เมื่อเอ่ยถึงองค์การการค้าโลกหรือ World Trade Organization (WTO) หลายคนคงนึกถึงการเจรจาเปิดเสรีการค้าระหว่างประเทศในกรอบที่ใหญ่ที่สุดในโลก ในการเจรจาในกรอบ WTO นั้นไม่ได้มีการเจรจาเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการค้าเพียงอย่างเดียว การดูแลและปกป้องสิ่งแวดล้อม เป็นประเด็นการเจรจาที่อยู่ในความสนใจของประเทศสมาชิกเพื่อลดปัญหาสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
เมื่อเอ่ยถึงองค์การการค้าโลกหรือ World Trade Organization (WTO) หลายคนคงนึกถึงการเจรจาเปิดเสรีการค้าระหว่างประเทศในกรอบที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งประกอบด้วยประเทศสมาชิกที่มีจำนวนมากถึง 151 ประเทศ โดยในปัจจุบัน WTO กำลังอยู่ในช่วงของการเจรจารอบโดฮา (Doha Round) ซี่งสมาชิกกำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาเรื่องรูปแบบของลดภาษีขอบเขตสินค้า และประเด็นอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง |
อย่างไรก็ตาม ในการเจรจาในกรอบ WTO นั้นไม่ได้มีการเจรจาเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการค้าเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีการเจรจาเรื่องอื่นๆ ที่สมาชิกเห็นว่าเกี่ยวข้อง อยู่ในความสนใจ และน่าจะนำมาหารือในกรอบ WTO ซึ่งรวมถึงเรื่องของการดูแลและปกป้องสิ่งแวดล้อม โดยในการประชุมรัฐมนตรี WTO ครั้งที่ 4 ณ กรุงโดฮา ประเทศกาตาร์ เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2544 ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบปฏิญญาโดฮา (Doha Declaration) เรื่องการลด/เลิกมาตรการภาษีและมาตรการที่ไม่ใช่ภาษีสำหรับสินค้า/บริการสิ่งแวดล้อม ตาม Paragraph 31 (iii) |
“With a view to enhancing the mutual supportiveness of trade and environment, we agree to negotiations, without prejudging their outcome, on the reduction or, as appropriate, elimination of tariff and non-tariff barriers to environmental goods and non-tariff barriers to environmental goods and services” |
โดยกำหนดให้ที่คณะกรรมการว่าด้วยการค้าและสิ่งแวดล้อม (Committee on Trade and Environment : CTE) จะต้องระบุรายการสินค้าสิ่งแวดล้อมเพื่อเสนอให้ Negotiating Group on Market Access : NGMA เจรจาจัดทำสูตรการลดภาษีต่อไป และหวังว่าการเปิดเสรีสินค้าสิ่งแวดล้อมจะมีส่วนช่วยลดและบรรเทาปัญหาวิ่งแวดล้อม ส่วนเรื่องของการบริการสิ่งแวดล้อมได้มอบหมายให้กลุ่มเจรจาการค้าบริการเป็นผู้ดำเนินการ |
จากมติดังกล่าวข้างต้น มีผลให้ประเทศสมาชิกจะต้องจัดทำรายการสินค้าสิ่งแวดล้อมเพื่อนำมาลด/เลิกมาตรการภาษีและมาตรการที่ไม่ใช่ภาษี อย่างไรก็ตาม เนื่องจาก WTO ยังไม่เคยมีการกำหนดคำนิยามหรือคำจำกัดความของสินค้าสิ่งแวดล้อมมาก่อน ช่วงแรกของการเจรจาจึงเป็นเรื่องของการหาคำจำกัดความของสินค้าสิ่งแวดล้อม ในช่วงแรกของการเจรจานั้น ไม่มีความคืบหน้าเท่าที่ควร เนื่องจากสมาชิกไม่สามารถตกลงกันได้ในเรื่องของคำจำกัดความหรือคำนิยามของสินค้าสิ่งแวดล้อม โดยสมาชิกหลายประเทศได้พยายามเสนอข้อเสนอเพื่อหาทางออก |
อาทิ 1) เสนอให้เปลี่ยนจากการกำหนดคำนิยามสินค้าสิ่งแวดล้อมและหลักเกณฑ์ในการกำหนดสินค้าสิ่งแวดล้อมไปเป็นการพิจารณาในเรื่องของวัตถุประสงค์ในการนำไปใช้ (end use) โดยดูว่าสินค้าดังกล่าวมีวัตถุประสงค์นำใช้เพื่อสิ่งแวดล้อมจริงหรือไม่ และหากมีวัตถุประสงค์นำไปใช้เพื่อสิ่งแวดล้อมจริง สินค้าดังกล่าวได้ถูกนำไปใช้เพื่อสิ่งแวดล้อมมากน้อยเพียงใด |
