เนื้อหาวันที่ : 2009-03-12 16:07:07 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2319 views

จากวิกฤติเศรษฐกิจโลกสู่วิกฤติการจ้างงานไทย : ไฟไหม้ฟางที่ยังไม่รู้วันดับ

วิกฤติเศรษฐกิจครั้งนี้ส่งผลให้การส่งออกสินค้าและบริการหดตัวรุนแรง การผลิตสินค้าอุตสาหกรรมและอัตราการใช้กำลังการผลิตลดลงอย่างมาก สินค้าคงคลังเพิ่มขั้นอย่างรวดเร็ว ภาคการผลิตต้องปรับลดกะชั่วโมงการทำงานและปลดคนงาน หากสถานการณ์เลวร้ายมากขึ้น ท้ายสุดคือโรงงานขาดทุน เลิกจ้างงานและปิดกิจการลง

วิกฤติเศรษฐกิจครั้งนี้ส่งผลให้การส่งออกสินค้าและบริการหดตัวรุนแรง การผลิตสินค้าอุตสาหกรรมและอัตราการใช้กำลังการผลิตลดลงอย่างมาก สินค้าคงคลังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ภาคการผลิตต้องปรับลดกะชั่วโมงการทำงานและ/หรือปลดคนงาน หากสถานการณ์เลวร้ายมากขึ้น ท้ายสุดคือโรงงานขาดทุน เลิกจ้างแรงงานและปิดกิจการลง ดังนั้น เราควรสนใจและเฝ้าระวังภาคการจ้างงานควบคู่กับการดู GDP ด้วย     

.

แรงงานที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง ประกอบด้วย ภาคอุตสาหกรรม 4 กลุ่ม ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ สิ่งทอ ยานยนต์ เฟอร์นิเจอร์และเครื่องประดับ (ซึ่งมีแรงงานรวมกัน 2.5 ล้านคน) และภาคบริการ 3 สาขา ได้แก่ โรงแรมและภัตตาคาร ขนส่ง และก่อสร้าง (ซึ่งมีแรงงานรวมกัน 8.3 ล้านคน) 

.

มีสัญญาณบ่งชี้ว่าเริ่มมีการลดชั่วโมงการทำงานลงแล้ว โดยมีการลดชั่วโมงการทำงานในกลุ่มแรงงานที่ทำงานมากกว่า 50 ชั่วโมง และระหว่าง 40-49 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ต่างก็ปรับตัวลดลง แต่ไปเพิ่มจำนวนในกลุ่มที่มีชั่วโมงการทำงานต่ำกว่า 30 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ เป็นจำนวนมากถึง 931.9 พันคน 

.

เมื่อพิจารณาไตรมาส 4 ปี 2551 พบว่าจำนวนผู้ว่างงานเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน จำนวน 86.0 พันคน หรือขยายตัวสูงถึงร้อยละ 20.6 ต่อปี สะท้อนให้เห็นว่าผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจโลกในปี2551 เริ่มส่งผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจจริงของไทยและส่งผลกระทบต่อการลดการจ้างงานอย่างชัดเจน 

.

จากแบบจำลองของ สศค. พบว่าหากอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยลดลงร้อยละ 1.0 ต่อปี จะส่งผลให้การจ้างงานลดลงจำนวน 555,000 คน ในเชิงนโยบายหากรัฐบาลไม่ต้องการให้คนจำนวนนี้ถูกเลิกจ้าง รัฐบาลจำเป็นต้องกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศเพื่อไม่ให้เศรษฐกิจไทยหดตัวมากนัก  

.
1. โจทย์ใหญ่ของเศรษฐกิจไทยในปี 2552 คือ ต้องให้ความสำคัญกับการจ้างงานควบคู่กับ GDP 

เมื่อครั้งวิกฤติเศรษฐกิจไทยปี 2540-2541 หรือที่เรียกว่า “วิกฤติต้มยำกุ้ง” ส่งผลให้มีคนว่างงานสูงถึง 1.4 ล้านคน คิดเป็นอัตราการว่างงานสูงถึงร้อยละ 4.4 ของกำลังแรงงานรวม มาบัดนี้เศรษฐกิจไทยเผชิญกับวิกฤติเศรษฐกิจรอบใหม่ที่มีต้นตอจากเศรษฐกิจสหรัฐฯ หรือที่เรียกว่า “วิกฤติแฮมเบอเกอร์” และลุกลามไปทั่วโลกอย่างรวดเร็ว วิกฤติเศรษฐกิจครั้งนี้ส่งผลให้ห่วงโซ่ด้านอุปทานในทุกประเทศรวมทั้งไทยเผชิญมหันตภัยเดียวกันคือ การส่งออกสินค้าและบริการหดตัวรุนแรง          

.

