สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน เผยแผนการส่งเสริมการลงทุนของบีโอไอในช่วง 3 เดือนที่เหลือของปีว่า จำเป็นต้องเร่งสร้างความชัดเจนทางการเมืองและนโยบายเศรษฐกิจไปพร้อม ๆ กัน
นายสาธิต ชาญเชาวน์กุล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยแผนการส่งเสริมการลงทุนของบีโอไอในช่วง 3 เดือนที่เหลือของปีว่า จำเป็นต้องเร่งสร้างความชัดเจนทางการเมืองและนโยบายการบริหารด้านเศรษฐกิจไปพร้อม ๆ กัน ดังนั้น แผนการเดินสายโรดโชว์เดิม ที่บีโอไอมีกำหนดที่จะเดินทางไปประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ฮ่องกง ไต้หวัน ออสเตรเลีย และอินเดียจะยังดำเนินไปตามปกติ |
. |
โดยจะมีการเตรียมจัดคณะผู้บริหารอีกชุดหนึ่งที่จะเดินทางไปชี้แจงยังกลุ่มนักลงทุนเป้าหมายที่มีการลงทุนรายใหญ่ ๆในไทยเพื่อสร้างความเข้าใจ แต่อาจต้องรอให้มีการตั้งรัฐบาลให้แล้วเสร็จก่อน เนื่องจากต้องการให้หัวหน้าคณะเป็นระดับรัฐมนตรีที่ดูแลด้านการลงทุนร่วมเดินทางไปด้วย ได้แก่ ญี่ปุ่น ยุโรป สหรัฐฯ และประเทศในเอเชีย |
. |
นายสาธิตกล่าวว่า บีโอไอได้มีโอกาสพบปะกับนักลงทุนในยุโรป ส่วนใหญ่มีความเข้าใจเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และยังยืนยันเข้ามาลงทุนในไทย เพราะเห็นความชัดเจนในการบริหารนโยบายประเทศมากขึ้น เชื่อว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อภาพรวมการลงทุนของประเทศไทย ทำให้คงเป้าหมายยอดขอรับส่งเสริมการลงทุนในปี 49 จะอยู่ที่ระดับ 500,000 ล้านบาท ไม่มีการเปลี่ยนแปลง เนื่องจากในช่วง 3 เดือนที่เหลือ ยังมีโครงการลงทุนที่รอคณะกรรมการบีโอไออนุมัติอีกจำนวนหนึ่ง โดยเฉพาะโครงการกลุ่มธุรกิจปิโตรเคมี พลาสติก และธุรกิจบริการ อีก 150,000 ล้านบาท ที่จะเข้ามาลงทุน |
. |
นายสาธิตกล่าวว่า การพิจารณาอนุมัติโครงการส่งเสริมการลงทุนในช่วงนี้อาจต้องชะลอไปบ้าง เพื่อรอให้มีคณะกรรมการบีโอไอชุดใหม่ก่อน อย่างไรก็ตาม ยอดส่งเสริมการลงทุนตั้งแต่เดือนมกราคม-15 กันยายน มีวงเงินรวม 350,000 ล้านบาท ลดลง 29% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โครงการลงทุนทั้งหมด 933 ราย กลุ่มที่มีการยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนมากที่สุด คือกลุ่มเคมี กระดาษ พลาสติก 102 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 13,000 ล้านบาท รองลงมาเป็นกลุ่มบริการ และสาธารณูปโภค 228 โครงการ 79,500 ล้านบาท กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า 180 โครงการ 51,700 ล้านบาท และกลุ่มผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักรและอุปกรณ์ขนส่ง 182 โครงการ 35,300 ล้านบาท |
. |
ขณะที่นางอิจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย ผู้ช่วยเลขาธิการบีโอไอ เปิดเผยว่า เพิ่งกลับจากการเดินสายโรดโชว์พบกับนักลงทุนสหรัฐฯ พบว่า ส่วนใหญ่ยังแสดงความสนใจในการลงทุนในไทยเช่นเดิม ไม่ได้มีผลกระทบอะไร โดยนักลงทุนสหรัฐฯสนใจเข้ามาลงทุนในกิจการประเภทเครื่องจักรกล เครื่องกลึง สิ่งทอ ซึ่งหากมีการขยายการลงทุนในไทยได้เพิ่มขึ้นจะมีส่วนช่วยลดปัญหาการขาดดุลการค้าได้ เนื่องจากปัจจุบันไทยมีการนำเข้าสินค้าประเภทเครื่องจักรกล เป็นอันดับสองรองจากน้ำมัน |
. |
ด้านนายมาริษ ท่าราบ กรรมการผู้จัดการ บลจ.ไอเอ็นจี (ประเทศไทย) ในฐานะนายกสมาคมบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) กล่าวว่า แม้นักลงทุนต่างชาติจะมีการเข้าซื้อหุ้นไทยในอัตราที่ลดลงและเริ่มมีการเทขายออกมาเมื่อวันที่ 25 ก.ย. แต่เชื่อว่าเม็ดเงินของต่างชาติยังอยู่ในตลาดหุ้นไทย แม้บางส่วนจะมีการโยกเงินไปลงทุนในตลาดเงินรวมถึงย้ายไปลงทุนในตลาดหุ้นเพื่อนบ้านก็ตาม |
. |
หลังการปฏิรูปการปกครอง มีเม็ดเงินต่างชาติเข้าซื้อสุทธิหุ้นไทยกว่า 7,000 ล้านบาท และแม้ว่าช่วงนี้จะซื้อลดลง และเริ่มเทขายก็ถือว่าเล็กน้อย หากเทียบกับแรงซื้อหลักพันล้านที่มีก่อนหน้านี้ |
. |
ส่วนนักลงทุนสถาบันในประเทศช่วงนี้ ที่มีการขายหุ้นออกมาน่าจะเป็นการปรับพอร์ตการลงทุนระยะสั้นเท่านั้น ซึ่งคาดว่าส่วนใหญ่เป็นการลดน้ำหนักการลงทุนในหุ้นที่เชื่อมโยงกับการเมือง หากสถานการณ์ต่าง ๆ ชัดเจนขึ้น และได้รัฐบาลชุดใหม่มาสานต่อนโยบายที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ก็น่าจะทำให้ภาวะการลงทุนโดยรวมกลับสู่ภาวะปกติได้ ทั้งนี้ เนื่องจากเห็นว่าสถานการณ์ ปฏิรูปการปกครองฯ ไม่ได้ส่งผลกระทบ ในเดือน ต.ค.นี้ บลจ.ไอเอ็นจี จะยังเปิดขายหน่วยลงทุนในกองทุนอสังหาริมทรัพย์ 1 กองทุน มูลค่า 4,800 ล้านบาท ตามแผนเดิม โดยเชื่อว่าจะได้รับความสนใจเช่นเดียวกับกองทุนอื่นที่ออกมาก่อนหน้านี้. |