เนื้อหาวันที่ : 2009-03-11 11:29:18 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1296 views

วิกฤตการณ์การเงินโลก: จับตาประเทศไทย

เมื่อเศรษฐกิจของตลาดเกิดใหม่ในเอเชียเปลี่ยนจากเฟื่องเป็นฟุบใน พ.ศ. 2540 ประเทศไทยได้ชื่อว่าเป็นหัวขบวนของความล่มสลายทางเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้ หลังจากเศรษฐกิจเติบโตอย่างรวดเร็วมาหลายทศวรรษติดต่อกัน เรื่องราวแห่งความสำเร็จในการใช้ตลาดขับดันเศรษฐกิจของประเทศไทยกลับกลายเป็นอุทาหรณ์สอนใจเกี่ยวกับความเสี่ยงของการกู้ยืมเงินจากต่างประเทศอย่างไม่ระมัดระวัง การลงทุนอย่างไม่รอบคอบและการขาดการกำกับดูแลที่ดีของรัฐบาลไปในชั่วพริบตา

หมายเหตุ: แปลจาก The Global Financial Crisis: Eye on Thailand* โดย Shawn W Crispin**

แปลเป็นภาษาไทยโดย ภัควดี วีระภาสพงษ์
 

เมื่อเศรษฐกิจของตลาดเกิดใหม่ในเอเชียเปลี่ยนจากเฟื่องเป็นฟุบใน พ.ศ. 2540 ประเทศไทยได้ชื่อว่าเป็นหัวขบวนของความล่มสลายทางเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้ หลังจากเศรษฐกิจเติบโตอย่างรวดเร็วมาหลายทศวรรษติดต่อกัน เรื่องราวแห่งความสำเร็จในการใช้ตลาดขับดันเศรษฐกิจของประเทศไทยกลับกลายเป็นอุทาหรณ์สอนใจเกี่ยวกับความเสี่ยงของการกู้ยืมเงินจากต่างประเทศอย่างไม่ระมัดระวัง การลงทุนอย่างไม่รอบคอบและการขาดการกำกับดูแลที่ดีของรัฐบาลไปในชั่วพริบตา

 

ในปัจจุบัน สหรัฐอเมริกากับยุโรปกำลังเดินซ้ำรอยความผิดพลาดอย่างเดียวกันในหลาย ๆ ประการ เพียงแต่มีขนาดที่ใหญ่กว่าและราคาแพงกว่ากันมาก ประสบการณ์ของประเทศไทยหลังวิกฤตการณ์ พ.ศ. 2540 จึงกลับมาอยู่ในความสนใจอีกครั้ง ถึงแม้ระบบเศรษฐกิจของประเทศเล็ก ๆ ที่ขับเคลื่อนด้วยการส่งออกย่อมไม่อาจรอดพ้นจากความปั่นป่วนทางเศรษฐกิจและการเงินโลกที่กำลังทวีความแรงขึ้นทุกที ๆ แต่การที่ประเทศไทยมีแนวโน้มในการจ่ายคืนเงินกู้และบริหารจัดการหนี้สินได้ดีขึ้น จึงหวังว่านี่จะเป็นเบาะรองรับเพียงพอต่อการหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดความล่มสลายทางเศรษฐกิจที่ซ้ำรอยเดิมเมื่อคราวก่อน

 
ผลกระทบรุนแรงต่อการส่งออก

ประเทศไทยอยู่ในกลุ่มที่มีระบบเศรษฐกิจค่อนข้างเปิดกว้างเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค โดยที่การส่งออกคิดเป็นมูลค่าราว 65% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา การส่งออกเหล่านี้มีตั้งแต่สินค้ามูลค่าเพิ่ม ซึ่งประเทศไทยทำหน้าที่เป็นศูนย์รวมการผลิตและส่งออกให้แก่บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ข้ามชาติ ในขณะเดียวกันก็ยังรักษาสถานะเดิมในการเป็นประเทศผู้ส่งออกข้าว ยางพาราและอาหารทะเลระดับแนวหน้าของโลก

 

