เนื้อหาวันที่ : 2009-03-05 12:21:36 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2301 views

ทิศทางสู่อนาคต เซาท์เทิร์นฯ–ปิโตรเคมี ในกำมือ ปชป.

ในยุครัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ที่มีฐานเสียงในภาคใต้เป็นหลัก ก็อาจเชื่อได้ว่า โครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ หรือในชื่อเต็มว่า การจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมและท่าเรืออุตสาหกรรมในบริเวณพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ (Southern Seaboard : SSB) หรือ เซาท์เทิร์นซีบอร์ด ที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี 2536 ภายใต้ แผนแม่บทอุตสาหกรรมปิโตรเคมีของประเทศไทย อาจก่อร่างเป็นรูปธรรมมากขึ้นไปอีก โดยมีเป้าหมายพื้นที่ ที่ อ.สิชล จ.นครศรีธรรมราช

ในยุครัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ที่มีฐานเสียงในภาคใต้เป็นหลัก ก็อาจเชื่อได้ว่า โครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ หรือในชื่อเต็มว่า การจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมและท่าเรืออุตสาหกรรมในบริเวณพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ (Southern Seaboard : SSB) หรือ เซาท์เทิร์นซีบอร์ด ที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี 2536 ภายใต้ แผนแม่บทอุตสาหกรรมปิโตรเคมีของประเทศไทย อาจก่อร่างเป็นรูปธรรมมากขึ้นไปอีก โดยมีเป้าหมายพื้นที่ ที่ อ.สิชล จ.นครศรีธรรมราช

 

ล่าสุด ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2552 ที่ผ่านมา มีมติแต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ (เซาท์เทิร์นซีบอร์ด) ที่มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการ

 

ขณะที่มีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี เป็นรองประธานกรรมการคนที่หนึ่งและสองตามลำดับ และมีกรรมการที่ประกอบด้วยรัฐมนตรีกระทรวง และหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง หนึ่งในนั้น คือ นายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นอีกหนึ่งคนที่มาจากภาคใต้

 

โดยเป็นคณะกรรมการที่ต้องทำหน้าที่พิจารณาเสนอแนะนโยบาย แผนงาน โครงการและมาตรการต่อคณะรัฐมนตรีในการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ และประสานการบริหาร กำกับดูแลการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ในภาพรวมทั้งระบบ รวมทั้งกำกับดูแล และเร่งรัดการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล และการพัฒนากิจกรรมต่างๆ สามารถอยู่ร่วมกันกับชุมชนในพื้นที่ได้อย่างยั่งยืน

 

ขณะที่ความเคลื่อนไหวในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ก็เป็นไปอย่างเข้มข้นเช่นกัน โดยล่าสุด เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2552 ที่ศาลาประชาคม อ.สิชล จ.นครศรีธรรมราช การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ได้จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของชาวบ้าน ต.ทุ่งปรัง อ.สิชล มีชาวบ้านเข้าร่วมกว่า 300 คน มีนายเอนก นาคะบุตร เป็นผู้ดำเนินการประชุม

ภาพแสดงแผนแม่บทการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้

 

แม้ในการประชุมรับฟังความคิดเห็นครั้งนี้ไม่สามารถดำเนินการไปได้จนจบเวที เนื่องจากชาวบ้านแสดงการคัดค้านจนเกิดความวุ่นวาย จนถึงขนาดทำให้นายเอนกต้องประกาศขอยุติการประชุม พร้อมระบุว่าจะสรุปรายงานการประชุมส่งไปยัง กนอ.ว่า ชาวบ้านไม่เอานิคมอุตสาหกรรม แต่ในข้อมูลรายละเอียดโครงการที่มีการนำเสนอในเวทีดังกล่าวกลับพบว่ามีความน่าสนใจอยู่ไม่น้อย

 

โดยในเวทีครั้งนั้น นายเอนก ได้นำเสนอคู่มือชาวบ้าน เล่มที่ 1 นิคมอุตสาหกรรมและท่าเรืออุตสาหกรรมพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ (Southern Seaboard) จัดทำโดย กนอ. และทีมงานการสร้างทัศนคติในเชิงบวกต่อการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมและท่าเรืออุตสาหกรรมและรับทราบความต้องการของประชาชนเพื่อให้เกิดกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนในบริเวณพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ (Southern Seaboard : SSB)

 

ซึ่งมีเนื้อหาระบุว่า การพัฒนาอุตสาหกรรมในพื้นที่อำเภอสิชลอยู่ในความรับผิดชอบของ กระทรวงพลังงาน (MINISTRY OF ENERGY) เป็นผู้กำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเคมีในพื้นที่รวม 10,000 ไร่

