เนื้อหาวันที่ : 2009-02-05 15:45:36 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 5142 views

การเมืองว่าด้วยงบประมาณ: รัฐบาลอภิสิทธิ์มือเติบกว่ารัฐบาลทักษิณ?

แม้ว่าช่วงเวลาที่พรรคประชาธิปัตย์ได้เถลิงอำนาจในฐานะแกนนำรัฐบาล (ซึ่งได้รอคอยมาเป็นเวลานาน) จะไม่ยาวนานนัก ได้ประจักษ์ชัดแล้วว่า การจัดสรรงบประมาณของรัฐบาลอภิสิทธิ์ทำลายวินัยทางการคลัง ท่าทีของรัฐบาลต่อการจัดสรรงบประมาณ ย่อมนำมาซึ่งภยันตรายต่อระบบเศรษฐกิจไทยในอนาคตอย่างแน่แท้

 

เกรียงชัย ปึงประวัติ : นักศึกษาปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยเกียวโต

.
1.ความนำ

จำเดิมแต่พรรคไทยรักไทยได้ก่อร่างสร้างตัวและประกาศนโยบายที่เกี่ยวโยงกับการอุดหนุนราษฎรในชนบท เสียงเย้ยหยันก็ดังกังวานจากพลพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งครองอำนาจรัฐอยู่ในขณะนั้น ต่อมาเมื่อรัฐบาลทักษิณสามารถปฏิบัตินโยบายหาเสียงได้สำเร็จเป็นประวัติการณ์ ท่าทีของพรรคประชาธิปัตย์ต่อฝ่ายตรงข้ามหาได้เปลี่ยนแปลงไม่ หากแต่การวิพากษ์วิจารณ์ได้ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องโดยมีจุดศูนย์กลางอยู่ที่การโจมตีรัฐบาลทักษิณในเรื่องการละเมิดวินัยทางการคลัง การใช้จ่ายเกินตัว การจัดสรรงบประมาณเพื่อกอบโกยคะแนนนิยมทางการเมืองโดยไม่คำนึงถึงการพัฒนาประเทศที่ยั่งยืน ตลอดจนถึงรัฐบาลทักษิณสร้างปัญหาและก่อภาระให้แก่อนุชน

.

พตท. ดร.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัญมนตรี       นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี

 .

เนื่องจากบทความนี้ถูกนำเสนอในท่ามกลางความขัดแย้งและการต่อสู้แย่งชิงอำนาจทางการเมือง ซึ่งเป็นธรรมดาที่จะต้องมีการแบ่งแยกฝักฝ่ายทางการเมือง อย่างไรก็ตามผู้เขียนต้องการที่จะอธิบายปรากฏการณ์ทางเศรษฐกิจการเมืองจากข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์ กล่าวอีกนัยหนึ่งการแสวงหาข้อมูลมีความจำเป็นในอันที่จะบ่งชี้ถึงความแตกต่างระหว่างภาพลักษณ์กับความเป็นจริง

.

โดยที่การเชื่อถือเอาตามคำบอกเล่าหรือคำกล่าวอ้างในเรื่องใดๆ โดยปราศจากการไตร่ตรอง และยึดมั่นในความเชื่อนั้นว่าเป็นความจริงสัมบูรณ์อันไม่อาจโต้แย้งได้ [1] เป็นปัญหาที่สำคัญยิ่งของการเมืองไทยในปัจจุบันซึ่งส่งผลให้การหาทางออกจากความขัดแย้งที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องยาวนานเป็นไปโดยยากยิ่ง ดังนั้นผู้อ่านพึงพิจารณาสิ่งที่นำเสนอในบทความนี้ด้วยโยนิโสมนสิการ

.

แม้ว่าช่วงเวลาที่พรรคประชาธิปัตย์ได้เถลิงอำนาจในฐานะแกนนำรัฐบาล (ซึ่งได้รอคอยมาเป็นเวลานาน) จะไม่ยาวนานนัก แต่ผู้เขียนได้ประจักษ์ชัดแก่ตนเองแล้วว่า การจัดสรรงบประมาณของรัฐบาลอภิสิทธิ์ทำลายวินัยทางการคลัง ซึ่งหากว่าไม่มีการเปลี่ยนแปลงทิศทางและท่าทีของรัฐบาลต่อการจัดสรรงบประมาณดังที่ได้เกิดขึ้นแล้วนี้ ย่อมนำมาซึ่งภยันตรายต่อระบบเศรษฐกิจไทยในอนาคตอย่างแน่แท้ 

.