จนถึงขณะนี้ ประเทศไทยได้รับผลกระทบอย่างแรงจากการชะลอตัวของอุปสงค์ในระดับโลก โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาและยุโรป ตามสถิติของธนาคารแห่งประเทศไทย การส่งออกในเดือนธันวาคมลดลงถึง 15.7% เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน และเป็นเดือนที่สองติดต่อกันที่การเติบโตลดลง สำนักงานเศรษฐกิจการคลังของกระทรวงการคลังยังคาดการณ์ด้วยว่า เศรษฐกิจของไทยจะหดตัวลงถึง 3.5% ในไตรมาสที่สี่ ซึ่งเลวร้ายกว่าที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ นักวิเคราะห์อิสระก็ขานรับการวิเคราะห์ในแง่ร้ายเช่นกัน โดยคาดการณ์ว่าความเติบโตของเศรษฐกิจและการส่งออกจะอยู่ในแดนลบใน พ.ศ. 2552

 

มีความวิตกเพิ่มมากขึ้นว่า บริษัทผู้ผลิตต่างประเทศรายใหญ่ ซึ่งเผชิญกับปัญหาทางการเงินในประเทศแม่ของตนและความต้องการซื้อสินค้าที่ลดลงในภูมิภาค อาจปิดฐานการผลิตในประเทศไทยไปอย่างถาวร ความกังวลนี้เข้มข้นขึ้นในช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา เมื่อบริษัทซูซูกิ บริษัทผู้ผลิตรถยนต์และมอเตอร์ไซค์ของญี่ปุ่น ประกาศยกเลิกแผนการลงทุนในประเทศไทย ส่วนยักษ์ใหญ่ด้านรถยนต์ของสหรัฐฯ ที่กำลังจับไข้หนักอย่างเจเนรัลมอเตอร์ก็ต้องเลิกคิ้วด้วยความผิดหวัง เมื่อบริษัทสาขาในประเทศไทยถูกกระทรวงอุตสาหกรรมปฏิเสธคำขอกู้ยืมเงินมูลค่า 3 พันล้านบาทที่จะนำมาลงทุนในโครงการผลิตเครื่องยนต์ดีเซล

 
ธนาคารดีกว่าคราวก่อน

ในวิกฤตการณ์การเงินครั้งก่อน ธนาคารและบริษัทการเงินที่หละหลวมของประเทศไทยคือหัวใจของการล่มสลายทางการเงินเมื่อ พ.ศ. 2540 หลังจากหนึ่งทศวรรษของการปรับปรุงโครงสร้างเงินทุนและการปรับโครงสร้างของธนาคาร ประเทศไทยต้องเผชิญหน้ากับอนาคตทางเศรษฐกิจที่กำลังเลวร้ายลงอย่างรวดเร็วอีกครั้ง ถึงแม้บริษัทจัดอันดับชั้นแนวหน้าอย่าง Fitch จะบอกว่า สถาบันการเงินของไทยมีสถานะที่ดีกว่าเมื่อก่อนมาก และมีความพร้อมในการรับมือกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกในปัจจุบันดีกว่าสมัยวิกฤตการณ์การเงินเอเชียก็ตาม

 

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ธนาคารท้องถิ่นในประเทศไทยได้รับผลกระทบจากปัญหาตราสารอนุพันธ์ของหนี้ด้อยคุณภาพเพียงเล็กน้อยเท่านั้น แม้ว่าปัญหานี้จะทำให้ธนาคารระดับยักษ์ใหญ่ในตะวันตกหลายธนาคารตกอยู่ในภาวะหนี้สินล้นพ้นตัวจนไม่สามารถชำระหนี้ได้ก็ตาม ขณะที่ธนาคารในสหรัฐฯ และยุโรปหลายแห่งต้องประสบภาวะล้มละลาย ใน พ.ศ. 2551 ธนาคารไทยกลับมีผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวม (Return on Assets—ROA) สูงขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน คือเพิ่มขึ้นจาก 0.3% เป็น 1.1%

 

