อภิประชานิยม นั่งหัวโต๊ะประชุมบอร์ดบีโอไอนัดแรก ไฟเขียวเร่งมาตรการกระตุ้นการลงทุน ปรับปรุงเงื่อนไข ลดข้อจำกัด และอุปสรรคในการดำเนินธุรกิจ หวังยื้อภาพติดลบส่งออก
นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมบอร์ดบีโอไอนัดแรก ที่ประชุมพร้อมใจ ไฟเขียวมาตรการกระตุ้นการลงทุน โดยเพิ่มประเภทกิจการที่ได้รับส่งเสริมภายใต้มาตรการพิเศษเร่งรัดการลงทุน รวมทั้งเห็นชอบให้ปรับปรุงเงื่อนไขต่างๆ เพื่อลดข้อจำกัด และอุปสรรคในการดำเนินธุรกิจ |
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบอร์ดบีโอไอ ว่า เพื่อเป็นการกระตุ้นให้เกิดการลงทุนในช่วงภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ที่ประชุมจึงเห็นชอบให้เพิ่มประเภทกิจการใน 6 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มกิจการที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ให้ครอบคลุมถึงการผลิตอุปกรณ์ โทรคมนาคม และชิ้นส่วนที่ใช้กับผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ |
กลุ่มโครงการลงทุนขนาดใหญ่ ได้แก่ การผลิตรถไฟหรือรถไฟฟ้า หรือชิ้นส่วน (เฉพาะระบบราง) กิจการผลิตท่อเหล็กหรือท่อไร้สนิม กิจการผลิตผลิตภัณฑ์คอนกรีตอัดแรงสำหรับงานสาธารณูปโภค เป็นต้น ส่วนกลุ่มอุตสาหกรรมที่ใช้ผลิตผลทางการเกษตรเป็นวัตถุดิบและใช้เทคโนโลยีขั้นสูง เห็นชอบให้เพิ่มกิจการอาหารทางการแพทย์ และกิจการผลิตยางยานพาหนะ |
ทั้งนี้ กิจการใน 6 กลุ่มอุตสาหกรรมที่อยู่ภายใต้มาตรการพิเศษเพื่อเร่งรัดการลงทุน ยกเว้นโครงการที่ตั้งในเขตกรุงเทพฯ จะได้รับยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักรทุกเขต ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี ทุกเขต และได้รับลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับกำไรสุทธิที่ได้จากการลงทุนในอัตราร้อยละ 50 เป็นเวลาไม่เกิน 5 ปี นับจากวันที่พ้นกำหนดระยะเวลาการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล เป็นต้น |
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังเห็นชอบให้ขยายเวลาหลักเกณฑ์การให้ส่งเสริมการลงทุนของโครงการที่ตั้งในนิคมหรือเขตอุตสาหกรรมที่ได้รับส่งเสริม ในเขต 2 รวมทั้งนิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง และในจังหวัดระยอง โดยจะขยายระยะเวลาออกไปอีก 5 ปี ไปจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2557 เพื่อกระตุ้นให้เกิดการลงทุนในภาวะวิกฤติ และส่งเสริมให้มีการลงทุนอย่างต่อเนื่องในระยะยาว |
ด้านนายชาญชัย ชัยรุ่งเรือง รัฐมนตรีว่ากระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะรองประธานบอร์ดบีโอไอ กล่าวถึงเรื่องการจัดทำแผนรองรับการดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่อง หรือ BCP (Business Continuity Plan) เพื่อรองรับสถานการณ์ที่ไม่ปกติ ที่อาจจะเกิดขึ้น ที่ประชุมเห็นควรให้มีการจัดทำแผนเฉพาะเรื่องการบริหารจัดการด้านโลจิสติกส์ หากสนามบินหรือท่าเรือไม่สามารถให้บริการได้ โดยให้กระทรวงคมนาคมทำการศึกษาในรายละเอียดเห็นชอบมาตรการเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน |
ด้านนางอรรชกา สีบุญเรือง บริมเบิล เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ กล่าวถึงมติที่ประชุมที่มีต่อมาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน ว่า ที่ประชุมเห็นชอบให้กำหนดหลักเกณฑ์ของมาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต เพื่อกระตุ้นให้เกิดการลงทุนปรับเปลี่ยนเครื่องจักรไปสู่เทคโนโลยีที่ทันสมัย เพื่อให้เกิดการใช้พลังงานลดลงหรือให้มีการนำพลังงานทดแทนมาใช้ รวมทั้งเพื่อส่งเสริมให้ลงทุนปรับเปลี่ยนเครื่องจักร เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งการลดปริมาณของเสีย น้ำเสีย หรืออากาศ |
. |
ทั้งนี้ จะต้องเป็นกิจการที่อยู่ในข่ายให้การส่งเสริม ระยะเวลาการยกเว้นหรือลดหย่อนภาษีของโครงการเดิมต้องสิ้นสุดลงแล้ว หรือเป็นโครงการที่ไม่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล และต้องยื่นคำขอภายในปี 2552 และดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในปี 2554 |
. |
สำหรับโครงการที่ลงทุนเพิ่มตามเงื่อนไขดังกล่าว จะได้รับการยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปี เป็นสัดส่วนร้อยละ 70 ของมูลค่าเงินลงทุน |
. |
สั่งการหน่วยงานรัฐเร่งแก้ไขปัญหาการดำเนินธุรกิจ นางอรรชกา กล่าวต่อไปว่า ภายใต้ภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องช่วยเหลือผู้ประกอบการเพื่อเป็นการสร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุน ที่ประชุมยังเห็นชอบให้หน่วยงานภาครัฐที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจของภาคเอกชน ดำเนินการแก้ไขปัญหาและอุปสรรค และรายงานผลการดำเนินงานให้กับบอร์ดบีโอไอทราบโดยด่วน |
. |
ทั้งนี้ ปัญหาและอุปสรรคส่วนใหญ่เกิดจากความไม่ชัดเจนของกฎระเบียบ และการตีความของกฎหมายที่แตกต่างกันของหน่วยงานราชการ ทำให้บริษัทบางรายต้องเสียภาษีอากรย้อนหลังหรือเบี้ยปรับเป็นจำนวนมาก |