2) เสนอให้สินค้าที่มีกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Production Processing Methods : PPMS) เป็นสินค้าสิ่งแวดล้อม และ 3) เสนอให้สินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Environment Preferably Products : EPPs) เป็นสินค้าสิ่งแวดล้อม เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอดังกล่าวยังไม่สามารถผลักดันให้การเจรจาคืบหน้าไปได้เท่าใดนัก |
ในช่วงปี 2548-2549 ถือเป็นช่วงที่การเจรจาเริ่มจะเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น โดยสมาชิกได้มีการเสนอแนวทางในการจัดทำสินค้าสิ่งแวดล้อม ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็น 2 ทางหลักๆ ได้แก่ |
1. แนวทางแบบ List Approach ซึ่งเสนอโดยสหรัฐฯ สหภาพยุโรป จีนไทเป ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ แคนาดา เกาหลีใต้ สวิตเซอร์แลนด์ กาตาร์ และบราซิล ภายใต้ข้อเสนอดังกล่าวจะให้แต่ละประเทศเสนอรายการสินค้าที่เห็นว่าเป็นสินค้าสิ่งแวดล้อมหรือที่เรียกว่า “List Approach” จากนั้นจึงนำรายการสินค้าทั้งหมดมาพิจารณาร่วมกัน |
อย่างไรก็ตาม สมาชิกที่เป็นประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่ได้แสดงความไม่เห็นด้วยกับแนวทางดังกล่าว เนื่องจากเห็นว่าสินค้าส่วนใหญ่ที่ประเทศเหล่านี้เสนอมานั้นสามารถนำไปใช้ประโยชน์เพื่อสิ่งแวดล้อมเพียงอย่างเดียว (Single use) เช่น อุปกรณ์ที่ใช้ในการทดลองวิทยาศาสตร์ กระดาษกรอง เครื่องกรองน้ำ และเครื่องบด/ย่อยวัสดุ รวมถึงมีรายการที่ไม่ใช่สินค้าสิ่งแวดล้อมจริงๆ เช่น เครื่องซักผ้า ชิ้นส่วนยานยนต์ เรือยาง และจักรยาน |
2. แนวทางแบบ Project Approach ซึ่งเสนอโดยอินเดีย เป็นแนวทางที่ให้สิทธิพิเศษกับโครงการที่เข้ามาลงทุนด้วยวัตถุประสงค์เพื่อสิ่งแวดล้อม โดยสินค้าที่นำเข้ามาภายใต้โครงการเหล่านี้จะได้รับสิทธิพิเศษทางภาษี โดยมีคณะกรรมการ หน่วยงานรัฐ หรือองค์กรที่ได้รับมอบหมายของประเทศนั้นๆ (Designated National Authority : DNA) เป็นผู้พิจารณาอนุมัติข้อเสนอโครงการต่างๆ ว่ามีวัตถุประสงค์เพื่อสิ่งแวดล้อมหรือไม่ |
อย่างไรก็ตาม แนวทางแบบ Project Approach นี้ไม่ค่อยเป็นที่ยอมรับมากนักโดยเฉพาะจากประเทศที่สนับสนุนแนวทางแบบ List Approach เนื่องจากเห็นว่าการดำเนินการตามแนวทางแบบ Project Approach อาจก่อให้เกิดปัญหาเรื่องของความโปร่งใส (Transparency) และไม่สามารถคาดการณ์ (Predictability) การตัดสินใจของ DNA ได้ |
อย่างไรก็ตาม จากการที่แนวทางแบบ List Approach และ Project Approach มีความแตกต่างกันอย่างมาก ทำให้สมาชิกยังคงไม่สามารถตกลงและหาฉันทามติกันได้ ทำให้ล่าสุด (เดือนพฤศจิกายน 2550) ได้มีสมาชิกเสนอข้อมูลอื่นๆ เพิ่มเติมขึ้นอีก เช่น อินเดียเสนอเอกสารเพิ่มเติมเรียกว่าแนวทาง Integrated Approach โดยหวังว่าจะสามารถหา middle ground ระหว่าง List Approach และ Project Approach ได้ |
ซึ่งเสนอให้มีการหารือและตกลงในเรื่องกิจกรรมสิ่งแวดล้อม (Environmental activities) ที่สมาชิกให้ความสำคัญ เช่น การควบคุมมลพิษและการบำบัดน้ำเสีย หลังจากนั้นให้ทำเป็น environmental activities list และให้ยื่นรายชื่อหน่วยงานภาครัฐ/เอกชน (entities) ที่ดำเนินการในกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม และอาจมีการเจรจาใน list of entities ก่อนที่จะแจ้งต่อ WTO รวมทั้งรายการสินค้าที่นำเข้ามาเพื่อใช้ในกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมที่กำหนดจะได้รับการลดภาษีนำเข้า |
