เนื้อหาวันที่ : 2009-03-09 17:14:46 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 3343 views

แพทย์ มช. ประสบความสำเร็จคัดตัวอ่อนอัลฟาธาลัสซีเมียครั้งแรกของประเทศไทย

ทีมแพทย์จากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ประสบความสำเร็จในการคัดตัวอ่อนทารกโรคอัลฟาธาลัสซีเมีย เป็นครั้งแรกของประเทศไทยและเป็นครั้งที่สองของโลก ช่วยให้แม่ตั้งท้องได้อย่างมั่นใจว่าลูกจะปราศจากโรคอัลฟาธาลัสซีเมีย

ทีมแพทย์จากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ประสบความสำเร็จในการคัดตัวอ่อนทารกโรคอัลฟาธาลัสซีเมีย เป็นครั้งแรกของประเทศไทยและเป็นครั้งที่สองของโลก ช่วยให้มารดาที่มีความเสี่ยงต่อการมีบุตรเป็นโรคทางพันธุกรรมร้ายแรงสามารถตั้งท้องได้อย่างมั่นใจว่าลูกจะปราศจากโรคอัลฟาธาลัสซีเมีย 

..

รศ.ดร.นพ.วีรวิทย์  ปิยะมงคล ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา  คณะแพทยศาสตร์  มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

..

รศ.ดร.นพ.วีรวิทย์  ปิยะมงคล ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา  คณะแพทยศาสตร์  มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า  “โรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย” เป็นโรคทางพันธุกรรมชนิดยีนเดี่ยวที่พบได้มากที่สุดในโลก มีความชุกสูงในประชากรแถบเอเชีย และเป็นปัญหาใหญ่ทางสาธารณสุขปัญหาหนึ่งของประเทศไทย

..

ทารกที่ได้รับการถ่ายทอดยีนอัลฟาธาลัสซีเมียชนิดรุนแรงจะมีอาการซีดอย่างมากและเสียชีวิตในครรภ์ มารดาที่ตั้งครรภ์ทารกดังกล่าวมีความเสี่ยงสูงที่จะประสบภาวะแทรกซ้อนทางสูติศาสตร์ร้ายแรงถึงชีวิต ได้แก่ ครรภ์เป็นพิษ  ภาวะคลอดยาก และภาวะตกเลือดก่อนคลอดและหลังคลอด

..

ผู้ป่วยที่ได้รับการถ่ายทอดโรคบีต้าธาลัสซีเมียชนิดรุนแรงจากบิดาและมารดาจะมีอาการซีดมาก จำเป็นต้องได้รับเลือดอย่างต่อเนื่อง มีภูมิต้านทานต่ำและประสบภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงจากการให้เลือด ได้แก่ โรคติดเชื้อไวรัสตับอักเสบและโรคเอดส์ ภาวะธาตุเหล็กคั่งในร่างกาย โรคเบาหวาน การรักษาโรคบีต้าธาลัสซีเมียให้หายขาดโดยวิธีปลูกถ่ายไขกระดูกยังเป็นวิธีที่ยุ่งยาก มีความเสี่ยงสูง และมีค่าใช้จ่ายที่สูงมาก

..

รูปที่ 1 เทคนิคการดูดเซลล์ตรวจจากตัวอ่อนระยะวันที่ 3 หลังการปฏิสนธิ

.

กลวิธีในการแก้ไขปัญหาโรคธาลัสซีเมียที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดในปัจจุบันคือ การควบคุมจำนวนผู้ป่วยใหม่โดยการตรวจคัดกรองหาผู้ที่มีความเสี่ยงที่จะตั้งครรภ์บุตรที่เป็นโรคธาลัสซีเมียชนิดรุนแรง ให้ความรู้และทางเลือกในการตรวจวินิจฉัยก่อนคลอด โดยการเจาะตรวจเนื้อรกหรือการเจาะตรวจเลือดจากสายสะดือทารกในครรภ์ และทำแท้งทารกที่เป็นโรคชนิดรุนแรงหากคู่สมรสต้องการครอบครัวที่มีสุขภาพแข็งแรง

..

ค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาผู้ป่วยบีต้าธาลัสซีเมียจนถึงอายุ 30 ปีมีมูลค่าสูงถึง 6 ล้านบาทต่อคน จากจำนวนผู้ป่วยใหม่ที่เกิดขึ้นปีละประมาณ 4,000 คน คิดเป็นภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น 24,000 ล้านบาททุกปี จากภาระผู้ป่วยเดิมที่มีอยู่แล้ว 523,750 คน และมีทารกโรคอัลฟาธาลัสซีเมียชนิดรุนแรงรายใหม่เกิดขึ้น สร้างความเสี่ยงต่อการเกิดอันตรายร้ายแรงจนถึงแก่ชีวิตของมารดาถึงปีละ 1,250 ราย

.

