กลุ่มตัวแทนชาวบ้านจังหวัดระยอง ที่ได้รับผลกระทบ และกลุ่มเครือข่ายต่างๆ ที่ต่อต้านมลพิษ ยื่นจดหมายเปิดผนึกถึงสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ประณามการให้ข่าวที่บิดเบือน ขาดข้อมูลหลักฐาน และไม่สร้างสรรค์ กรณีให้มาบตาพุดและบ้านฉางเป็นเขตควบคุมมลพิษ
|
ทางสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ได้ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่วันที่ 3 มีนาคม 2552 จนถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะนายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล รองประธานสายงานอุตสาหกรรม นายศุภชัย วัฒนางกูร ประธานกลุ่มปิโตรเคมี นายชายน้อย เผื่อนโกสุม ประธานกลุ่มโรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม และ นายสุวิทย์ ชื่นปิยะวาจา ประธานสภาอุตสาหกรรม จังหวัดระยอง |
โดยอ้างว่า โรงงานใหญ่ๆ ทำตามมาตรฐานมลพิษอย่างเข้มงวด และลงทุนปรับลดมลพิษไปมากแล้ว แต่คำพิพากษาของศาลปกครองระยองชี้ว่า ปัญหามลพิษยังไม่มีแนวโน้มลดลง ตรงกันข้ามกลับมากขึ้นกว่าเดิม โดยดำเนินการแก้ไขปัญหามานานแล้ว แต่ยังไม่สามารถควบคุมและขจัดมลพิษได้ โดยการศึกษาของสถาบันมะเร็งแห่งชาติชี้ว่า การเกิดโรคมะเร็งทุกชนิดและมะเร็งเม็ดเลือดขาวของอำเภอเมือง สูงกว่าอำเภออื่นๆ เป็น 3 เท่า และ 5 เท่า |
อ้างว่า แผนลดและขจัดมลพิษที่ท้องถิ่นจัดทำ อาจไม่เป็นที่ยอมรับ หรือผิดแปลกไปจากปัจจุบัน ส่งผลต่อภาพลักษณ์และความรู้สึกของนักลงทุน แต่ พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม 2535 มาตรา 37 ระบุว่า ผู้ว่าราชการจังหวัดจะรวมแผนลดและขจัดมลพิษที่ท้องถิ่นจัดทำเข้าในแผนสิ่งแวดล้อมจังหวัด และเสนอขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ |
อ้างว่า การประกาศเขตควบคุมมลพิษ จะกระทบต่อการลงทุน โดยทำให้หยุดชะงัก และย้ายฐานการลงทุนไปประเทศอื่น แต่การวิเคราะห์การเติบโตทางเศรษฐกิจของ 12 จังหวัดที่ประกาศเป็นเขตควบคุมมลพิษแล้ว ไม่กระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจแต่อย่างใด ในบางกรณี เช่น สมุทรปราการและสระบุรี เศรษฐกิจเติบโตสูงกว่าก่อนการประกาศเขตควบคุมมลพิษ ในขณะที่สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ไม่ยอมแสดงข้อมูลหลักฐานที่เชื่อถือได้แต่อย่างใด ได้แต่กล่าวอ้างอย่างเลื่อนลอยมาหลายปีแล้ว |
อุตสาหกรรมปิโตรเคมี ประสบปัญหาจากวิกฤตเศรษฐกิจอย่างรุนแรง ตั้งแต่ก่อนการตัดสินของศาลแล้ว โดยข้อมูลทางธุรกิจแสดงว่า การส่งออกผลิตภัณฑ์และราคาหุ้นลดลงมาก ตัวอย่างเช่น บมจ.ปตท. ประกาศปรับแผนการลงทุนแล้ว แต่เมื่อมีคำพิพากษาศาลปกครองระยองออกมา กลับใช้คำพิพากษาของศาลเป็นแพะรับบาป ประกาศทบทวนและชะลอการลงทุนทันที ทั้งมีกระแสว่าจะอ้างปลดคนงานอีกด้วย |
กลุ่มตัวแทนชาวบ้านจังหวัดระยอง ที่ได้รับผลกระทบ และกลุ่มเครือข่ายต่างๆ ที่ต่อต้านมลพิษ ยื่นพวงหรีดให้กับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย โดยมีข้อความ "สภาอุตสาหกรรมก่อมลพิษแห่งประเทศไทย" เพื่อประณามการให้ข่าวที่บิดเบือน ขาดข้อมูลหลักฐาน เห็นแก่ตัว และไม่สร้างสรรค์ กรณีศาลปกครองระยองพิพากษาให้มาบตาพุดและบ้านฉางเป็นเขตควบคุมมลพิษ |
ยิ่งไปกว่านั้น มาตรการลดและขจัดมลพิษ เช่น เทคโนโลยีสะอาด การเพิ่มประสิทธิภาพและอนุรักษ์พลังงาน และ พลังงานหมุนเวียน สร้างการจ้างงานและการเติบโตทางเศรษฐกิจในสัดส่วนที่สูงกว่าอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ น่าสังเวช ที่สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ยึดติดกับผลประโยชน์ส่วนตนจากการพัฒนาอุตสาหกรรมสกปรกและอันตราย ที่หนีจากประเทศอื่นมาทำลายบ้านเรามาหลายสิบปี จนคิดไม่ออกและยอมรับไม่ได้กับเส้นทางการพัฒนาที่สะอาด พอเพียง และ ยั่งยืน แต่ยังดื้อดึงที่จะฉุดลากสังคมไทยให้อยู่ในเส้นทางการเบียดเบียนที่ไม่สิ้นสุดเช่นนี้ต่อไป |
