กรณ์ รมว.คลัง ออกอาการคอตกยอมรับรัฐฯต้องพูดความจริงกับประชาชน เผย เศรษฐกิจไทยอาจติดลบถึง 3% หลังจากติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด หวังให้เอกชนร่วมมือฟื้นฟูเศรษฐกิจ
นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง ยอมรับว่า สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.)ได้ปรับลดอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ(จีดีพี) ปีนี้เหลือ -3% จากเดิมที่คาดว่าจะโต 0-2% เป็นผลจากการติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจอย่างใกล้ชิดในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งพบว่าทุกประเทศได้ปรับลดเป้าจีดีพีลงเช่นเดียวกัน |
. |
รมว.คลัง กล่าวว่า รัฐบาลจำเป็นต้องพูดความจริงกับประชาชนและผู้ประกอบการอย่างตรงไปตรงมาตามสภาวะที่เกิดขึ้นจริง เพื่อให้ภาคเอกชนร่วมมือกับภาครัฐในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ |
. |
"เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป และแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจที่ลดลง เราก็ต้องพร้อมพูดความจริงให้ชัดเจนว่ารัฐบาลมีนโยบายอย่างไรที่จะแบ่งเบาภาระจากการที่เศรษฐกิจขยายตัวลดลง"นายกรณ์ ระบุ |
. |
รมว.คลัง กล่าวด้วยว่า บทบาทของภาครัฐในการฟื้นฟูเศรษฐกิจจำเป็นต้องมีสูงขึ้น รวมถึงการใช้เงินงบประมาณที่มากขึ้น โดยจะมีการปรับแนวทางและวิธีการของภาครัฐในการใช้เงินงบประมาณให้เข้มงวดและคุ้มค่าต่อใช้เงินทุกบาท และขณะนี้รัฐบาลอยู่ระหว่างการจัดทำงบประมาณประจำปี 53 ซึ่งยังคงใช้นโยบายขาดดุลงบประมาณอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากรัฐบาลจำเป็นต้องใช้เงินงบประมาณในการดูแลเศรษฐกิจ |
. |
ทั้งนี้ การปรับลดคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจในปี 52 ได้คำนวณรวมไปถึงนโยบายทั้งหมดที่รัฐบาลจะนำออกมาใช้กระตุ้นเศรษฐกิจแล้ว โดยประเมินว่าหากรัฐบาลนิ่งเฉยไม่ดำเนินนโยบายใดๆ เศรษฐกิจปีนี้ก็จะมีโอกาสติดลบมากถึง 8-9% และจะยิ่งส่งผลกระทบทำให้เกิดปัญหาการว่างงาน มีคนตกงานมากถึง 2 ล้านคน ซึ่งเป็นปัญหาที่รัฐบาลกังวลมากที่สุด |
. |
"เศรษฐกิจปีนี้ที่ติดลบ 3% ได้รวมที่รัฐบาลออกมาตรการต่างๆ ไว้แล้ว แต่หากรัฐบาลนิ่งไม่ทำอะไร แค่ส่งออกลดลง จีดีพีก็ลดลงไปแล้ว 5% และยิ่งการบริโภคการลงทุนลดลงอีก จีดีพีก็ลดลงอีก 3-4% ดังนั้นบทบาทของภาครัฐมีผลต่อเศรษฐกิจอย่างมาก"รมว.คลัง กล่าว |
. |
นายกรณ์ กล่าวว่า รัฐบาลพร้อมจะดำเนินการทุกทางตามความจำเป็นและพร้อมจะคิดนอกกรอบ โดยเห็นว่ามีความจำเป็นต้องกู้เงินเพิ่มเติมเพื่อนำมาใช้ในการดูแลเศรษฐกิจ แต่การใช้เงินของรัฐบาลยืนยันว่าจะเป็นไปด้วยความรอบคอบเกี่ยวกับแหล่งที่มาของเงิน วิธีการใช้เงินที่ต้องโปร่งใส ซึ่งนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้ให้นโยบายว่าต้องอยู่ภายใต้กรอบของการดูแลเศรษฐกิจและความเชื่อมั่น ซึ่งจะส่งผลต่อเศรษฐกิจโดยรวมทั้งระยะสั้นและระยะยาว |