รศ.ดร.นพ.วีรวิทย์  หัวหน้าโครงการวิจัยฯ ได้อธิบายถึงกระบวนการคัดตัวอ่อน ว่า “การคัดตัวอ่อน” หรือการวินิจฉัยระยะก่อนการฝังตัวของตัวอ่อน เป็นการวินิจฉัยก่อนคลอดที่สามารถกระทำได้เร็วที่สุด เป็นทางเลือกใหม่สำหรับครอบครัวที่มีความเสี่ยงต่อการมีบุตรเป็นโรคทางพันธุกรรมร้ายแรง มารดาที่มีความเสี่ยงดังกล่าวสามารถเริ่มต้นการตั้งครรภ์โดยมั่นใจได้ว่าทารกปลอดจากโรคทางพันธุกรรมที่ครอบครัวเป็นพาหะ

..

การคัดตัวอ่อนช่วยให้ครอบครัวสามารถหลีกเลี่ยงการทำแท้งบุตรในกรณีที่ผลการวินิจฉัยก่อนคลอด พบว่าทารกมีความผิดปกติ มารดาจึงไม่ต้องเสี่ยงต่อการแท้งบุตรหรือภาวะทารกพิการอันเนื่องมาจากหัตถการในการวินิจฉัยก่อนคลอด การคัดตัวอ่อนจึงเป็นวิธีลดการเกิดผู้ป่วยรายใหม่ที่ไม่ขัดต่อจริยธรรม ศีลธรรม และกฎหมาย

..

รูปที่ 2 การวินิจฉัยก่อนการฝังตัว โดย รศ.นพ.ธีระพร วุฒยวนิช การวิเคราะห์ดีเอ็นเอโดย รศ.ดร.นพ.วีรวิทย์ ปิยะมงคล

..

เพื่อให้ได้ตัวอ่อนจำนวนมากพอสำหรับการวินิจฉัยและคัดเลือกตัวอ่อนที่ปกติ การคัดตัวอ่อนจำเป็นต้องใช้เทคนิคการทำทารกหลอดแก้ว เทคนิคการเก็บตัวอย่างจากตัวอ่อนที่เป็นที่นิยมมากที่สุดในโลกคือ การดูดเซลล์ตรวจจากตัวอ่อนระยะ 8-10 เซลล์ ในวันที่ 3 หลังการปฏิสนธิ  โดยการเจาะรูที่ zona pellucida ของตัวอ่อนระยะที่มี 8-10 เซลล์ที่เจริญมาจากการทำทารกหลอดแก้ว แล้วดูดเอา 1-2 เซลล์ออกมาโดยใช้เครื่องมือ micromanipulator แล้วนำ 1-2 เซลล์ดังกล่าวไปทำการวินิจฉัยโรคทางพันธุกรรม 

..

ผลการตรวจนี้ช่วยให้สามารถเลือกเฉพาะตัวอ่อนที่ไม่เป็นโรคทางพันธุกรรมดังกล่าวใส่เข้าในโพรงมดลูก ข้อดีของเทคนิคนี้คือ การตัดตรวจ 1-2 เซลล์ดังกล่าวไม่มีผลเสียต่อพัฒนาการของตัวอ่อน

..

อย่างไรก็ตาม ข้อจำกัดของเทคนิคนี้ก็คือ จำนวนเซลล์ที่ได้เพียง 1-2 เซลล์เพื่อใช้ในการวินิจฉัย และระยะเวลาในการวินิจฉัยที่มีเพียง 24 ชั่วโมง  เนื่องจากศูนย์การทำทารกหลอดแก้วส่วนใหญ่ต้องการที่จะใส่ตัวอ่อนเข้าในโพรงมดลูกในวันที่ 4 หลังการปฏิสนธิ ทำให้มีความจำเป็นต้องพัฒนาเทคนิคการวินิจฉัยโรคดังกล่าวให้มีความรวดเร็ว แม่นยำ และมีความไวสูง

..

มีสถาบันทางการแพทย์หลายสถาบันทั่วโลกประยุกต์ใช้และให้บริการการคัดตัวอ่อนสำหรับโรคพันธุกรรมต่าง ๆ โดยใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ทางอณูชีววิทยา สำหรับโรคพันธุกรรมชนิดยีนเดี่ยว เช่น ธาลัสซีเมีย ใช้เทคนิคการตรวจวิเคราะห์ดีเอ็นเอจากเซลล์เดียว การคัดตัวอ่อนเป็นโครงการที่มีความละเอียดอ่อนและซับซ้อนสูง จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือของผู้เชี่ยวชาญเฉพาะหลายสาขาวิชา ได้แก่

..

นรีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะในการดูแลการทำทารกหลอดแก้ว นักวิทยาศาสตร์ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะในการดูแลตัวอ่อนมนุษย์ นักวิทยาศาสตร์ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะในการวินิจฉัยโรคทางพันธุกรรมโดยการวิเคราะห์ดีเอ็นเอจากเซลล์เพียงเซลล์เดียว และสูติแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะในการดูแลมารดาและทารกในครรภ์

..