การผลิตสินค้าอุตสาหกรรมและอัตราการใช้กำลังการผลิตลดลงอย่างมาก สินค้าคงคลังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ภาคการผลิตต้องปรับลดกะชั่วโมงการทำงานและ/หรือปลดคนงาน ท้ายที่สุดคือโรงงานขาดทุน เลิกจ้างแรงงานและปิดกิจการลง เมื่อแรงงานไม่มีงานทำการบริโภคการลงทุนจะชะลอตัวตามมา อุปมาอุปมัยเหมือนไฟไหม้ฟาง และที่สำคัญไม่รู้ว่าจะดับลงเมื่อใด 

.

ผู้คนส่วนใหญ่จึงตั้งคำถามว่า วิกฤติเศรษฐกิจโลกที่ลุกลามเข้ามาในเศรษฐกิจไทยจะส่งผลกระทบต่อการจ้างงานของไทยมากน้อยเพียงใด จะเทียบเท่ากับวิกฤติเศรษฐกิจไทยในปี 2540-2541 หรือไม่ และแรงงานกลุ่มไหนคือกลุ่มเสี่ยงต่อการลดกะการทำงานและหรือปลดออกจากงานมากที่สุด 

.

ล่าสุดสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) คาดการณ์ว่าแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2552 จะหดตัวลงเป็นครั้งแรกในรอบ 10 ปี เทียบกับปี 2551 ที่เศรษฐกิจไทยขยายตัวร้อยละ 2.6 ต่อปี โดยในไตรมาส 4 ปี 2551 หดตัวถึงร้อยละ -4.3 ต่อปี และเป็นการหดตัวในภาคอุตสาหกรรมและบริการถึงร้อยละ -6.8 และ -3.7 ต่อปี ตามลำดับ

.

ซึ่งสอดรับกับการลดลงของการจ้างงานและการเพิ่มขึ้นของคนว่างงาน แม้ว่าภาคเกษตรจะสามารถดูดซับแรงงานที่ถูกเลิกจ้างจากภาคอุตสาหกรรมได้ดีระดับหนึ่งก็ตาม ดังนั้น เราควรสนใจและเฝ้าระวังภาคการจ้างงานควบคู่กับการดู GDP ด้วย สศค. จึงได้จัดทำบทวิเคราะห์นี้ขึ้นเพื่อเฝ้าติดตามสถานการณ์ไฟไหม้ฟางนี้อย่างใกล้ชิด เพื่อประกอบการตัดสินใจเชิงนโยบายที่จะมีขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้       

.
2. จับตาดูสถานการณ์ล่าสุดภาพรวมการจ้างงานของไทยแยกตามภาคการผลิต          

รวมถึงแรงงานกลุ่มเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจโลก และการหดตัวลงของเศรษฐกิจภายในประเทศ โดยแรงงานกลุ่มเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบดังกล่าวส่วนใหญ่อยู่ในภาคอุตสาหกรรมที่เน้นผลิตเพื่อการส่งออก (เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ สิ่งทอ ยานยนต์ เฟอร์นิเจอร์และเครื่องประดับ) รวมทั้งแรงงานในภาคบริการ 3 สาขา (เช่น โรงแรมและภัตตาคาร ขนส่ง และก่อสร้าง) 

.

ปี 2551 การจ้างงานเฉลี่ยของไทยอยู่ที่ 37 ล้านคน มีการจ้างงานเพิ่มขึ้นเฉลี่ยเดือนละ 7.0 แสนคน หรือคิดเป็นอัตราการขยายตัวร้อยละ 1.9 ต่อปี เมื่อพิจารณาในภาคอุตสาหกรรมจะพบว่ามีการจ้างงานลดลงต่อเนื่องมาแล้ว 8 เดือน สะท้อนให้เห็นว่าวิกฤตเศรษฐกิจได้ลงสู่ภาคเศรษฐกิจจริงอย่างชัดเจนแล้วในภาคอุตสาหกรรม 

.

