เนื้อหาวันที่ : 2009-03-12 16:17:42 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1224 views

ม.หอการค้าไทย เผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน ก.พ.อยู่ที่ 67.2

ศูนย์พยากร์เศรษฐกิจและธุรกิจ ม. หอการค้าไทย เผยผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค เดือน ก.พ. 52 อยู่ที่ 67.2 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสการหางาน 66.5 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ 88.5

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคประจำเดือน ก.พ.52 อยู่ที่ 67.2 ลดลงจากเดือน ม.ค.52 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 68.3 ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสการหางานทำอยู่ที่ 66.5 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ 88.5                                                                   

.

ปัจจัยบวกต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค คือ การออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ 18 มาตรการ นำโดยการเพิ่มงบประมาณกลางปี 1.15 แสนล้านบาท, คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.50% มาอยู่ที่ 1.50%

.

ขณะที่ปัจจัยลบ คือ ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศยังปรับตัวเพิ่มขึ้น, สภาพัฒน์ประกาศตัวเลข GDP ไตรมาส 4/51 ติดลบ 4.3% ต่ำสุดในรอบ 10 ปี และแนวโน้ม GDP ปี 52 ที่คาดว่าจะติดลบ 1 ถึง 0%, ค่าเงินบาทอ่อนค่า, ผู้บริโภคยังกังวลปัญหาค่าครองชีพ และความวิตกกังวลเกี่ยวกับเสถียรภาพทางการเมืองไทยในอนาคต

.

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์ฯ กล่าวว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนก.พ.ลดลงทุกรายการเป็นครั้งแรกในรอบ 3 เดือน เนื่องจากความกังวลในสถานการณ์เศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกที่ปรับตัวในทิศทางที่แย่ลงอย่างต่อเนื่อง จึงส่งผลให้เกิดความกังวลว่าการจ้างงานจะแย่ลงตามภาวะเศรษฐกิจ 

.

 ศูนย์พยากรณ์ฯ คาดว่าการบริโภคยังคงไม่ขยายตัวมากนักไปจนถึงไตรมาส 3 ของปีนี้ เนื่องจากความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทุกรายการยังอยู่ในระดับต่ำกว่าปกติที่ 100 ดังนั้น รัฐบาลควรกระตุ้นเศรษฐกิจให้ปรับตัวดีขึ้นและเห็นเป็นรูปธรรมตั้งแต่ไตรมาส 2/52 เป็นต้นไป      

.

พร้อมทั้งออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมเพื่อให้เกิดการจ้างงานและสามารถฟื้นความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเพื่อช่วยผลักดันให้การบริโภคและการลงทุนของภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ 

.

"ดัชนีความเชื่อมั่นทุกรายการลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 3 เดือน สะท้อนได้ชัดว่าผู้บริโภคกังวลปัญหาเศรษฐกิจโดยรวม ข่าวเศรษฐกิจในเชิงลบเริ่มออกมามากขึ้นทั้งจีดีพี ตัวเลขส่งออก ซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้ผูบริโภคมองว่าเศรษฐกิจในอนาคตจะเลวร้ายมากขึ้น เรากังวลว่าถ้าความคาดหวังในอนาคตทรุดตัวลงมากกว่าปัจจุบัน จะเป็นแรงฉุดดัชนีความเชื่อมั่นใหห้ลงเร็วและแรง"นายธนวรรธน์ กล่าว  

.

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคจะมีแนวโน้มปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องไปจนถึงไตรมาส 3/52 เนื่องจากสัญญาณการส่งออกที่ชะลอตัวลง โดยคาดว่าไตรมาส 1/52 การส่งออกยังติดลบ 25-30% และไตรมาส 2/52 อาจติดลบ 20%

.

นอกจากนั้น ปัจจัยความกังวลต่อปัญหาการเลิกจ้างของสถานประกอบการต่าง ๆ ทำให้ผู้บริโภคเริ่มไม่แน่ใจกับรายได้ในอนาคต ส่งผลให้ชะลอการจับจ่ายใช้สอย ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศสำคัญคือภาวะเศรษฐกิจโลกที่ถดถอยและทรุดตัวลงอย่างเร็วและรุนแรง เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะส่งผลให้เศรษฐกิจของประเทศชั้นนำรายใหหญ่ถดถอยด้วยเช่นกัน 

.

"ภาพอนาคตในเรื่องความรุนแรงของตัวเลขเศรษฐกิจมีน้ำหนักสูงกว่าที่คาด รัฐบาลตั้งงบขาดดุลปีนี้ไว้แสนกว่าล้านบาทอาจจะไม่เพียงพอรอบรับความรุนแรงของระบบเศรษฐกิจ ดังนั้นหากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลสามารถเห็นเป็นรูปธรรมได้ในไตรมาส 2 รวมทั้งการออกมาตรการที่ดูแลการจ้างงาน การท่องเที่ยว ที่เห็นผลก็จะพยุงให้ความเชื่อมั่นไม่ทรุดตัวลงได้"นายธนวรรธน์ กล่าว  

.

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าความเชื่อมั่นผู้บริโภคจะเริ่มฟื้นตัวในช่วงปลายไตรมาส 3 ตามภาวะเศรษฐกิจที่เริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัวเช่นกัน