เนื้อหาวันที่ : 2009-03-10 12:00:59 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1401 views

กพช. ปรับ PDP 2007 ลดกำลังผลิตไฟฟ้า ให้ส่วนเพิ่มราคาไฟฟ้าหมุนเวียน

กพช. ชุดรัฐบาลอภิสิทธิ์ เห็นชอบแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2551-2564 เพื่อรักษาระดับปริมาณการผลิตไฟฟ้าสำรองของประเทศ ประชาชนแบกรับภาระค่าไฟเพิ่มขึ้น

ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) วันนี้ (9 มี.ค. 52) โดยมีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ได้มีการพิจารณาวาระสำคัญ 3 วาระ ได้แก่ การปรับปรุงแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ พ.ศ. 2552-2564 หรือ พีดีพี 2009 การพิจารณามาตรการส่งเสริมพลังงานหมุนเวียน และการพิจารณาเห็นชอบการโอนอำนาจการดูแลกองทุนพัฒนาพื้นที่รอบ โรงไฟฟ้าให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ กกพ. แทนกระทรวงพลังงานตาม พรบ. ประกอบกิจการพลังงาน         

.

ที่ประชุมกพช.ได้มีมติเห็นชอบแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2551-2564 หรือ แผนพีดีพี 2007 (ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 2) นั้น โดยให้ดำเนินการตามแผนเฉพาะในปี 2552-2558 เพื่อให้ปริมาณกำลังการผลิตไฟฟ้าสำรองของประเทศอยู่ในระดับที่เหมาะสมสอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง สำหรับแผนการดำเนินงานในปี 2559-2564 ให้นำไปพิจารณาทบทวนในการจัดทำแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศในครั้งต่อไป เมื่อประมาณการเศรษฐกิจชุดใหม่แล้วเสร็จ         

.

อย่างไรก็ตาม สาระสำคัญของแผนพีดีพี 2007 ครั้งที่ 2 มีสาระสำคัญ อาทิ ปรับปรุงกำหนดการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายเล็ก (SPP) เฉพาะประเภท Firm ให้เร็วขึ้นในปี 2557 ปรับลดการรับซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้านและให้มีการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ประกอบการภายในประเทศแทน

.

ปรับเลื่อนการรับซื้อไฟฟ้าจาก IPP ที่ผ่านการคัดเลือกแล้ว 2 โครงการออกไปอีก 1 ปี กำหนดให้มีการรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าใหม่ที่อ.ขนอมในปี 2559 ปรับเลื่อนโครงการโรงไฟฟ้าที่ดำเนินการของกฟผ. และปรับลดกำลังการผลิตโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในปี 2563-2564 ให้เหลือปีละ 1,000 เมกะวัตต์ จากเดิมปีละ 2,000 เมกะวัตต์ เป็นต้น                        

.

โดยภาพรวมกำลังการผลิตไฟฟ้า ณ สิ้นปี 2564 คิดเป็น 51,792 เมกะวัตต์ ซึ่งลดลงจากแผน PDP 2007 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 จำนวน 6,408 เมกะวัตต์ ซึ่งในช่วงปี 2552-2564 มีกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้นจากกำลังการผลิตติดตั้ง ณ เดือนธันวาคม 2551 จำนวน 30,155 เมกะวัตต์ ลดลงจากแผน PDP 2007 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 จำนวน 5,091 เมกะวัตต์     

.

ในส่วนของวาระการพิจารณามาตรการส่งเสริมพลังงานหมุนเวียนเกี่ยวกับระเบียบการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ทั้งระเบียบการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) และผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) ได้มีการปรับในส่วนของกำหนดระยะเวลาการรับซื้อไฟฟ้า และปริมาณไฟฟ้าที่รับซื้อจากเอกชน รวมถึงอัตราส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้าในบางประเภทเชื้อเพลิง         

.

การปรับระยะเวลา และปริมาณไฟฟ้าที่รับซื้อจากเอกชนนั้น กพช. ได้มีมติให้ยกเลิกการกำหนดเป้าหมายปริมาณไฟฟ้าที่รับซื้อจาก SPP และยกเลิกการกำหนดระยะเวลารับซื้อไฟฟ้าจาก VSPP โดยได้กำหนดเป้าหมายใหม่สำหรับการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนตามระเบียบ SPP และ VSPP ให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) สามารถรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนได้โดยไม่มีข้อจำกัดระยะเวลา และปริมาณไฟฟ้าที่รับซื้อต้องสอดคล้องกับแผนพัฒนาพลังงานทดแทน 15 ปี 

.

สำหรับการปรับปรุงอัตราส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า ที่ประชุมได้เห็นชอบให้ปรับส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้าสำหรับเชื้อเพลิงบางประเภท ได้แก่ ชีวมวลที่มีกำลังการผลิตติดตั้งน้อยกว่า 1 เมกะวัตต์ ปรับขึ้นจาก 0.30 บาท เป็น 0.50 บาท ก๊าซชีวภาพที่มีกำลังการผลิตติดตั้งน้อยกว่า 1 เมกะวัตต์ ปรับขึ้นจาก 0.30 บาท เป็น 0.50 บาท ขยะประเภทพลังงานความร้อน ที่เป็นขยะชุมชน หรือขยะอุตสาหกรรมที่ไม่ใช่ขยะอันตราย และไม่เป็นขยะที่เป็นอินทรีย์วัตถุ ปรับขึ้นจาก 2.50 บาท เป็น 3.50 บาท

.

พลังงานลมที่มีกำลังการผลิตติดตั้งน้อยกว่า 50 เมกะวัตต์ ปรับขึ้นจาก 3.50 บาท เป็น 4.50 บาท และพลังน้ำขนาดเล็กที่มีกำลังการผลิตติดตั้ง 50 เมกะวัตต์ แต่น้อยกว่า 200 เมกะวัตต์ ปรับขึ้นจาก 0.40 บาท เป็น 0.80 บาท ส่วนพลังน้ำขนาดเล็กที่มีกำลังการผลิตน้อยกว่า 50 เมกะวัตต์ ปรับขึ้นจาก 0.80 บาท เป็น 1.50 บาท ด้านพลังงานแสงอาทิตย์ ยังคงให้ส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้าในอัตราเดิม คือ 8.00 บาทต่อหน่วย         

.

นอกจากนั้นยังมีการให้ส่วนเพิ่มพิเศษอีก 1 บาทสำหรับพลังงานหมุนเวียนที่ใช้ทดแทนการใช้น้ำมันดีเซลที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่มีการใช้ไฟฟ้าจากดีเซลของ กฟภ. ยกเว้นพลังงานลมที่ให้เพิ่มอีก 1.50 บาท ทั้งนี้ การให้อัตราส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้าดังกล่าว จะมีกำหนดระยะเวลา 7 ปี นับจากวันที่จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า ยกเว้นพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์ ที่มีกำหนดระยะเวลาสนับสนุน 10 ปี นับจากวันที่จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบ         

.

นอกจากนี้ ที่ประชุม กพช. ยังได้มีการพิจารณาเห็นชอบโอนอำนาจการดูแลและบริหารจัดการกองทุนพัฒนาพื้นที่รอบโรงไฟฟ้าไปให้กับคณะกรรมการกำกับดูแลกิจการพลังงาน (เรกูเลเตอร์) แทนกระทรวงพลังงาน เพื่อให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบกิจการพลังงาน 2550 ซึ่งจะส่งผลให้การบริหารจัดการไม่ซ้ำซ้อน และมีความชัดเจนในการดำเนินงานเพิ่มขึ้น