ปัจจุบันเศรษฐกิจไทยถูกขับเคลื่อนโดยภาคการส่งออกเป็นหลัก โดยส่วนใหญ่เป็นสินค้าอุตสาหกรรม ซึ่งจะเห็นได้จากตัวเลขสัดส่วนการส่งออกและบริการสินค้าที่ร้อยละ 70 ของ Nominal GDP เมื่อเกิดวิกฤติเศรษฐกิจโลกทำให้อุปสงค์ของสินค้าอุตสาหกรรมแต่ละประเทศลดลง ส่งผลให้ภาคการผลิตต้องลดกำลังการผลิตและกระทบไปยังแรงงานในภาคการผลิตอุตสาหกรรมมีการจ้างงานที่ 5.7 ล้านคน หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 15.5 ของการจ้างงานรวม พบว่า ในปี 2551 มีการจ้างงานลดลงเฉลี่ยเดือนละ 1.9 แสนคนหรือคิดเป็นการหดตัวร้อยละ -3.1 ต่อปี 

.

ทั้งนี้ การจ้างงานภาคอุตสาหกรรมหดตัวลงอย่างต่อเนื่องติดต่อกันเป็นเดือนที่ 8 นับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2551 สาเหตุที่การจ้างงานภาคอุตสาหกรรมหดตัวลง เนื่องมาจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่เริ่มชะลอตัวลงได้ฉุดให้การส่งออกสินค้าของประเทศไทยหดตัวลง มาก จนส่งผลให้ปริมาณการส่งออกสินค้าของไทยไปต่างประเทศ และดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม (MPI) ในไตรมาสที่ 4 ปี 2551 หดตัวลงถึงร้อยละ -14.6 และ -9.7 ต่อปี

.

นอกจากนี้ อุปสงค์ภายในประเทศยังคงอ่อนแอมาก โดยเฉพาะการลงทุนและการบริโภคภาคเอกชนที่ชะลอตัวลงตามปัญหาความไม่สงบทางการเมือง ยังส่งผลให้ยอดคำสั่งซื้อสินค้าลดลง ซึ่งทั้ง 2 ปัจจัยส่งผลให้ผู้ประกอบการลดกำลังการผลิตและลดจำนวนการจ้างงานลง อุตสาหกรรมสำคัญประกอบด้วย ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ สิ่งทอเครื่องแต่งกาย ยานยนต์ และเฟอร์นิเจอร์และเครื่องประดับ

.

ทั้ง 4 อุตสาหกรรมดังกล่าวเป็นอุตสาหกรรมที่ผลิตเพื่อส่งออกเป็นหลัก ดังนั้นจึงได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจโลกที่ส่งผลให้ความต้องการสินค้าส่งออกจากประเทศไทยลดลงตามรายได้ของประเทศคู่ค้าที่ชะลอตัวลง ซึ่งใน 4 อุตสาหกรรมหลักที่ผลิตเพื่อการส่งออกมีจำนวนแรงงานทั้งสิ้นประมาณ 2.5 ล้านคน 

.

o กลุ่มอุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า ซึ่งรวมถึงการผลิตสินค้าประเภทเครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ แผงวงจรไฟฟ้า เครื่องรับวิทยุโทรทัศน์ เครื่องปรับอากาศ ตู้เย็นเครื่องวิดีโอ และเครื่องเสียง อุตสาหกรรมนี้มีสัดส่วนในมูลค่าสินค้าส่งออกถึงร้อยละ 27.6 และมีสัดส่วนในผลผลิตภาคอุตสาหกรรมร้อยละ 17.9 ในปี 2551