 

ในพื้นที่ดังกล่าว แบ่งเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมตัวนำการพัฒนา ใช้พื้นที่ 7,100 ไร่ ประกอบด้วย โรงกลั่นน้ำมันและถังเก็บ โรงแยกก๊าซ โรงงานปิโตรเคมี โรงงานเคมีภัณฑ์ และกลุ่มอุตสาหกรรมใช้วัตถุดิบในพื้นที่ ใช้พื้นที่ 2,700 ไร่ ประกอบด้วย โรงงานผลิตพลังงานทดแทน โรงงานผลิตภัณฑ์ยาง โรงงานแปรรูปประมง/อาหารทะเล และพื้นที่กันชน ล้อมรอบพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมใช้พื้นที่ 200 ไร่

 

ทั้งนี้ ความคืบหน้าที่เกิดขึ้น เนื่องมาจากก่อนหน้านี้ ในการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2551 ในสมัยรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรี ได้เห็นชอบให้สำนักนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กระทรวงคมนาคมศึกษาความเหมาะสมแนวทางการพัฒนาท่าเรือฝั่งทะเลอันดามันและสะพานเศรษฐกิจเชื่อมโยงท่าเรือฝั่งอ่าวไทย หรือโครงการแลนด์บริดจ์ 3 เส้นทาง คือ สายเดิมระหว่าง ขนอม – กระบี่ ขนอม – พังงา (ทับละมุ) และสายใหม่ระหว่าง สงขลา – สตูล (ท่าเรือน้ำลึกปากบารา)

 

ขณะเดียวกันยังเห็นชอบให้ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ตั้งคณะกรรมการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ หรือ กพต. เพื่อศึกษาหรือปรึกษาหารือพื้นที่ 4 กลุ่มอุตสาหกรรม ได้แก่

 

1.เหล็กต้นน้ำ คือรถยนต์ที่ อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ และ 4 พื้นที่ทางเลือก คือ อ.กุยบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์/ อ.ประทิว จ.ชุมพร/ อ.ดอนสัก จ.สุราษฏร์ธานี/ อ.สิชล จ.นครศรีธรรมราช

2.เกษตรแปรรูป/พืชพลังงาน คือยางพาราและน้ำมันปาล์มที่ จ.กระบี่ และ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

3.ท่องเที่ยว ด้านอันดามันและสมุยที่ จังหวัดชายฝั่งทะเลอันดามันและ จ.สุราษฏร์ธานี

4.พลังงานและปิโตรเคมี คือก๊าซอ่าวไทยและท่าเรือน้ำลึก นครศรีธรรมราชและสงขลา – ปัตตานี

 

พร้อมอนุมัติกรอบวงเงินงบประมาณ 5 ปี 5.8 หมื่นล้านบาท โดยงบประมาณในปี 2552 จำนวน 1.3 หมื่นล้านบาท โดยให้ชุมชนท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์

แผนผังท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ต.ทุ่งปรัง อ.สิชล จ.นครศรีธรรมราช

 

สำหรับเซาท์เทิร์นซีบอร์ดมีเป้าหมายตามแผนแม่บทอุตสาหกรรมและการท่าเรือภาคใต้ คือ การก่อสร้างเส้นทางเศรษฐกิจใหม่ ถนนหมายเลข 44 กระบี่ – ขนอม ซึ่งก่อสร้างเสร็จแล้ว การพัฒนาเขตนิคมอุตสาหกรรม แปรรูปสินค้าเกษตรครบวงจรบนเส้นทางเศรษฐกิจใหม่ การพัฒนาฐานอุตสาหกรรมน้ำมัน – ปิโตรเคมี การพัฒนาท่าเรือน้ำลึก การพัฒนาศูนย์กลางกระจายสินค้าและ LOGISTICS ระดับโลกตอนปลายของสะพานเศรษฐกิจทั้ง 2 ฝั่งทะเล เป็นต้น

 

ขณะเดียวกัน ยังจะต้องจัดหาแหล่งน้ำดิบ เพื่อให้เพียงพอใช้ในอุตสาหกรรมและการบริโภคโดยการสร้างอ่างเก็บน้ำกระจายหลายพื้นที่ ได้แก่ อ่างเก็บน้ำคลองท่าทน อ.สิชล อ่างเก็บน้ำฝาย อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช อ่างเก็บน้ำคลองลำรูใหญ่ อ.ท้ายเหมือง จ.พังงา และอ่างเก็บน้ำคลองแห้ง อ.เขาพนม จ.กระบี่

 

