สศอ. ร่วมกับผู้ประกอบการสิ่งทอไทยบินถกญี่ปุ่น เกาะติด JTEPA หวังสร้างความยั่งยืน หนุนสิ่งทอฯ โตสวนกระแส นำผู้ประกอบการจับคู่เจรจา จีบนักลงทุนย้ายฐานมาไทย ใช้ประโยชน์จากข้อตกลงให้มากที่สุด
สศอ. ร่วมกับผู้ประกอบการสิ่งทอไทยบินถกญี่ปุ่น เกาะติด JTEPA หวังสร้างความยั่งยืน หนุนสิ่งทอฯ โตสวนกระแส นำผู้ประกอบการจับคู่เจรจา จีบนักลงทุนย้ายฐานมาไทย ใช้ประโยชน์จากข้อตกลงให้มากที่สุด |
. |
นายอาทิตย์ วุฒิคะโร ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) และรองโฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนจาก สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมการส่งออก สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ สมาคมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม 8 สมาคม และผู้ประกอบการอีกจำนวนหนึ่ง จะเดินทางไปประเทศญี่ปุ่น เพื่อร่วมประชุม “JTEPA Working Committee (JTEPA WC.)” ซึ่งจะมีตัวแทนผู้ที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มของประเทศญี่ปุ่นทั้งภาครัฐและเอกชนเข้าร่วมประชุมด้วย ในระหว่างวันที่ 22-27 มีนาคม 2552 |
. |
ซึ่งประเทศญี่ปุ่นถือว่าได้มีการลงทุนด้านสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มในไทยมาเป็นระยะเวลานาน โดยมีการจัดตั้งสมาคมหอการค้าญี่ปุ่นในไทย หรือ JCC ที่มีการขึ้นทะเบียนเป็นสมาชิกกว่า 1,300 บริษัท มีการจ้างแรงงานไทยกว่า 650,000 คน ขณะเดียวกันยังมีบริษัทที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนรวมแล้วอีกกว่า 6,000 บริษัท ซึ่งมีแรงงานที่เกี่ยวข้องอีกไม่ต่ำกว่า 1 ล้านคน |
. |
"การประชุมร่วมครั้งนี้จะเป็นการติดตามผลของความร่วมมือ หลังจากข้อตกลง JTEPA เริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปลายปี 2550 รวมทั้งขยายความร่วมมือในด้านต่างๆ ให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง ซึ่งจากการพิจารณาตัวเลขการส่งออกหลังจากข้อตกลงนี้มีผลบังคับใช้ จะเห็นได้ว่ามูลค่าทางการค้าระหว่างกันขยายตัวได้สูงมาก |
. |
โดยมูลค่าการส่งออกของไทยในปี 2551 ที่ผ่านมาในตลาดญี่ปุ่น สิ่งทอมีการขยายตัวสูงถึง 31% ส่วนเครื่องนุ่งห่มขยายตัว 16% ซึ่งถือว่าเป็นการขยายตัวที่สูงมาก ขณะที่ยังมีสินค้าส่งออกที่น่าสนใจคือ กางเกงชั้นในสตรีหรือเด็ก กางเกงยืด และถุงน่อง ที่มีอัตรา การขยายตัวของการส่งออกสูงถึง 32% และคาดว่าในปี 2552 นี้อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มจะมีการขยายตัวไม่ต่ำกว่า 20% ถือเป็นการเติบโตที่สวนกระแสภาวะเศรษฐกิจโลก" |
. |
นายอาทิตย์ กล่าวว่า นอกจากการประชุมร่วม JTEPA WC. แล้วการเดินทางไปเยือนญี่ปุ่นในครั้งนี้จะได้มีการศึกษาดูงานในสถานที่จริงและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างกัน เพื่อหาจุดร่วมในการพัฒนาและใช้ประโยชน์จาก JTEPA ให้มากที่สุดสำหรับทั้ง 2 ประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งฝ่ายญี่ปุ่นจะพาไปดูงานการพัฒนาสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มในด้านต่างๆ |
. |
อาทิ การพัฒนาเส้นใยสิ่งทอ ผ้าผืน การเยี่ยมชมงานแสดงสินค้า JFW (Japan Fashion Week) รวมทั้งศึกษาทิศทางแฟชั่นของญี่ปุ่น ทั้งทางด้านสีสันและการออกแบบที่ตรงตามความต้องการของตลาด ประเพณีวัฒนธรรมการแต่งกายที่ผสมผสานแฟชั่น เพื่อผลิตสินค้าให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้ใช้มากที่สุด |
. |
ตลอดจนการศึกษาระบบตลาดสิ่งทอของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งปัจจุบันมีการนำเข้าจากประเทศจีนสูงถึง 80% โดยญี่ปุ่นเริ่มมีความกังวลเป็นอย่างยิ่งต่อตัวเลขนำเข้าที่กระจุกตัวอยู่เฉพาะจากจีน จึงอยากลดสัดส่วนการนำเข้าจากจีน และหันมานำเข้าในกลุ่มอาเซียนแทน โดยเฉพาะจากประเทศไทย |
. |
นอกจากนี้จะมีการหารือถึงกลยุทธ์ในการเจาะตลาดญี่ปุ่นอย่างเป็นระบบโดยการดูงานในสถานที่จริง อาทิ ร้านค้าย่อย เช่น ISETAN หรือ SPA (Special Store Retailer of Private Label Apparel) ซึ่งเป็นการลดคนกลางออกไป และทำตัวทั้งเป็น Trading และ Wholesale เพื่อลดต้นทุนในการดำเนินการ เช่น UNIGLO เป็นต้น |
. |
"แม้ประเทศญี่ปุ่น จะประสบปัญหาภาวะเศรษฐกิจถดถอยเช่นกัน แต่การบริโภคสินค้าในกลุ่มสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มยังคงมีอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าจากประเทศไทย ซึ่งถือว่าได้รับการยอมรับเป็นอย่างดี ขณะเดียวกันประเทศญี่ปุ่นประสบปัญหาด้านค่าแรงที่ถีบตัวสูงมาก ซึ่งครั้งนี้จะเป็นโอกาสอันดีที่จะได้ชักชวนผู้ประกอบการย้ายฐานการผลิต รวมทั้งงานด้านวิจัยและพัฒนาสิ่งทอมายังประเทศไทย ซึ่งไทยถือว่ามีความพร้อมที่สุดในกลุ่มประเทศอาเซียนด้วยกัน |
. |
เนื่องจากสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มของไทยมีครบวงจร แต่ก็จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเติมเต็มด้านการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ การแลกเปลี่ยนผู้เชี่ยวชาญ การพัฒนาศักยภาพของสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอให้มากขึ้น ขณะเดียวกันผู้ประกอบการที่ไปประชุมร่วมจะได้เจรจาทางการค้าโดยตรง เพื่อเป็นการขยายฐานลูกค้า และกระจายสินค้าให้เพิ่มมากขึ้น เพื่อการเติบโตที่ยั่งยืนของอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มต่อไป" นายอาทิตย์ กล่าว |