อุตสาหกรรมนี้มีจำนวนการจ้างงานทั้งสิ้นเฉลี่ย 474,011 คน ลดลงจากปี 2550 จำนวน 46,120 คน หรือคิดเป็นการหดตัวลงร้อยละ -8.9 ต่อปี อุตสาหกรรมนี้จัดว่ามีความเสี่ยงมากที่สุดที่จะมีการเลิกจ้างแรงงานเพราะทั้งมูลค่าการส่งออกและปริมาณผลผลิตหดตัวลงอย่างมากโดยในเดือน มกราคม 2552 มูลค่าการส่งออกและปริมาณผลผลิตหดตัวลงแล้วร้อยละ -3.8 และ -45 ต่อปีตามลำดับ                               

o กลุ่มอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ซึ่งรวมถึงการผลิตสินค้าประเภทเสื้อผ้าสำเร็จรูป ชุดชั้นใน ถุงเท้า ถุงน่อง และถุงมือผ้า ในปี 2551 อุตสาหกรรมนี้มีจำนวนการจ้างงานทั้งสิ้นเฉลี่ย 1,125,202 คน ลดลงจากปี 2550 จำนวน 38,300 คน หรือคิดเป็นการหดตัวลงร้อยละ -3.3 ต่อปี 

o กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งรวมถึงการผลิตสินค้าประเภทรถยนต์นั่ง รถปิกอัพรถบรรทุก รถจักรยานยนต์ และรถจักรยาน อุตสาหกรรมนี้มีสัดส่วนในมูลค่าสินค้าส่งออกร้อยละ10.1 และมีสัดส่วนในผลผลิตภาคอุตสาหกรรมร้อยละ 5.4 ในปี 2551 อุตสาหกรรมนี้มีจำนวนการจ้างงานทั้งสิ้นเฉลี่ย 336,210 คน* ลดลงจากปี 2550 จำนวน 9,979 คน หรือคิดเป็นการหดตัวลงร้อยละ -2.9 ต่อปี 

อุตสาหกรรมนี้ชี้ชัดว่ามีความเสี่ยงสูง ที่จะมีการเลิกจ้างแรงงาน เพราะมูลค่าการส่งออกและปริมาณผลผลิตยานยนต์หดตัวลงมากในเดือนมกราคม 2552 ที่ร้อยละ -34.5 และ -35.6 ต่อปีตามลำดับ นอกจากนั้นบริษัทรถยนต์ต่างๆ มีแผนการปรับลดการผลิตลงตามบริษัทแม่ในต่างประเทศแล้ว 

o กลุ่มอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์และเครื่องประดับ ซึ่งรวมถึงการผลิตเฟอร์นิเจอร์ไม้ชิ้นส่วนเฟอร์นิเจอร์ เฟอร์นิเจอร์โลหะ เครื่องประดับแท้ และเครื่องประดับอัญมณีเทียม ในปี 2551 อุตสาหกรรมนี้มีจำนวนการจ้างงานทั้งสิ้นเฉลี่ย 565,333 คน ลดลงจากปี 2550 จำนวน 49,167 คน หรือคิดเป็นการหดตัวลงร้อยละ -8.0 ต่อปี       

ภาคเกษตรมีการจ้างงานมากที่สุดถึง 14.2 ล้านคน หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 38.5 ของการจ้างงานรวม คิดเป็นการจ้างงานเพิ่มขึ้นเฉลี่ยเดือนละ 2.7 แสนคน หรือขยายตัวร้อยละ 2.0 ต่อปี สาเหตุการจ้างงานภาคเกษตรมีการขยายตัวได้ดีช่วงครึ่งแรกของปี 2551 เนื่องจากราคาสินค้าเกษตรปรับตัวสูงขึ้นมากจึงเป็นสาเหตุจูงใจเกษตรกรให้เพาะปลูกเพิ่มขึ้นและส่งผลให้การจ้างงานในภาคเกษตรปรับตัวสูงขึ้นตามนอกจากนี้ภาคเกษตรยังสามารถดูดซับแรงานที่ถูกเลิกจ้างจากภาคอุตสาหกรรมได้ระดับหนึ่ง

