ซึ่งคาดว่าจีดีพีในช่วง H1/52 จะหดตัวประมาณ 3.8-4.9%   

.

ทั้งนี้ เป็นการประมาณการภายใต้สมมติฐานที่รัฐบาลปัจจุบันมีเสถียรภาพในการบริหารประเทศและสามารถผลักดันการเบิกจ่ายงบประมาณ รวมถึงนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจให้มีความคืบหน้าได้พอสมควร ขณะที่เศรษฐกิจในต่างประเทศอาจเริ่มลงไปเห็นจุดต่ำสุดใน Q4/52 ช่วยให้การส่งออกมีภาพที่ค่อยๆ เริ่มปรับตัวดีขึ้น                 

.

สำหรับกรณีเลวร้ายที่เศรษฐกิจไทยอาจหดตัว 3.5% นั้น เป็นกรณีที่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจภูมิภาคหลักของโลกล่าช้าออกไปเป็นในปี 53 ซึ่งจะยิ่งก่อให้เกิดผลกระทบส่งผ่านจากภาคการส่งออกไปสู่ภาคเศรษฐกิจภายในประเทศรุนแรงมากยิ่งขึ้น 

.

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า เศรษฐกิจไทยในระยะ 3-6 เดือนนับจากนี้ จะเป็นช่วงที่เผชิญกับผลกระทบที่รุนแรงมากขึ้นจากปัญหาที่ติดตามมากับภาวะเศรษฐกิจถดถอยของโลก โดยเฉพาะประเด็นการว่างงาน ขณะที่นโยบายการเงินและการคลังของทางการไทยอาจช่วยเยียวยาในเพียงระดับหนึ่งเท่านั้น

.

เนื่องจากต้นเหตุของปัญหาเกิดขึ้นภายนอกประเทศอันยากเกินจะควบคุม อัตราดอกเบี้ยที่ปรับลดลงและค่าเงินบาทที่อ่อนค่าจึงอาจไม่สามารถช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายภายในประเทศและขยายการส่งออกได้มากเท่ากับในช่วงที่เศรษฐกิจอยู่ในสถานการณ์ที่ปกติ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยจะเกิดขึ้นอย่างแท้จริงได้นั้นจึงอาจต้องรอการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก     

.

อย่างไรก็ตาม บทบาทของรัฐบาลและมาตรการทางการคลังนับได้ว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งในสภาวการณ์เช่นนี้ ซึ่งแม้รัฐบาลจะมีข้อจำกัดทางการคลัง ซึ่งทำให้รัฐบาลอาจจะต้องดำเนินการแก้ไขกฎหมายเพื่อขยายกรอบการก่อหนี้เพิ่มเติม แต่ภารกิจที่จำเป็นเร่งด่วนคือ เร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณ และผลักดันนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจให้คืบหน้าโดยเร็ว

.

เพื่อให้เกิดการหมุนเวียนของเงินงบประมาณลงสู่ระบบเศรษฐกิจ ซึ่งคาดว่าจะมีผลช่วยบรรเทาความรุนแรงของผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจถดถอยของโลกได้ในระดับหนึ่ง