เงื่อนไขการกันเงินสำรองที่ต่ำลงสำหรับหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) และความเติบโตของยอดสินเชื่อที่เพิ่มขึ้นอย่างมากเมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน กล่าวคือเพิ่มขึ้นถึง 11% ในทุกภาคส่วน ผลักดันให้กลุ่มธนาคารมีผลประกอบการดีขึ้นสวนทางกระแสธุรกิจ พร้อม ๆ กับการขยายสินเชื่อใหม่ ๆ ออกไป อัตราเอ็นพีแอลโดยรวมของระบบการเงินไทยก็ลดลงจาก 9% ของยอดสินเชื่อคงค้างทั้งหมดใน พ.ศ. 2550 เหลือ 7% เมื่อปลายปีที่แล้ว

 

ในขณะเดียวกัน เงินกองทุนชั้นที่ 1 [1] ของธนาคารไทยและอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง [2] (อัตราส่วนของทุนต่อสินทรัพย์ที่ถ่วงน้ำหนักความเสี่ยงแล้ว) ในปัจจุบันก็มีความเข้มแข็งเมื่อวัดจากมาตรฐานสากล โดยอยู่ที่ 11% และ 14% ตามลำดับ

 

ในสภาพเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจภายในประเทศที่กำลังตกต่ำลงเช่นนี้ มีความเป็นไปได้ที่กลุ่มธนาคารไทยอาจจำต้องยอมบอกลางบดุลที่มีแต่ผลกำไรแบบนี้กันบ้าง นักวิเคราะห์ชี้ไปที่สถาบันสองแห่งที่อาจกลายเป็นชนวนของปัญหา ซึ่งหากสภาพปัญหาเกิดเลวร้ายลงในปีนี้ ก็อาจส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่จนทำให้เกิดความเสี่ยงในระบบธนาคารขึ้นมาได้ สถาบันแรกคือธนาคารกรุงไทยของรัฐบาล

 

ซึ่งมีอัตราส่วนเงินสำรองต่อหนี้เอ็นพีแอล (loan loss coverage ratio) [3] อยู่แค่ 40% [4] อีกสถาบันหนึ่งคือธนาคารทหารไทย ซึ่งมีอัตราส่วนของหนี้เอ็นพีแอลสูงถึง 16.4% และยังไม่มีแนวโน้มว่าจะลดลงเสียที

 

ขณะที่อัตราการใช้สินเชื่อโดยเฉลี่ยของโรงงานติดอยู่ที่ 60% ความต้องการเงินกู้จากธนาคารเพื่อนำมาลงทุนในสินทรัพย์ประเภททุนมีแนวโน้มที่จะซบเซาตลอดปี พ.ศ. 2552 ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมลดลง 7.7% ในเดือนพฤศจิกายนและลดลงอีก 18% ในเดือนธันวาคม บริษัทหลักทรัพย์ยูบีเอสตั้งข้อสังเกตในรายงานเมื่อไม่นานมานี้ว่า การผลิตสินค้าที่ตกต่ำลงในช่วงครึ่งปีหลังของปีที่แล้ว มีความทรุดตัวมากกว่าความตกต่ำทั้งหมดในช่วง 18 เดือนที่เลวร้ายที่สุดระหว่างวิกฤตการณ์การเงิน พ.ศ. 2540-41

 

ขณะที่ประเทศไทยอาศัยการส่งออกพาตัวรอดจากวิกฤตการณ์หลังการพังทลายของภาคการเงินเมื่อ พ.ศ. 2540-41 แต่ภาวะปั่นป่วนของเศรษฐกิจโลกในปัจจุบัน รวมทั้งการค้าระดับโลกที่ใกล้ล่มสลายลง ทำให้ทางเลือกทางรอดที่จะเป็นโอกาสในการฟื้นตัวมีน้อยลงไปอีก นักเศรษฐศาสตร์หลายคนพูดเสียงเดียวกันว่า

 

