ศาลปกครองเชียงใหม่ เตรียมหารืออัยการและผู้เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการในขั้นตอนต่อไป พร้อมยืนยันว่า กฟผ. ได้ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตของราษฎรในพื้นที่ อ.แม่เมาะ มาโดยตลอดเช่นเดียวกับการดูแลชุมชนรอบโรงไฟฟ้าของ กฟผ. ทั่วประเทศ
กฟผ. รับทราบคำพิพากษาของศาลปกครองเชียงใหม่ เตรียมหารืออัยการและผู้เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการในขั้นตอนต่อไป พร้อมยืนยันว่า กฟผ. ได้ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตของราษฎรในพื้นที่ อ.แม่เมาะ มาโดยตลอดเช่นเดียวกับการดูแลชุมชนรอบโรงไฟฟ้าของ กฟผ. ทั่วประเทศ |
วันนี้ (4 มี.ค.) นายวิรัช กาญจนพิบูลย์ รองผู้ว่าการกิจการสังคมและสิ่งแวดล้อม ในฐานะโฆษก การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยภายหลังศาลปกครองเชียงใหม่อ่านคำพิพากษาคดีราษฎรแม่เมาะ 418 คน ฟ้อง กฟผ. และหน่วยงานราชการ จำนวน 35 คดี เรียกค่าเสียหายจากการเกิดปัญหาคุณภาพอากาศจากโรงไฟฟ้าและเหมืองแม่เมาะ ทุนทรัพย์ประมาณ 3,000 ล้านบาท ว่าศาลปกครองเชียงใหม่ พิจารณาแบ่งการตัดสินเป็น 2 กลุ่มคดี คือ กลุ่มคดีเกี่ยวกับโรงไฟฟ้า 19 คดี และ กลุ่มคดีเกี่ยวกับเหมือง 16 คดี |
นายวิรัช กล่าวว่า ในส่วนกลุ่มคดีเกี่ยวกับโรงไฟฟ้า ที่ศาลปกครองเชียงใหม่วินิจฉัยโดยสรุปว่า ตั้งแต่ ปี 2541 เป็นต้นมา โรงไฟฟ้าแม่เมาะไม่ได้ปล่อยสารซัลเฟอร์ไดออกไซด์เกินกว่ามาตรฐานที่กฎหมายกำหนด และไม่มีสารซัลเฟอร์ฯ สะสมในร่างกายของราษฎรที่แม่เมาะ แต่เนื่องจากศาลเห็นว่าระหว่างปี 2535-2541 โรงไฟฟ้าปล่อยสารซัลเฟอร์ฯ เกินมาตรฐานที่กำหนดเป็นครั้งคราว จึงให้ กฟผ. ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้ง 19 สำนวน |
และสำหรับของกลุ่มคดีเกี่ยวกับเหมืองแม่เมาะ ที่ศาลวินิจฉัยว่า กฟผ. ยังไม่ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขประทานบัตรในการทำเหมืองครบทุกข้อ และมีคำสั่งให้ กฟผ. ดำเนินให้ครบถ้วน พร้อมทั้งได้วินิจฉัยว่า การที่ กฟผ. ยังปฏิบัติไม่ครบถ้วนตามเงื่อนไขแนบท้ายประทานบัตรนั้น ไม่ได้ก่อให้เกิดความเสียหายต่อรัฐและผู้ฟ้องคดีแต่อย่างใด |
ในเรื่องนี้ กฟผ. ขอศึกษารายละเอียดต่างๆ ตามคำพิพากษา และต้องหารือกับพนักงานอัยการซึ่งเป็นผู้รับมอบอำนาจแก้ต่างคดีให้ กฟผ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อนว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป |
โฆษก กฟผ. กล่าวเพิ่มเติมว่า กฟผ. ได้ดำเนินการเพื่อป้องกันปัญหาด้านคุณภาพอากาศ ที่ โรงไฟฟ้าแม่เมาะ โดย กฟผ. ได้ทำการติดตั้งเครื่องกำจัดก๊าซซัลเฟอร์ฯ สำหรับโรงไฟฟ้าทุกเครื่องเรียบร้อยแล้ว และ มั่นใจว่าได้ดำเนินการทุกขั้นตอนตามกฎหมายเกี่ยวกับคุณภาพสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการดูแลให้ความช่วยเหลือด้านความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตของราษฎร อ.แม่เมาะ มาอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ในระหว่างปี 2535-2540 กฟผ. ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาระยะสั้นด้วยมาตรการต่างๆ อาทิ การลดกำลังการผลิตในช่วงที่สภาวะ |
อากาศไม่เอื้ออำนวย การใช้น้ำมันดีเซล เดินเครื่องเสริม การติดตั้งระบบตรวจวัดคุณภาพอากาศ เพื่อควบคุมการเดินเครื่องกำเนิดไฟฟ้า เป็นต้น |
ส่วนการดำเนินการเกี่ยวกับมาตรการที่แนบท้ายประทานบัตรเหมืองนั้น กฟผ. ได้ดำเนินการฟื้นฟูสภาพเหมือง โดยการจัดแบ่งพื้นที่เป็น 4 ส่วน คือ พื้นที่ปลูกป่าทดแทน พื้นที่อยู่อาศัยและที่ทำกิน พื้นที่แหล่งกักเก็บน้ำ พื้นที่พักผ่อน และแหล่งเรียนรู้ อาทิ สวนพฤษชาติ อาคารพิพิธภัณฑ์เฉลิมพระเกียรติฯ ทุ่งบัวตอง ลานกิจกรรมนันทนาการ และสนามกอล์ฟ |
สำหรับราษฎรที่อาศัยในพื้นที่ใกล้บริเวณเหมือง ที่ ครม. มีมติ ให้โยกย้ายออกจากพื้นที่โดยความสมัครใจ คือ บ้านหัวฝาย บ้านหัวฝายหล่ายทุ่ง บ้านหางฮุง บ้านห้วยเป็ด และบ้านห้วยคิง กฟผ. ได้ดำเนินการโยกย้ายแล้วเป็นส่วนใหญ่ และขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการอพยพราษฎรชุดสุดท้ายออกจากพื้นที่ |
โฆษก กฟผ. กล่าวในตอนท้ายว่า กฟผ. ให้คามสำคัญต่อการดำเนินงานเพื่อป้องกันผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ตามมาตรฐานสากลอย่างต่อเนื่อง เช่น ด้านฝุ่น เสียง น้ำ เป็นต้น จนได้รับ ใบรับรองด้านสิ่งแวดล้อม ISO 14001 รวมทั้งดูแลให้ความช่วยเหลือด้านความเป็นอยู่และคำนึงถึงคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของราษฎรที่อาศัยอยู่บริเวณรอบพื้นที่โรงไฟฟ้าและเหมืองอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับการดูแลชุมชนรอบโรงไฟฟ้าของ กฟผ. ทั่วประเทศ |