อ้างว่า จะกระทบการท่องเที่ยว และผักผลไม้จังหวัดระยองจะขายไม่ได้ แต่พื้นที่ซึ่งประกาศเป็นเขตควบคุมมลพิษแล้ว เช่น พัทยา ชะอำ หัวหิน ภูเก็ต หมู่เกาะพีพี หาดใหญ่ ปทุมธานี นนทบุรี และ นครปฐม ไม่มีผลกระทบต่อการท่องเที่ยว และการขายผลิตผลการเกษตรและประมงแต่อย่างใด |
อ้างว่า ให้ทุเลาการบังคับใช้การประกาศเขตควบคุมมลพิษ และตั้งคณะกรรมการระดับชาติขึ้นมา เพื่อศึกษาผลกระทบ เพราะจะเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย ซึ่งการศึกษานี้จะต้องใช้เวลานาน แต่การประเมินศักยภาพการรองรับมลพิษในพื้นที่มาบตาพุด ตามมติคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติปี 2541 ได้ดำเนินการจนถึงปัจจุบันมามากกว่าสิบปีแล้ว แต่หน่วยงานอุตสาหกรรมและสิ่งแวดล้อมที่รับผิดชอบ ยังไม่สามารถสรุปผลการศึกษาได้ว่ารองรับมลพิษเต็มศักยภาพหรือยัง ในขณะที่โรงงานสร้างเพิ่มขึ้นแล้วมากกว่า 100 โครงการในช่วงระหว่างดำเนินการศึกษา |
|
ประชาชนชาวมาบตาพุดและบ้านฉาง และเครือข่ายบุคคลองค์กรที่ร่วมลงชื่อ มีความเห็นว่า การให้ข่าวที่มีลักษณะบิดเบือนจากกฎหมายและข้อเท็จจริง ปราศจากข้อมูลหลักฐานสนับสนุน มุ่งแต่ประโยชน์ส่วนตนเป็นหลัก ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในหมู่สาธารณชน ภาคเอกชนทั่วไป และ รัฐบาล แสดงถึงความไม่เคารพต่อหลักนิติธรรม หลักธรรมาภิบาล และ หลักความรับผิดชอบของภาคธุรกิจต่อสังคม |
. |
ข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลและสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย มีดังนี้ |
. |
1. ให้ผู้ที่ออกมาให้ข่าว และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย แสดงความรับผิดชอบต่อสาธารณะ โดยหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง ควรเร่งดำเนินการตรวจสอบและแก้ไขป้องกัน โดยเฉพาะกรมสอบสวนคดีพิเศษ ที่เริ่มเข้าไปดำเนินการในพื้นที่แล้ว |
. |
2. หากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยยืนยันว่า การประกาศเขตควบคุมมลพิษในกรณีจังหวัดระยอง จะเกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ซึ่งตรงกันข้ามกับทั้ง 12 จังหวัดก่อนหน้านี้ ให้แสดงข้อมูลหลักฐานที่เชื่อถือได้ออกมา เพื่อให้เกิดการตรวจสอบกันในสังคม และนำไปสู่การตัดสินใจของรัฐ ที่อยู่บนฐานของข้อมูลและความรู้ มิใช่การกล่าวอ้างความรู้สึกอย่างเลื่อนลอย แล้วใช้ตัวเลขการลงทุนแสนล้านมาบังหน้า |
. |
3. รัฐบาลต้องตรวจสอบข้อมูลหลักฐานและข้อเท็จจริงอย่างรอบด้าน และเปิดโอกาสการมีส่วนร่วมของประชาชน ก่อนการตัดสินใจอุทธรณ์ หรือการตัดสินใจแนวทางการแก้ไขปัญหาและการพัฒนาในอนาคต โดยไม่หลงเชื่อคำกล่าวอ้างที่ไม่มีข้อมูลหลักฐานของภาคธุรกิจอุตสาหกรรม |
. |
4. ให้สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยมุ่งเน้นการลดปัญหามลพิษ สิ่งแวดล้อม และ สุขภาพของประชาชน ที่ปรากฏอยู่จริงในพื้นที่ มากกว่าที่จะกล่าวอ้างแต่เรื่องการทำตามมาตรฐานสิ่งแวดล้อม ทั้งปัญหาพื้นที่อุตสาหกรรมทับซ้อนและไม่มีพื้นที่กันชนของชุมชนรอบมาบตาพุด โรงงานติดกับวัด โรงเรียน และ บ้านเรือนของประชาชน ปัญหาจากการใช้น้ำบ่อตื้นที่ปนเปื้อนโลหะหนักเนื่องจากยังไม่มีประปา ปัญหาอุบัติภัยสารเคมี ซึ่งเกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอ และ ปัญหาการเจ็บป่วยของชาวบ้าน |
. |
5. ให้สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและภาคเอกชน ตระหนักถึงประโยชน์และโอกาสที่จะเกิดขึ้นต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นการท่องเที่ยว เกษตรกรรมและประมง เทคโนโลยีสะอาด การอนุรักษ์พลังงาน พลังงานหมุนเวียน ฯลฯ ซึ่งสามารถสร้างงานและพัฒนาเศรษฐกิจในสัดส่วนที่มากกว่าอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ |
. |
ลงชื่อจดหมายฉบับนี้โดย |
ชาวบ้านมาบตาพุด อำเภอเมือง จังหวัดระยอง ชาวบ้านบ้านฉาง อำเภอบ้านฉาง จังหวัดระยอง เครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มูลนิธินโยบายสุขภาวะ กลุ่มอนุรักษ์ทับสะแก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เครือข่ายประชาชนต่อต้านโรงไฟฟ้า 4 พื้นที่ ได้แก่ จ.ฉะเชิงเทรา จ.สระบุรี และ จ.ชุมพร |