สำหรับระบบเศรษฐกิจเล็ก ๆ ที่ขับเคลื่อนด้วยการค้าอย่างประเทศไทย การสร้างรายได้และงานทดแทนส่วนที่สูญเสียไปจากการส่งออกที่ตกต่ำลง สามารถทำได้ในขอบเขตจำกัดด้วยการกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจที่อาศัยอุปสงค์ภายในประเทศเป็นหัวจักรขับเคลื่อนให้มากขึ้นเท่านั้น

 

นโยบายรับมือเป็นไปในทิศทางเดียวกัน

รัฐบาลของนายกรัฐมนตรีไทยคนใหม่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เตรียมรับมือวิกฤตการณ์โดยอาศัยการอัดฉีดเงินงบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นหลักสำคัญ รวมถึงการอัดฉีดเงินสดโดยตรงเข้าไปในเศรษฐกิจระดับรากหญ้า เนื่องจากหนี้สาธารณะของไทยอยู่ที่ 23% ของจีดีพี มีเงินสำรองระหว่างประเทศอยู่ที่ 110 พันล้านดอลลาร์ อีกทั้งปี พ.ศ. 2551 ยังมีการจัดทำงบประมาณสมดุลเอาไว้ ทำให้รัฐบาลน่าจะยังเหลือพื้นที่ด้านการเงินการคลังอีกมากที่จะหยิบฉวยมาใช้ได้

 

ในเดือนมกราคม คณะรัฐมนตรีเห็นชอบงบประมาณเพิ่มเติมวงเงิน 117,000 ล้านบาท [5] รวมทั้งมาตรการต่าง ๆ ที่มีเป้าหมายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ตลอดจนการแจกเงินสด 2,000 บาทให้ข้าราชการและแรงงานจำนวน 9 ล้านคนทั่วประเทศ โครงการสร้างงานและกองทุนเพื่อการลงทุนในชุมชนต่าง ๆ

 

การอัดฉีดเม็ดเงินเหล่านี้เป็นตัวเสริมมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่เขียนไว้ในงบประมาณประจำปี พ.ศ. 2552 ซึ่งกำหนดวงเงินงบประมาณขาดดุลอยู่ที่ 2.5% ของจีดีพี [6] รัฐบาลยังใช้นโยบายตัดลดภาษีมูลค่า 40,000 ล้านบาทเพื่อช่วยเหลือภาคอสังหาริมทรัพย์ และระบุว่ารัฐบาลสามารถจัดทำงบประมาณเพิ่มเติมอีกก้อนหนึ่งก่อนสิ้นปีงบประมาณในเดือนกันยายน หากระบบเศรษฐกิจโลกตกต่ำลงเกินกว่าที่คาดการณ์ไว้

 

ในขณะเดียวกัน ธนาคารแห่งประเทศไทยสนับสนุนมาตรการดังกล่าวด้วยการผ่อนคลายนโยบายการเงินอย่างรวดเร็ว นับตั้งแต่เดือนธันวาคมเป็นต้นมา ธนาคารแห่งประเทศไทยลดอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงลง 175 จุด [7] ซึ่งเท่ากับลดอัตราดอกเบี้ยตลาดซื้อคืนพันธบัตรระยะ 14 วันลง 2% นักวิเคราะห์ด้านเศรษฐกิจเชื่อว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยจะลดอัตราดอกเบี้ยลงอีกราว 1% ก่อนสิ้นปี ส่วนค่าเงินบาทมีปฏิกิริยาต่อการลดอัตราดอกเบี้ยไม่มากนัก โดยเคลื่อนไหวขึ้นลงอยู่ระหว่าง 34-35 บาทต่อหนึ่งดอลลาร์สหรัฐฯ

 
ความปั่นป่วนทางการเมือง

นี่ถือเป็นหนึ่งในไม่กี่ครั้งในรอบไม่กี่ปีมานี้ที่นโยบายการเงินและการคลังดำเนินไปในทิศทางที่ขานรับซึ่งกันและกัน ความขัดแย้งทางการเมืองยืดเยื้อเรื้อรัง ซึ่งสร้างความแตกแยกระหว่างผู้สนับสนุนกับผู้ชิงชังอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตรที่พ้นตำแหน่งไปเพราะการรัฐประหารเมื่อ พ.ศ. 2549 คืออุปสรรคขัดขวางรัฐบาลชุดต่อ ๆ มาในการวางและดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจอย่างมีประสิทธิภาพ