สำหรับการตั้งนิคมอุตสาหกรรมและท่าเรืออุตสาหกรรม มีลำดับขั้นตอน คือ ศึกษาความเป็นไปได้ โดยการศึกษาความต้องการของประชาชน การนิคมอุตสาหกรรม (กนอ.) เสนอให้รัฐบาลพิจารณา กนอ.จัดทำแผนการลงทุน แผนการก่อสร้าง แผนด้านสิ่งแวดล้อม สังคมและสุขภาพ กนอ. ปรึกษาหารือ รับฟัง ทำประชามติ และให้รัฐบาลและ กนอ.ตัดสินใจ

 

โดยคำนึงถึง คือ ข้อพิจารณาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมต่อพื้นที่สร้างท่าเรือน้ำลึก ปัจจัยด้านวิศวกรรม ผลกระทบต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและชุมชนน้อยที่สุด การคมนาคม แหล่งน้ำ ความเสี่ยงต่อภัยพิบัติ ต้นทุน และการยอมรับของชุมชน เป็นต้น

 

สำหรับพื้นที่ที่มีการสร้างความเข้าใจและปรึกษาหารือกัน ประกอบด้วยอ.สิชล ได้แก่ ต.เทพราช เสาเภา ทุ่งปรัง(พื้นท่าเรือฯ) และสิชล อ.นาบอน ได้แก่ ต.แก้งแสน(พื้นที่นิคมอุตสาหกรรม) ทุ่งสง และนาบอน อ.ท่าศาลา ได้แก่ ต.กลาย และสระแก้ว อ.บ้านนาเดิม จ.สุราษฎร์ธานี ได้แก่ ต.ท่าเรือ ทรัพย์ทวี บ้านนา และนาใต้

 

โดยผลการพิจารณาการตั้งทั้งพื้นที่ทำท่าเรือน้ำลึกและอุตสาหกรรมปิโตรเคมี และพื้นที่ทำอุตสาหกรรมแปรรูป จากความเหมาะสม 3 ด้าน คือ ต้นทุนการพัฒนา ผลกระทบสิ่งแวดล้อม การยอมรับของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ที่ผ่านมา พบว่า พื้นที่ทำท่าเรือน้ำลึกและอุตสาหกรรมปิโตรเคมี อ.สิชล มีต้นทุนการพัฒนา 85,195 ล้านบาท ผลกระทบสิ่งแวดล้อมน้อย และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียยอมรับมาก อ.ท่าศาลา มีต้นทุนการพัฒนา 58,759 ล้านบาท ไม่มีผลกระทบสิ่งแวดล้อมเลย และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียค่อนข้างยอมรับ

 

โดยในเอกสารแผนแม่บทอุตสาหกรรมและการท่าเรือภาคใต้ ที่นำเสนอโดยนายเอนก นาคะบุตร ในเวทีเดียวกัน ได้สรุปผลการคัดเลือกพื้นที่ทางเลือกเพื่อสร้างท่าเรืออุตสาหกรรมที่เหมาะสมทางด้านวิศวกรรมและสิ่งแวดล้อมตามลำดับ ดังนี้

 

บริเวณบ้านคอเขา ต.ทุ่งปรัง อ.สิชล ได้ 64.16 คะแนน
บริเวณบ้านบางสวน ต.กลาย อ.ท่าศาลา ได้ 61.67 คะแนน
บริเวณบ้านทุ่งไสย อ.สิชล ได้ 57.50 คะแนน
บริเวณบ้านหน้าด่าน อ.ขนอม ได้ 45.55 คะแนน
บริเวณบ้านอ่าวท้องแฝงเภา อ.ขนอม ได้ 41.94 คะแนน 

 

แผนผังนิคมอุตสาหกรรมแปรรูป ต.แก้วแสน อ.นาบอน จ.นครศรีธรรมราช

 

ส่วนพื้นที่ทำอุตสาหกรรมแปรรูป อ.นาบอน มีต้นทุนการพัฒนา 5,571 ล้านบาท ไม่มีผลกระทบสิ่งแวดล้อมเลย และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียยอมรับมาก อ.บ้านนาเดิม มีต้นทุนการพัฒนา 9,036 ล้านบาท มีผลกระทบสิ่งแวดล้อมสูง และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียไม่ยอมรับ

 

โดยในเอกสารคัดย่อรายงานความก้าวหน้าครั้งที่ 3 โครงการศึกษาการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมเพื่อรองรับการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ ที่นำเสนอในเวทีเดียวกัน ระบุพื้นที่ทางเลือกในการตั้งพื้นที่ทำอุตสาหกรรมแปรรูป เฉพาะในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราชเท่านั้น โดยระบุว่า

 

