เนื้อหาวันที่ : 2009-03-16 15:45:25 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 496 views

ส่งออกเครื่องนุ่งห่มไทยรับมือแข่งเดือดหลังสหรัฐเลิกจำกัดโควตาสินค้าจีน

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า สมาคมผู้นำเข้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มได้เรียกร้องฝ่ายบริหารของสหรัฐฯ ทบทวนนโยบายการค้าเครื่องนุ่งห่ม โดยการกำหนดมาตรการนำเข้าสินค้าทุกประเภทให้เป็นรูปแบบเดียวกันทั้งหมด ทั้งการเก็บภาษีนำเข้าในอัตราสูง การกำหนดโควตานำเข้า และกฎเกณฑ์แหล่งกำเนิดสินค้า ซึ่งล้วนแต่เป็นอุปสรรคต่อการค้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มของสหรัฐฯ หลังจากการจำกัดโควตานำเข้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มจากจีน 22 รายการได้สิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 31 ธ.ค.51                                            

.

สำหรับสินค้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มของจีน 22 รายการ ที่มาตรการจำกัดโควตานำเข้าของสหรัฐฯ สิ้นสุดลงได้แก่ เส้นด้าย, เส้นใยสังเคราะห์, ผ้าผืน, เสื้อสเว็ตเตอร์, กางเกง, ชุดชั้นใน, ผ้าเช็ดตัว, เสื้อเชิ้ตสตรี, เสื้อผ้าเด็ก และ เสื้อสูท เป็นต้น 

.

นางอภิรดี กล่าวว่า หากรัฐบาลสหรัฐฯ เห็นชอบข้อเรียกร้องดังกล่าว นอกจากจะเป็นการเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายให้กับผู้บริโภคชาวอเมริกันครัวเรือนละ 800 ดอลลาร์/ปี และไม่เกิดประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมสิ่งทอภายในของสหรัฐฯ ตามที่ได้คาดหวังไว้แล้ว ยังจะทำให้ผู้ส่งออกไทยต้องประสบปัญหาการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้นในตลาดสหรัฐฯ เพราะจีนถือเป็นคู่แข่งสำคัญของไทย 

.

"ในปี 52 ผู้ประกอบการไทยยังต้องเตรียมรับมือกับสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำที่คาดว่าจะต่อเนื่องอีกในระยะ 2-3 ปีนี้ ซึ่งจะส่งผลโดยตรงต่อกำลังซื้อของผู้บริโภคและคำสั่งซื้อจากผู้นำเข้า ดังนั้น ผู้ประกอบการจะต้องปรับตัวสู้เพื่อรองรับกับสถานการณ์การแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้น พยายามช่วงชิงและรักษาส่วนแบ่งตลาดในสหรัฐฯไว้ รวมทั้งรักษาคุณภาพและพัฒนากระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น" นางอภิรดี กล่าว 

.

ในปี 51 สหรัฐฯ นำเข้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มจากจีนคิดเป็นมูลค่าราว 20,612 ล้านดอลลาร์ ลดลง 3.6% เมื่อเทียบกับปี 50 และจีนครองตลาดถึง 40.9% สินค้าส่วนใหญ่เป็นสินค้าที่ไทยมีศักยภาพในการผลิต ได้แก่ ชุดชั้นใน, กางเกง, เสื้อสเว็ตเตอร์, เสื้อผ้าเด็ก และเส้นด้าย เป็นต้น ซึ่งนอกจากจีนแล้ว เวียดนามและอินโดนีเซียยังเป็นคู่แข่งในตลาดสหรัฐฯ ของไทยเช่นกัน 

.

ขณะที่ในปี 51 ไทยส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มคิดเป็นมูลค่า 7,199 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 3.2% จากปี 50 โดยส่งออกไปสหรัฐฯ เป็นอันดับหนึ่ง คิดเป็นมูลค่า 1,932 ล้านดอลลาร์ ลดลง 2.0%