 

ความขัดแย้งจนบั่นทอนทั้งประเทศพุ่งสู่จุดสูงสุดเมื่อเดือนพฤศจิกายนศกก่อน เมื่อฝ่ายประท้วงที่มีสายสัมพันธ์กับกองทัพปิดสนามบินระหว่างประเทศสองแห่งในกรุงเทพฯ เป็นเวลากว่าหนึ่งสัปดาห์ สร้างภาวะอัมพาตแก่ภาคการท่องเที่ยวที่เป็นเครื่องจักรโกยเงินเข้าประเทศและภาคการส่งออกที่ต้องพึ่งพิงการขนส่งทางอากาศ ธนาคารแห่งประเทศไทยประเมินว่าการปิดสนามบินสร้างความเสียหายแก่เศรษฐกิจไทยถึง 290,000 ล้านบาท โดยประเมินว่าโรงแรมสูญเงินไปถึง 140,000 ล้านบาทจากการยกเลิกการจองห้องพัก

 

ฝ่ายประท้วงกลุ่มเดียวกันนี้บุกยึดทำเนียบรัฐบาลไว้เกือบสามเดือน โดยเริ่มตั้งแต่เดือนสิงหาคมปีที่แล้ว ซึ่งเท่ากับขัดขวางการทำงานของรัฐบาลสองชุดที่มีความเกี่ยวโยงกับทักษิณอย่างได้ผล เสถียรภาพของประเทศฟื้นคืนมาได้เล็กน้อยพร้อมกับการตั้งรัฐบาลผสมของนายอภิสิทธิ์ ซึ่งเชื่อกันว่ามีกองทัพคอยหนุนหลัง รัฐบาลชุดใหม่นี้ให้ความสำคัญกับการฟื้นความเชื่อมั่นของต่างประเทศเป็นอันดับแรก

 

แต่ความเชื่อมั่นของนักลงทุนก็ยังไม่กลับคืนมาอย่างเต็มที่ สืบเนื่องจากการที่รัฐบาลแต่งตั้งของกองทัพสร้างความประหลาดใจในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2549 ด้วยการบังคับใช้มาตรการควบคุมเงินทุนต่างประเทศในธุรกรรมการซื้อขายหุ้น พันธบัตรและเงินตรา แม้จะยกเลิกมาตรการนี้ในเวลาต่อมาก็ตาม นโยบายแบบชาตินิยมในปีต่อมาที่พยายามแก้ไขพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวสร้างความตระหนกและไม่พอใจแก่นักลงทุนชาวญี่ปุ่น ซึ่งฐานการผลิตของนักลงทุนกลุ่มนี้จำนวนไม่น้อยมีโครงสร้างตรงกับที่สภานิติบัญญัติของไทยมีเป้าหมายจะลิดรอน

 

ผลร้ายตกอยู่ที่ประชาชน

แม้รัฐบาลชุดใหม่จะพยายามใช้มาตรการทางการคลังแค่ไหน แต่คาดว่าภาวะชะลอตัวทางเศรษฐกิจที่เลวร้ายลงเรื่อย ๆ จะส่งผลร้ายต่อประชาชนอย่างหนักหน่วง หนังสือพิมพ์ในประเทศไทยลงข่าวเกือบทุกวันเกี่ยวกับการปลดและลอยแพคนงานทั้งในภาคอุตสาหกรรมทันสมัยและภาคบริการใหญ่ ๆ โดยที่แรงงานเหมาช่วงคือกลุ่มที่ได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุด

 