และเมื่อถึงฤดูว่างเว้นจากการผลิตภาคเกษตร แรงงานจะเคลื่อนย้ายกลับไปภาคอุตสาหกรรมอีกครั้งหนึ่ง   การจ้างงานภาคบริการ ซึ่งประกอบด้วย สาขาการค้าส่งค้าปลีก สาขาโรงแรมและภัตตาคารสาขาก่อสร้าง สาขาการขนส่ง สาขาบริหารราชการแผ่นดิน สาขาการศึกษา สาขาอสังหาริมทรัพย์ และสาขาการเงินการธนาคาร ซึ่งมีจำนวนการจ้างงานภาคบริการรวมทุกสาขาอยู่ที่ 17.0 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 45.9 ของการจ้างงานรวม

 โดยในปี 2551 ภาคบริการมีการจ้างงานเพิ่มขึ้นเฉลี่ยเดือนละ 6.2 แสนคน หรือคิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 3.8 ต่อปี อย่างไรก็ตาม พบว่าผลจากวิกฤติเศรษฐกิจโลก และเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองภายในประเทศจนมีการปิดสนามบินสุวรรณภูมิ ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวที่มายังประเทศไทยเริ่มหดตัวลงตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2551 ได้ส่งผลให้มีการจ้างงานในสาขาโรงแรมและภัตตาคารเพิ่มขึ้นน้อยกว่าที่ควรจะเป็นในไตรมาสที่ 4 ปี 2551

ทั้งนี้ ภาคบริการที่น่าจับตามองอย่างใกล้ชิดได้แก่ สาขาโรงแรมและภัตตาคาร คมนาคมขนส่ง และก่อสร้าง จำนวนแรงงานภาคบริการที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงต่อการลดการจ้างงานทั้ง 3 สาขา มีจำนวนแรงงานทั้งสิ้นประมาณ 8.3 ล้านคน 

ทั้งนี้ แรงงานที่มีความเสี่ยงจะถูกปลดออกจากงานเป็นอันดับแรก คือ แรงงานในบริษัทรับเหมาช่วง (Sub-contract) ระยะสั้น เนื่องจากมักจะไม่อยู่ในระบบสหภาพแรงงาน ทำให้สามารถเลิกการจ้างงานได้ง่าย และแรงงานในสถานประกอบการขนาดเล็กเนื่องจากได้รับผลกระทบจากวิกฤติทางเศรษฐกิจมากกว่าสถานประกอบการขนาดใหญ่ 

o กลุ่มบริการที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว ซึ่งได้รับผลกระทบจากปัญหาความไม่สงบทางการเมืองในช่วงปลายปี 2551 จนทำให้ต้องปิดสนามบินสุวรรณภูมิ ได้ส่งผลให้นักท่องเที่ยวขาดความเชื่อมั่นที่จะมาท่องเที่ยวในประเทศไทยในปี 2552 ประกอบกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่ส่งผลให้การใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวที่มาท่องเที่ยวในประเทศไทยลดลง

จะทำให้การจ้างงานในหมวดโรงแรมและภัตตาคารซึ่งมีจำนวนประมาณ 2.4 ล้านคน อยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่จะมีการลดการจ้างงานในปี 2552 นอกจากนี้ ยังอาจส่งผลให้แรงงานที่อยู่ในอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว เช่น การขนส่ง อีกจำนวนประมาณ 1.2 ล้านคน ให้ได้รับผลกระทบด้วย ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่าในไตรมาสที่ 4 ของปี 2551 การจ้างงานในสาขาการผลิตที่เกี่ยวเนื่องกับภาคการท่องเที่ยวลดลงโดยสุทธิแล้วถึง -184.0 พันคน         

 o กลุ่มบริการภาคก่อสร้าง คาดว่าจะมีแนวโน้มชะลอตัวลงตามอุปสงค์ภายในประเทศที่ลดลง โดยพบว่าในไตรมาสที่ 4 ปี 2551 ที่ผ่านมานั้น การลงทุนของภาครัฐและเอกชนหดตัวลงร้อยละ -10.2 และ -1.3 ต่อปี ตามลำดับ เมื่อพิจารณาเฉพาะการลงทุนในภาคก่อสร้างของภาครัฐและเอกชนพบว่าหดตัวลงสูงถึงร้อยละ -26.2 และ -0.7 ต่อปีตามลำดับ ตามปัญหาเสถียรภาพทางการเมืองภายในประเทศ และความกังวลเกี่ยวกับความผันผวนของภาวะเศรษฐกิจ