การวินิจฉัยโรคพันธุกรรมชนิดยีนเดี่ยวโดยเทคนิคปฏิกิริยาลูกโซ่ (polymerase chain reaction, PCR) ยังเป็นวิธีที่ละเอียดอ่อนและซับซ้อน มีขั้นตอนแตกต่างกันตามแต่ชนิดของโรคและลักษณะความผิดปกติของยีน ทำให้ต้องทุ่มเทเวลาและค่าใช้จ่ายสูงในการเตรียมการตรวจแต่ละราย เป็นข้อจำกัดในการให้บริการ 

..

ปัญหาสำคัญในการคัดตัวอ่อนโดยใช้ปฏิกิริยาลูกโซ่จากเซลล์เดียวได้แก่ ปัญหาประสิทธิภาพของการขยายปริมาณสารพันธุกรรม (DNA) จากปฏิกิริยาลูกโซ่ ปัญหาการตรวจยีนได้ไม่ครบ) และปัญหาการปนเปื้อน ซึ่งอาจทำให้เกิดปัญหาไม่ได้ผลการวินิจฉัยหรือการวินิจฉัยผิดพลาดได้

..

โครงการคัดตัวอ่อนโรคธาลัสซีเมีย มี รศ.ดร.นพ.วีรวิทย์ ปิยะมงคล และรศ.นพ.ธีระพร วุฒยวนิช เป็นหัวหน้าโครงการฯ ได้เริ่มให้บริการการคัดตัวอ่อนโรคธาลัสซีเมียโดยใช้เทคนิคการวิเคราะห์ดีเอ็นเอจากเซลล์เดียว ณ ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตั้งแต่ พ.ศ.2547 

.

โดยได้รับการสนับสนุนจาก คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สภาวิจัยแห่งชาติ (วช.)  สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)  สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) บริษัท เอไซ  (ประเทศไทย) มาร์เก็ตติ้ง จำกัด และบริษัท เชอริ่ง-พลาว ออร์กานอน จำกัด 

.

โครงการฯ ให้บริการทำการตรวจไปแล้ว 3 ราย ประสบความสำเร็จในการคัดตัวอ่อนโรคบีต้าธาลัสซีเมียเป็นครั้งแรกในประเทศไทยและภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้ทารกเพศชายคลอดเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2548 สุขภาพสมบูรณ์แข็งแรงดี ผลการตรวจเลือดทั้งก่อนคลอดและหลังคลอดยืนยันผลการตรวจก่อนการฝังตัวว่าทารกไม่มียีนผิดปกติของบีต้าธาลัสซีเมีย  และ ประสบความสำเร็จในการคัดตัวอ่อนสำหรับโรคอัลฟาธาลัสซีเมีย เป็นครั้งแรกในประเทศไทย เป็นครั้งที่สองของโลก

..

ได้ทารกเพศชายคลอดเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2551 น้ำหนักแรกคลอด 3,280 กรัม สุขภาพสมบูรณ์แข็งแรงดี ผลการตรวจเลือดทั้งก่อนคลอดและหลังคลอดยืนยันผลการตรวจก่อนการฝังตัวว่าทารกไม่เป็นโรคอัลฟาธาลัสซีเมียชนิดรุนแรง  ผลความสำเร็จดังกล่าวได้รับการนำเสนอในการประชุมวิชาการระดับชาติหลายแห่ง ได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนทุกแขนง นับเป็นโอกาสอันดีในการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนตื่นตัวรู้จักโรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย

..

รศ.ดร.นพ.วีรวิทย์  กล่าวสรุปในตอนท้ายว่า การคัดตัวอ่อนหรือการวินิจฉัยก่อนการฝังตัวเป็นเทคนิคการวินิจฉัยโรคทางพันธุกรรมที่เป็นทางเลือกใหม่ให้ครอบครัวที่มีความเสี่ยงที่จะมีบุตรเป็นโรคทางพันธุกรรมร้ายแรงได้ตั้งครรภ์โดยมีทารกที่ปราศจากโรคดังกล่าว ได้เปรียบการวินิจฉัยก่อนคลอดแบบเดิมที่ไม่จำเป็นต้องทำแท้งบุตรในกรณีที่ผลการตรวจพบว่าทารกมียีนผิดปกติ

..

จึงเป็นที่ยอมรับของสังคมมากกว่า สามารถทำการตรวจได้ทั้งความผิดปกติทางโครโมโซมและความผิดปกติทางพันธุกรรมชนิดยีนเดี่ยว การพัฒนาเทคนิคการวิเคราะห์ดีเอ็นเอในการตรวจโรคทางพันธุกรรมชนิดยีนเดี่ยวโดยใช้ปฏิกิริยาลูกโซ่มีความจำเพาะในแต่ละความผิดปกติ ทำให้เสียเวลาและค่าใช้จ่ายในการพัฒนาอย่างมาก