กระทรวงอุตสาหกรรมคาดการณ์ในเดือนมกราคมว่า คนงานผลิตชิ้นส่วนรถยนต์จำนวน 40,000 คน กำลังเสี่ยงที่จะตกงาน เนื่องจากอุตสาหกรรมการประกอบชิ้นส่วนรถยนต์หดตัวลงอย่างรุนแรง ในขณะที่สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ประเมินว่า คนงาน 30,000 คน มีแนวโน้มจะตกงานในปีนี้ นอกเหนือจากคนงาน 30,000 คน ที่ถูกลอยแพไปแล้วนับตั้งแต่ไตรมาสที่สามของปี พ.ศ. 2551 ชิ้นส่วนไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์มีมูลค่าเกือบ 35% ของการส่งออกทั้งหมด

 

ในขณะที่ตัวเลขคนว่างงานอย่างเป็นทางการยังต่ำอยู่แค่ 1.5% ในเดือนธันวาคม แต่คาดว่าตัวเลขจะพุ่งขึ้นเป็นสองเท่าตลอดหลายเดือนข้างหน้า เมื่อนายจ้างที่ขาดแคลนเงินสดเลือกประหยัดต้นทุนด้วยการลดจำนวนพนักงานลงมากกว่ายอมลดชั่วโมงการทำงาน การว่างงานที่พุ่งสูงขึ้นจะแปรเปลี่ยนกลายเป็นความไม่สงบทางสังคมและความปั่นป่วนทางการเมืองรอบใหม่หรือไม่ ยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจน

 

ผู้เชี่ยวชาญด้านแรงงานตั้งข้อสังเกตว่า สหภาพแรงงานในภาคเอกชนมีอัตราสมาชิกสหภาพน้อยกว่า 5% ดังนั้น ความเสี่ยงที่จะมีการประท้วงอย่างเป็นระบบเพื่อต่อต้านการปลดคนงานในโรงงานและภาคบริการจึงน้อยลงตามไปด้วย นอกจากนี้ รัฐบาลยังมีแผนประกันการว่างงานที่นำมาใช้หลังจากวิกฤตการณ์ทางการเงินของเอเชียเมื่อ พ.ศ. 2540-41 และเร็ว ๆ นี้ รัฐบาลยังตัดสินใจขยายเงินชดเชยกองทุนประกันสังคมแก่แรงงานที่ว่างงานจาก 6.5 เดือน เป็น 8 เดือน ด้วย

 

โครงการเงินกู้แก่ธุรกิจขนาดเล็กของรัฐบาลชุดใหม่ที่ให้แก่แรงงานว่างงานมีเงื่อนไขว่า ผู้ขอรับเงินกู้ต้องกลับบ้านในต่างจังหวัดจึงจะมีสิทธิ์ได้รับความช่วยเหลือจากกองทุน กระนั้นก็ตาม มีดัชนีหลายประการบ่งชี้ให้เห็นตั้งแต่ต้นว่า รัฐบาลยังไม่ได้ทุ่มเททรัพยากรเพียงพอเพื่อช่วยเหลือรากหญ้าในชนบท เมื่อปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา เกษตรกรผู้เดือดร้อนในจังหวัดลำปางรวมตัวกันปิดถนนและประท้วงหน้าศาลากลางจังหวัด สืบเนื่องจากความไม่พอใจที่กระทรวงพาณิชย์ปิดรับจำนำข้าวโพด

 

อันที่จริง การต่อสู้ของประชาชนรากหญ้าเพื่อช่วงชิงทรัพยากรของรัฐบาลนับวันจะยิ่งเข้มข้นขึ้น ยกตัวอย่างเช่น สำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรกำลังของบประมาณมูลค่า 17.2 พันล้านบาทจากคณะรัฐมนตรี เพื่อซื้อหนี้จากเกษตรกรกว่า 62,000 ราย รวมทั้งจัดทำแผนการฟื้นฟูและจัดอบรมอาชีพ ระหว่างวิกฤตการณ์ทางการเงินเมื่อ พ.ศ. 2540-41 มีแรงงานจำนวนมากที่ตกงานจากโรงงานและภาคบริการหวนคืนสู่ชนบทเพื่อดิ้นรนเลี้ยงชีพด้วยการทำงานในไร่นาของญาติพี่น้อง ในปัจจุบัน ภาคการเกษตรคิดเป็น 11% ของจีดีพี

 