ดังนั้นส่งผลให้โครงการลงทุนภาครัฐล่าช้าและภาคเอกชนเลื่อนการลงทุนใหม่ๆ ออกไปก่อนทำให้แรงงานภาคก่อสร้างในอนาคตจึงมีความเสี่ยงสูงที่จะถูกลดการจ้างงานในลำดับต่อไป โดยเห็นได้จากสองเดือนสุดท้ายของปี 51 พบว่าการจ้างงานในภาคก่อสร้างลดลงจาก 264.9 พันคน ในเดือนพฤศจิกายน 2551 เป็น 179.9 พันคน ในเดือนธันวาคม 2551 คิดเป็นการลดลงทั้งสิ้นจำนวน 222.4 พันคน          

.
3. มีสัญญาณบ่งชี้ว่าเริ่มมีการลดชั่วโมงการทำงานลงแล้ว 

เมื่อพิจารณาในปี 2551 จำนวนการจ้างงานของกลุ่มที่มีจำนวนชั่วโมงการทำงานตั้งแต่ 30-34 และกลุ่มที่ต่ำกว่า 35 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ มีจำนวนลดลง 31.7 และ 232.6 พันคน จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ ในขณะที่การจ้างงานที่มีจำนวนชั่วโมงการทำงานสูงกว่า 35 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ขึ้นไปยังมีจำนวนเพิ่มขึ้น

.

อาจมีสาเหตุจากในช่วงครึ่งปีแรก ภาวะเศรษฐกิจโดยรวมยังขยายตัวได้ดี ปริมาณการส่งออกสินค้าและปริมาณการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมขยายตัวสูงมาก อัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ในระดับสูงและการเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวของชาวต่างชาติขยายตัวสูงมาก ทำให้ผู้ประกอบการเร่งทำการผลิต และต้องจ้างงานเพิ่มหรือเพิ่มชั่วโมงการทำงานต่อสัปดาห์                                      

.

อย่างไรก็ดี ในช่วงไตรมาสที่ 4 ปี 2551 การจ้างงานในกลุ่มที่มีจำนวนชั่วโมงการทำงานสูงกว่า 50 ชั่วโมงต่อสัปดาห์เริ่มมีการปรับตัวลดลง 339.7 พันคน จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเดือนพฤศจิกายนและธันวาคม 2551 ลดลง 646.8 และ 620.5 พันคน เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

.

อาจมีสาเหตุจากการหดตัวของอุปสงค์ในสินค้าและบริการของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย ตลอดจนการปิดสนามบินสุวรรณภูมิในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนถึงต้นเดือนธันวาคม 2551 มีผลให้ผู้ประกอบการตัดสินใจปรับลดกำลังการผลิตและชั่วโมงการทำงานของแรงงานงานภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการบางกลุ่ม 

.

เมื่อมีการลดชั่วโมงการทำงาน จำนวนการจ้างงานที่อยู่ในกลุ่มมากกว่า 50 ชั่วโมงและระหว่าง 40-49 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ก็ปรับตัวลดลง แต่ไปเพิ่มจำนวนในกลุ่มที่มีชั่วโมงการทำงานต่ำกว่า 30 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ เป็นจำนวนมากถึง 931.9 พันคน เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และหากเศรษฐกิจไม่ฟื้นตัวจำนวนการจ้างงานที่มีชั่วโมงน้อยๆ ก็จะเพิ่มขึ้น และหากสถานการณ์เลวร้ายมากขึ้น จะมีการปลดลดคนงานประเภทจ้างเหมาออก (Sub-contract) เช่น ในบางกลุ่มอุตสาหกรรมและบริการ

.
4. อัตราการว่างงานในปีที่ผ่านมายังอยู่ในระดับต่ำ แต่จะสูงขึ้นในปี 2552 

อัตราการว่างงานในปี 2551 อยู่ที่ร้อยละ 1.4 ของกำลังแรงงาน ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบวิกฤติเศรษฐกิจปี 2541 ที่อัตราการว่างงานสูงถึงร้อยละ 4.4 ของกำลังแรงงาน แต่คาดว่าในปี2552 อัตราการว่างงานจะเพิ่มตามภาวะเศรษฐกิจที่หดตัว โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมที่มีการลดชั่วโมงการทำงานลง หากสถานการณ์เลวร้ายลงจะนำไปสู่การปลดคนงาน เลิกจ้างและถ้าคนงานเหล่านั้นไม่สามารถหางานใหม่ทำได้ ก็จะถูกบันทึกเป็นผู้ว่างงาน 

.