โดยประเทศพัฒนาแล้วอาจลดภาษีเป็นร้อยละ 0 และประเทศกำลังพัฒนาลดภาษีน้อยกว่า รวมถึงเสนอให้จัดตั้งระบบ Post-Audit เพื่อตรวจสอบการใช้สินค้าว่าได้มีการนำไปใช้เพื่อวัตถุประสงค์ด้านสิ่งแวดล้อมจริงหรือไม่ ในส่วนของบราซิลเสนอแนวทางใหม่ที่เรียกว่า Request-Offer Approach ซึ่งสมาชิกจะมีการเจรจาในส่วนของรายการสินค้าระหว่างกัน โดยอาจเป็นในรูปของทวิภาคและพหุภาคี และมีการจำกัดจำนวนรอบของการเจรจา |
ซึ่งข้อเสนอใหม่นี้บราซิลได้เสนอให้สินค้าสิ่งแวดล้อมครอบคลุมไปถึง Bio-fuels และสินค้าเกษตรอินทรีย์ และเสนอให้มีการกำหนดมาตรฐานสำหรับสินค้าเกษตรอินทรีย์ โดยคณะกรรมการมาตรฐานอาหารระหว่างประเทศ (Codex) และให้สมาชิก WTO นำมาตรฐานดังกล่าวมาใช้ในการ certify สินค้าเกษตรอินทรีย์ในอนาคต ซึ่งจะแก้ไขปัญหามาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี (Non Tariff Barriers : NTBs) สำหรับประเทศกำลังพัฒนา |
นอกจากข้อเสนอของอินเดียและบราซิลแล้ว ยังมีข้อเสนอของสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปซึ่งได้ร่วมกันยื่นข้อเสนอต่อที่ประชุม WTO ให้มีการเจรจาลดภาษีสินค้าและบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยเริ่มจากสินค้า 43 ชนิดที่ธนาคารโลกกำหนดให้เป็นสินค้าที่เป้นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้สหภาพยุโรปได้เสนอนโยบานเศรษฐกิจด้านอื่นที่ครอบคลุมเรื่องการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและลดการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศเพิ่มเติม |
เช่น การเก็บภาษี carbon tax หรือ climate tariff สำหรับสินค้าจากประเทศที่ไม่ได้เป็นภาคีพิธีสารเกียวโต เพื่อไม่ให้สินค้าที่ผลิตใน EU เสียเปรียบจากการที่ต้องปฏิบัติตามนโยบายเรื่องสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การให้สิทธิพิเศษสำหรับสินค้าที่ใช้วิธีการผลิตหรือใช้วัตถุดิบในการผลิตที่มีส่วนช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ |
และการทบทวนกฎเกณฑ์ในเรื่องการคุ้มครองสิทธิทรัพย์สินทางปัญญา (Intellectual Property Right : IPR) เพื่อทำให้การค้าเทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมสะดวกขึ้น เป็นต้น แม้จะมีความพยายามมากมายจากประเทศสมาชิกที่จะหาทางออกในเรื่องของการเปิดเสรีสินค้าสิ่งแวดล้อม แต่จนถึงปัจจุบันสมาชิกก็ยังไม่สามารถตกลงกันได้ว่าใช้แนวทางอื่นๆ อย่างไรก็ดี คาดว่าในปี 2551 นี้ การเจรจาน่าจะมีความเข้มข้นมากขึ้น ดังนั้น ประเทศสมาชิกจะต้องเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับการเจรจาที่จะชัดเจนขึ้นในอนาคต |
ในส่วนของประเทศไทยเองก็ได้มีการนำประเด็นเรื่องสินค้าสิ่งแวดล้อมเข้าหารือกันอย่างจริงจังเช่นกัน โดยกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งเป็นผู้แทนไทยในการเจรจาการค้าในกรอบ WTO ได้มอบหมายให้สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรมเป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการเรื่องสินค้าสิ่งแวดล้อมของไทย |
โดยสำนักงานเศรษฐกิจอุจสาหกรรมได้ดำเนินการจัดประชุมหารือระหว่างหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาจัดทำหลักเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกรายการสินค้าสิ่งแวดล้อมของไทย อย่างไรก็ตาม ในขณะนี้ประเทศไทยยังอยู่ในระหว่างการิจารณาว่า ข้อเสนอแนวทางการจัดทำรายการสินค้าสิ่งแวดล้อมแนวทางไหนจะเป็นแนวทางที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทยมากที่สุด ทั้งนี้คงต้องจับตาดูกันต่อไปว่า ทิศทางการเจรจาเปิดเสรีสินค้าสิ่งแวดล้อมในกรอบ WTO จะเป็นไปในแนวทางหรือทิศทางใด |