ราคาสินค้าพืชผลที่สูงขึ้นในช่วงครึ่งปีแรกของ พ.ศ. 2551 ช่วยให้รายได้ในภาคเกษตรเพิ่มขึ้นก็จริง แต่ราคาพืชผลก็ตกลงมาอย่างรุนแรงในช่วงครึ่งปีหลังตามราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกที่ลดลง เมื่อเศรษฐกิจในประเทศชะลอตัวและอัตราการว่างงานพุ่งสูงขึ้น การที่ราคาอาหารลดลงเช่นนี้ จึงไม่มีทางแน่ใจได้ว่า ภาคชนบทจะมีความสามารถในการดูดซับแรงงานเหมือนที่เคยทำได้ในช่วงหลังวิกฤตการณ์ทางการเงินเอเชียหรือไม่

หมายเหตุ

* บทความแปลชิ้นนี้จัดแปลโดยมูลนิธิไฮน์ริค เบิลล์ สำนักงานภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สามารถติดตามอ่านต้นฉบับออนไลน์ได้ที่ www.boell-southeastasia.org และเป็นบทความที่ผู้เขียนได้จัดทำขึ้นสำหรับมูลนิธิไฮริคเบิลล์ ต้นฉบับภาษาอังกฤษสามารถติดตามได้ที่ www.boell.de

 

** Shawn W Crispin เป็นบรรณาธิการฝ่ายเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของ Asia Times Online เขามีประสบการณ์การรายงานข่าวของประเทศไทยมากกว่าหนึ่งทศวรรษ รวมทั้งมีผลงานใน Far Eastern Economic Review, Asian Wall Street Journal และ Institutional Investor magazine.

เชิงอรรถ

[1] Tier 1 capital หมายถึง ส่วนของทุนที่เป็นหุ้นจดทะเบียนและเรียกชำระค่าหุ้นแล้ว โดยรวมกำไรและขาดทุนสะสมจากการดำเนินงานในแต่ละงวดบัญชีไว้ด้วย เงินกองทุนชั้นที่ 1 นี้จะเพิ่มขึ้นหรือลดลงได้จากผลการประกอบการของสถาบันการเงิน หรือเพิ่มขึ้นเนื่องจากนำหุ้นใหม่ออกขาย (ผู้แปล)

[2] capital adequacy ratios เป็นอัตราส่วนที่ใช้วัดความเพียงพอของเงินกองทุนของสถาบันการเงิน เพื่อแสดงถึงความมั่นคงและสามารถรองรับความเสียหายที่จะเกิดขึ้นจากการประกอบธุรกิจ ปัจจุบันรัฐบาลกำหนดอัตราส่วนดังกล่าวตามมาตรฐาน BIS ซึ่งเป็นมาตรฐานที่สากลยอมรับ โดยทั่วไปอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงที่สูงแสดงถึงการที่สถาบันการเงินนั้นมีความมั่นคงและสามารถรองรับผลขาดทุนที่จะเกิดจากการประกอบกิจการ และสามารถปล่อยสินเชื่อให้กับลูกค้าได้อีกมาก (ผู้แปล)

[3] บางที่ใช้คำว่า “อัตราส่วนสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อเอ็นพีแอล” (ผู้แปล)

[4] ต่ำที่สุดในกลุ่มธนาคาร ขณะที่ธนาคารใหญ่ ๆ จะอยู่ที่ 70-80% (ผู้แปล)

[5] ในข่าวของไทยระบุวงเงิน 116,700 ล้านบาท (ผู้แปล)

[6] ในคำแถลงประกอบงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2552 ต่อสภาผู้แทนราษฎร นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ระบุว่า 2.4% ของจีดีพี (ผู้แปล

[7] Basis points อัตรา 1 ใน 100 ของ 1 เปอร์เซ็นต์ เป็นหน่วยวัดการเพิ่มขึ้นหรือลดลงของผลตอบแทนของพันธบัตร ตั๋วเงิน ตั๋วจำนอง ฯลฯ หรือของอัตราดอกเบี้ย (ผู้แปล)

ที่มา : ประชาไทดอทคอม