ปี 2551 ประเทศไทยมีจำนวนผู้ว่างงานจำนวน 5.1 แสนคน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 12.5 พันคน คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 2.5 ต่อปี และเมื่อพิจารณาในรายละเอียดพบว่า ผู้ว่างงานในภาคอุตสาหกรรมมีการว่างงานเพิ่มขึ้น 8.2 พันคน คิดเป็นอัตราการขยายตัวร้อยละ 10.5 ต่อปี และภาคค้าส่งค้าปลีกมีการว่างงานเพิ่มขึ้น 10.9 พันคน คิดเป็นอัตราการขยายตัวร้อยละ 25.9 ต่อปี

.

อันเป็นผลมาจากภาวะเศรษฐกิจโดยรวมของไทยและต่างประเทศที่ชะลอตัวลงได้ส่งผลให้ยอดคำสั่งซื้อสินค้าอุตสาหกรรมและการค้าขายสินค้าลดลง ทำให้ผู้ประกอบการจำเป็นต้องลดกำลังการผลิตลงและจำเป็นต้องลดการจ้างงานในส่วนที่ไม่จำเป็นออกไป โดยเฉพาะแรงงานรับเหมาช่วง (sub-contract)                            

.

เมื่อพิจารณาไตรมาส 4 ปี 2551 พบว่าจำนวนผู้ว่างงานเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน จำนวน 86.0 พันคน หรือขยายตัวสูงถึงร้อยละ 20.6 ต่อปี สะท้อนให้เห็นว่าผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจโลกในปี 2551 เริ่มส่งผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจจริงของไทยและส่งผลกระทบต่อการลดการจ้างงานอย่างชัดเจน โดยเฉพาะในเดือนธันวาคม 2551 มีผู้ว่างงานเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนถึง 1.0 แสนคน หรือเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 25.8 ต่อปี และเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างมากเกือบทุกสาขาเศรษฐกิจ

.
5. หากอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยลดลงทุกๆ ร้อยละ 1.0 ต่อปี จะทำให้จำนวนการจ้างงานลดลง 555,000 คน 

สำหรับปี 2552 สศค. คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะหดตัวลงจากที่คาดการณ์ไว้เดิม ที่เทียบกับปี 2551 ที่ขยายตัวร้อยละ 2.6 ต่อปี เนื่องจากปัญหาการหดตัวของเศรษฐกิจโลกทวีความรุนแรงขึ้น การผลิตสินค้าและบริการต้องหยุดชะงักเพราะสินค้าคงคลังมีปริมาณสูงขึ้น อัตราการใช้กำลังการผลิตลดลงอย่างรวดเร็ว การเลิกจ้างงานแรงงานจะสูงขึ้นตามมา

.

ประกอบกับอุปสงค์ภายในประเทศและภาคการท่องเที่ยวที่ยังไม่ฟื้นตัว ทำให้ต้องประเมินผลกระทบว่า หากอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจลดลง จะกระทบการจ้างงานมากน้อยเพียงใด จากแบบจำลองของ สศค. พบว่า หากอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจลดลงร้อยละ 1.0 ต่อปี จะส่งผลให้การจ้างงานของไทยลดลงจำนวน 555,000 คน 

.

หากรัฐบาลต้องการรักษาระดับการจ้างงานไม่ให้ลดลงมากเกินไป จำเป็นต้องอัดฉีดเม็ดเงินรายจ่ายภาครัฐลงสู่ระบบเศรษฐกิจ ผ่านรายจ่ายงบประมาณแผ่นดิน และโครงการลงทุน Mega Projects เพื่อให้เกิดการจ้างงานกลับเข้ามาในระบบเศรษฐกิจ ดังนั้น รัฐบาลจำเป็นต้องกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อดูแลไม่ให้เศรษฐกิจไทยหดตัวมากนัก และรักษาระดับการจ้างงานไว้ให้ได้