ปตท.-บ.เกษมศักดิ์ เทรดดิ้ง ทดลองใช้ก๊าซธรรมชาติในรูปของก๊าซธรรมชาติอัด หรือ CNG ในภาคอุตสาหกรรมที่ไม่มีแนวท่อส่งก๊าซฯผ่าน เพื่อลดการนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศ ตามนโยบายประหยัดพลังงานและยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาพลังงานของรัฐบาล
วานนี้ (วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2552) ที่ อาคารสำนักงานใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) นายรัชดา สิงคาลวณิช อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม และ ดร.จิตรพงษ์ กว้างสุขสถิตย์ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นต้นและก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ร่วมกันเป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงโครงการทดลองใช้ก๊าซธรรมชาติอัด (Compressed Natural Gas : CNG) ในโรงงานอุตสาหกรรม ระหว่าง บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) |
. |
โดย นายณัฐชาติ จารุจินดา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ กับ บริษัท เกษมศักดิ์ เทรดดิ้ง จำกัด ผู้ประกอบการผลิตเหล็กสำหรับการก่อสร้างโดย นายเกษม จารุสกุลอารียกุล ประธานคณะกรรมการบริหาร ทั้งนี้เพื่อทดลองใช้ก๊าซธรรมชาติในรูปของก๊าซธรรมชาติอัด หรือ CNG ในภาคอุตสาหกรรมที่ไม่มีแนวท่อส่งก๊าซฯผ่าน เพื่อลดการนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศ ตามนโยบายประหยัดพลังงานและยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาพลังงานของรัฐบาล |
. |
สำหรับสาระสำคัญในบันทึกความร่วมมือ มีดังนี้ บริษัทเกษมศักดิ์ เทรดดิ้ง จำกัด และ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) จะร่วมมือกันดำเนินโครงการทดลองการใช้ CNG ทดแทนการใช้น้ำมันเตาในโรงงานผลิตเหล็ก ของ บริษัทฯ ซึ่งตั้งอยู่ที่ ตำบลทับคาง อำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี เพื่อศึกษาแนวทางการใช้ก๊าซธรรมชาติในรูปแบบ CNG หรือก๊าซธรรมชาติอัด |
. |
ซึ่งขนส่งโดยรถเทรเลอร์ ในโรงงานอุตสาหกรรม โดย บริษัท เกษมศักดิ์ เทรดดิ้ง จำกัด จะเป็นผู้ลงทุนก่อสร้าง ดูแลบำรุงรักษาอุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้ในการรับ CNG (CNG Receiving Connector) รวมถึงอุปกรณ์ลดความดัน CNG ที่จะนำ CNG ไปใช้ในโรงงานทั้งหมด สำหรับ ปตท. จะจัดส่ง CNG ให้บริษัทฯ ในปริมาณประมาณ 20 ตันต่อวัน ซึ่งใช้ทดแทนน้ำมันเตาที่ปัจจุบันบริษัทฯ ใช้อยู่ และจะใช้เพิ่มขึ้นประมาณ 18,000 ลิตรต่อวัน โดยจะเริ่มใช้งานประมาณปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2552 นี้ |
. |
ดร.จิตรพงษ์ กว้างสุขสถิตย์ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นต้นและก๊าซธรรมชาติ ปตท. เปิดเผยว่า หากโครงการทดลองใช้ CNG ในโรงงานอุตสาหกรรมประสบผลสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ ก็จะเป็นการเพิ่มทางเลือกให้แก่ผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรมอื่นที่ตั้งอยู่ในพื้นที่นอกแนวท่อส่งก๊าซธรรมชาติ ให้สามารถใช้ก๊าซธรรมชาติในรูปก๊าซธรรมชาติอัดหรือ CNG เป็นเชื้อเพลิงทดแทนน้ำมันดีเซลและน้ำมันเตาได้ ทั้งนี้นอกจากจะช่วยลดต้นทุนในการดำเนินการของผู้ประกอบการแล้ว ยังจะช่วยให้ประเทศประหยัดเงินตราจากการนำเข้าเชื้อเพลิง รวมทั้งช่วยลดมลภาวะที่เกิดจากโรงงานอุตสาหกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย |
. |
ดร.จิตรพงษ์ กว้างสุขสถิตย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่ตั้งโรงงานอยู่นอกเขตแนวท่อส่งก๊าซฯ ปตท. ได้พัฒนาการใช้ก๊าซธรรมชาติในรูปของเหลว (Liquefied Natural Gas) หรือ LNG จนประสบผลสำเร็จ |
. |
โดย ปตท. ได้ทดลองจำหน่าย LNG ให้กับ บริษัท ปตท. เคมิคอล จำกัด ตั้งแต่เดือน เมษายน 2551 เป็นต้นมา ในปริมาณเดือนละ 60 ตัน หรือประมาณ 0.1 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เพื่อใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้าและระบบทำความเย็นในอาคารสำนักงาน |
. |
และยังได้จำหน่าย LNG ให้กับสหกรณ์สวนยางเขาซก จังหวัดชลบุรี ซึ่งได้เริ่มใช้ในกระบวนการผลิตตั้งแต่ต้นเดือนมกราคม 2552 นี้ โดยนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงทดแทนน้ำมันดีเซลในการอบยางพารา ในปริมาณเดือนละ 45 ตัน หรือประมาณ 0.08 ล้านลบ.ฟุต/วัน |
. |
นอกจากนี้ ในพื้นที่ที่อยู่ไกลจากสถานี NGV หลัก (NGV Mother Station) ปตท. กำลังศึกษาการพัฒนาก๊าซชีวภาพที่ได้จากน้ำเสียหรือกากของวัตถุดิบในโรงงานอุตสาหกรรม เช่น น้ำเสียและกากจากโรงงานแป้งมันสำปะหลังนำมาป้อนให้กับสถานี NGV เพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงในรถยนต์ นอกจากนั้นยังได้ทำการศึกษาการขนส่งก๊าซฯ ในรูปของเหลว (LNG) แทนในรูปก๊าซธรรมชาติอัด (CNG) |
. |
ซึ่งนอกจากจะช่วยลดต้นทุนการขนส่ง CNG/NGV แล้ว ยังจะช่วยให้การส่งเสริมและขยายการใช้ CNG/NGV เป็นพลังงานทางเลือกทดแทนน้ำมันเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ครอบคลุมทุกภูมิภาคทั่วประเทศ ซึ่งจะส่งผลให้คนไทยใช้ CNG/NGV ได้อย่างสะดวกและทั่วถึงอีกด้วย |