พื้นที่ทางเลือกที่1 ต.ทุ่งปรัง อ.สิชล มีพื้นที่ 19,000 ไร่ ห่างจาก อ.เมืองนครศรีธรรมราช 63 กิโลเมตร ห่างจากที่ว่าการ อ.สิชล 1 กิโลเมตร เป็นที่ราบลุ่มขนาดใหญ่ ลาดลงทะเลอ่าวไทย ถมดินสูงโดยเฉลี่ย 0.7 เมตร มีท่าเรือ และพื้นที่ประกอบการอุตสาหกรรม บริเวณบ้านคอเขา ต.ทุ่งปรัง

 

ทางเลือกที่ 2 บ้านบางสาน ต.กลาย อ.ท่าศาลา พื้นที่ 19,000 ไร่ เป็นที่ราบลุ่ม ถมที่เพิ่มให้สูงกว่าระดับน้ำทะเล 50 เซนติเมตร สร้างแนวป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง 25 กิโลเมตรจาก ต.กลาย – ต.ทุ่งปรัง ใช้งบ 1,200 ล้านบาท มีพื้นที่หลังท่ากว้างกว่า 10,000 ไร่

.

ส่วนทางเลือกที่ 3 ที่ ต.แก้วแสน อ.นาบอน พื้นที่ก่อสร้าง 5,500 ไร่ เป็นที่ราบลุ่มใหญ่ ถมที่สูง 0.70 เมตร ต้องมีการตัดถนนและทางรถไฟสร้างทางรถไฟคู่จากสถานีสุราษฏร์ธานี – บ้านนา 29 กิโลเมตรต้นทุนก่อสร้างถนนและทางรถไฟจากนาบอน- ท่าศาลา 3,720 ล้านบาท หรือจากนาบอน- สิชล 5,650 ล้านบาท ต้นนทุนพัฒนาแหล่งน้ำอีก 2,542 ล้านบาท เป็นต้น

.

ในเอกสารชุดเดียวกัน ระบุพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากทั้งสองพื้นที่โครงการดังกล่าว ใน 4 อำเภอใน จ.นครศรีธรรมราช ได้แก่ อ.นาบอน ช้างกลาง ท่าศาลา และสิชล รวม 13 ตำบล 155 หมู่บ้าน ประชาชากร 115,840 คน รวม 32,676 ครัวเรือน

.

โฉมหน้าของภาคใต้จะเปลี่ยนไปตามนี้หรือไม่ ก็คงอยู่ที่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหลายว่าจะร่วมกันให้ความเห็นและกำหนดอนาคตภาคใต้ให้ไปอย่างที่มีการนำเสนอหรือไม่เท่านั้นเอง หรือจะปล่อยให้ซ้ำรอยอย่างมาบตาพุดที่ศาลปกครองระยองมีคำสั่งให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ประกาศเป็นพื้นที่ควบคุมมลพิษ เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา เพราะเห็นว่าในน้ำ อากาศมีแต่สารพิษเกินค่ามาตรฐาน

 .

รัฐลุยเซาท์เทิร์นซีบอร์ด

ตั้งกรรมการวางกรอบพัฒนาใต้

 

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2552 ที่ผ่านมา มีมติแต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ (เซาท์เทิร์นซีบอร์ด) ประกอบด้วย นายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการ รองนายกรัฐมนตรี (นายสุเทพ เทือกสุบรรณ) เป็นรองประธานกรรมการคนที่หนึ่ง รองนายกรัฐมนตรี (นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ) เป็นรองประธานกรรมการคนที่สอง

 

กรรมการประกอบด้วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย

 

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายวีระชัย วีระเมธีกุล) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวง มหาดไทย (นายถาวร เสนเนียม) ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี (นายสาวิตต์ โพธิวิหค) ปลัดกระทรวงการคลัง ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย

 

โดยมีเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นกรรมการและเลขานุการ รองเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (นางจุฑามาศ บาระมีชัย) เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ

 

คณะกรรมการชุดนี้มีหน้าที่ 1) พิจารณาเสนอแนะนโยบาย แผนงาน โครงการและมาตรการต่อคณะรัฐมนตรีในการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ และประสานการบริหาร กำกับดูแลการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ในภาพรวมทั้งระบบ

 

2) กำกับดูแล และเร่งรัดการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ ให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล และการพัฒนากิจกรรมต่างๆ สามารถอยู่ร่วมกันกับชุมชนในพื้นที่ได้อย่างยั่งยืน

 

3) แต่งตั้งคณะอนุกรรมการ และคณะทำงาน เพื่อช่วยเหลือหรือปฏิบัติงานได้ตามความเหมาะสม 4) ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่คณะรัฐมนตรี หรือนายกรัฐมนตรีมอบหมาย

 
ที่มา : ประชาไทดอทคอม