เนื้อหาวันที่ : 2009-03-20 13:27:20 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 4749 views

โรงงานน้ำตาลเพิ่มความเข้มข้นรณรงค์ลดการเผาอ้อย

ปัญหาการเผาอ้อยทวีความรุนแรง โรงงานน้ำตาล จึงต้องเพิ่มมาตรการจูงใจถ่างราคารับซื้อ ลดการเผาอ้อย ช่วยลดปัญหามลพิษและภาวะโลกร้อน ตั้งเป้าลดอ้อยไฟไหม้ต่ำกว่า 30% ภายใน 5 ปี

ผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลเพิ่มความเข้มข้นรณรงค์เกษตรกรชาวไร่อ้อยลดการเผาอ้อย ช่วยลดปัญหามลพิษและภาวะโลกร้อน สร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง พร้อมเพิ่มมาตรการจูงใจ ถ่างราคารับซื้อระหว่างอ้อยสดกับอ้อยไฟไหม้ให้กว้างขึ้นอีก  ตั้งเป้าลดสัดส่วนอ้อยไฟไหม้ ต่ำกว่า 30% ภายใน 5 ปี จากปัจจุบันอยู่ที่ 60%             

.

นายชลัช  ชินธรรมมิตร์ ประธานคณะทำงานด้านอ้อยและประสิทธิภาพในการผลิตน้ำตาล บริษัท ไทยชูการ์ มิลเลอร์ จำกัด (TSMC) เปิดเผยว่า ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมาผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมโรงงานน้ำตาลได้ตระหนักถึงปัญหาและหาวิธีการแก้ไขถึงผลกระทบอย่างมหาศาลที่จะเกิดขึ้นโดยตรงต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งนำไปสู่ปัญหาสภาวะโลกร้อนจากการที่เกษตรกรชาวไร่อ้อยนิยมเผาอ้อยก่อนตัด หรือที่เรียกว่า "อ้อยไฟไหม้"            

.

"ปัญหาการเผาอ้อย หรืออ้อยไฟไหม้ก่อให้เกิดมลพิษในอากาศสูง ซึ่งปัญหานี้เกิดขึ้นมากว่า 10 ปีแล้ว แต่ทวีความรุนแรงอย่างมากในช่วง 5 - 6 ปีที่ผ่านมา และมีส่วนทำให้เกิดภาวะโลกร้อน เราในฐานะโรงงานน้ำตาลที่มีส่วนสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของประเทศไทยไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้ช่วยกันรณรงค์ให้ชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสด ไม่เผาอ้อยเพียงแค่หวังว่า ตัดอ้อยได้ง่ายขึ้น แต่ก่อปัญหามากมายโดยเฉพาะผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งถือเป็นความรับผิดชอบต่อสังคม" นายชลัช กล่าว       

.

นอกจากการเผาอ้อยจะทำให้เกิดความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมดังกล่าวแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อน้ำหนักและคุณภาพความหวานของอ้อยที่ส่งเข้าโรงงาน ซึ่งถือเป็นปัญหาอย่างรุนแรงในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย เนื่องจากทำให้ผลผลิตอ้อยและน้ำตาลลดลงอย่างมาก ซึ่งผู้ที่สูญเสียประโยชน์โดยตรงก็คือ เกษตรกรนั่นเอง                                                                                               

.

ดังนั้น แนวทางและมาตรการแก้ไขปัญหาในส่วนของความร่วมมือระหว่างโรงงานน้ำตาลด้วยกัน คือ การรณรงค์ให้เกษตรกรลดการเผาอ้อยอย่างเต็มรูปแบบ ทั้งการให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องถึงผลเสียจากการเผาอ้อย ทั้งในระดับปัญหาสิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจของประเทศ รวมถึงมีมาตรการจูงใจในเรื่องของราคารับซื้อเพื่อเพิ่มช่องว่างราคาระหว่างอ้อยไฟไหม้และอ้อยสด

.

"นอกจากการประชาสัมพันธ์ให้ความรู้แก่ชาวไร่ถึงโทษจากการเผาอ้อยแล้ว เรื่องของมาตรการจูงใจก็เป็นส่วนสำคัญยิ่ง โดยปัจจุบันอ้อยที่ส่งเข้าโรงงานถ้าเป็นอ้อยไฟไหม้ หรืออ้อยที่ชาวไร่เผาจะถูกตัดราคาตันละ 20 บาท แต่ถ้าอ้อยสดจะมีราคาเพิ่มขึ้นจากราคาที่รับซื้อปกติประมาณตันละ 50 บาท คาดว่า ปีหน้าจะเพิ่มเป็น 80 บาท ถือว่า ได้โบนัสจากการไม่เผาอ้อย เป็นการเพิ่มช่องว่างราคาอ้อยไฟไหม้กับอ้อยสดให้สูงขึ้น"

.

ขณะที่ในส่วนของภาครัฐเองถือเป็นหน่วยงานที่มีส่วนสำคัญและมีประสิทธิภาพที่สุดในการแก้ไขปัญหาอ้อยไฟไหม้ ทั้งมาตรการควบคุม คือ การใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด และมาตรการให้การช่วยเหลือ คือ การปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้แก่เกษตรกรในการซื้อเครื่องตัดอ้อย รวมถึงปัญหาแรงงานที่ยังขาดแคลน

.

นายชลัช กล่าวด้วยว่า หากทุกภาคส่วน ทั้งเกษตรกร โรงงานน้ำตาล และรัฐบาลร่วมมือกันอย่างเต็มรูปแบบแล้ว มั่นใจว่า สัดส่วนอ้อยไฟไหม้จะลดลง โดยคาดหวังว่าภายใน 5 ปี สัดส่วนอ้อยไฟไหม้จะเหลือไม่ถึง 30% จากปัจจุบันมีสูงถึง 60% และถือเป็นการแสดงให้โลกได้เห็นว่า ประเทศไทยมีความตั้งใจจริงในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว

.

ซึ่งถ้าทั้งโรงงานและชาวไร่ไม่ร่วมมือกันตั้งแต่ตอนนี้ อนาคตผลผลิตน้ำตาลที่เกิดขึ้นอาจถูกกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศ เป็นการทำลายการส่งออกน้ำตาลของไทยนับเป็นมูลค่าหลายหมื่นล้านบาทได้