ดังที่พรรคการเมืองนี้เคยฝากผลงานอันเลื่องชื่อไว้แล้วในกรณีการเร่งรัดเปิดเสรีทางการเงินด้วยการอนุญาตประกอบกิจการกรุงเทพวิเทศธนกิจ โดยปราศจากการปรับเปลี่ยนนโยบายการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศให้สอดคล้องต้องกัน ซึ่งนับเป็นสมุฏฐานหลักของวิกฤตการณ์ทางการเงินในปี พ.ศ. 2540

.

บทความนี้แบ่งออกเป็นสี่ตอน ตอนที่หนึ่งเป็นความนำ ตอนที่สองจะอธิบายขยายความคำกล่าวอ้างของผู้เขียนที่ว่าวินัยทางการคลังได้ถูกทำลายโดยรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์อย่างไร ตอนที่สามจะกล่าวถึงปัจจัยทางการเมืองที่เป็นตัวกำหนดให้รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ดำเนินการจัดสรรงบประมาณตามที่ได้เกิดขึ้น และตอนสุดท้ายเป็นบทสรุป

.
2.เมื่อพระเอกกลายเป็นผู้ร้าย

นายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกรณ์ จาติกวนิชเป็นที่นับหน้าถือตาว่าเป็นบุคคลที่มีความรู้ความสามารถสูง [2] และอุดมไปด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ในขณะที่ทักษิณ ชินวัตร อย่างน้อยในสายตาพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเป็นผู้ร้ายตัวฉกาจ และทำเพื่อประโยชน์ส่วนตนมากกว่าเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม [3] โดยภาพลักษณ์เช่นนี้ชวนให้คิดว่าการจัดสรรงบประมาณของรัฐบาลอภิสิทธ์ย่อมนำไปสู่อุตมภาวะและความยั่งยืนต่อระบบเศรษฐกิจไทย ในขณะที่รัฐบาลทักษิณย่อมเป็นตัวการสำคัญในอันที่จะสร้างความล่มจมเสียหายให้แก่บ้านเมือง

.

แต่ในความเป็นจริงในเรื่องของการงบประมาณกลับเป็นตรงกันข้าม ในที่นี้กรณีของงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมจะถูกยกเป็นตัวอย่างในเบื้องแรก ตลอดช่วงการบริหารประเทศของรัฐบาลทักษิณ ซึ่งรัฐบาลมีโอกาสจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีรวมทั้งสิ้น 5 ปีงบประมาณ( พ.ศ. 2545-2549) มีการจัดทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมอยู่สองครั้งคือปีงบประมาณ พ.ศ. 2547 และ 2548 ซึ่งงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมได้ประกาศใช้ในเดือนมีนาคม [4] และมิถุนายน [5] ตามลำดับ

.

ซึ่งหมายความว่างบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมในทั้งสองปีงบประมาณนี้ได้ถูกกำหนดขึ้นหลังจากที่ปีงบประมาณเกือบจะล่วงพ้นหรือได้ล่วงพ้นครึ่งปีงบประมาณไปแล้ว [6] แต่ประเด็นที่สำคัญยิ่งคืองบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมได้ถูกกำหนดขึ้นเมื่อเป็นที่แน่ชัดแล้วว่ารายได้ของรัฐบาลจะสูงกว่าประมาณการ [7] และหมายความว่าการใช้จ่ายงบประมาณซึ่งมีที่มาจากการเพิ่มขึ้นของรายได้นี้จะไม่ส่งผลกระทบในทางลบต่อระบบเศรษฐกิจ เพราะระบบเศรษฐกิจมีการขยายตัวสูงกว่าที่คาดการณ์

.

 ทั้งนี้รายได้จากภาษีที่กรมสรรพากรจัดเก็บในขณะที่มีการตรากฎหมายงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมสูงกว่าประมาณการอยู่ร้อยละ 24 และ 12 ตามลำดับ [8]

.

ในทางตรงกันข้าม พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2552 พ.ศ. 2552 ซึ่งเสนอโดยรัฐบาลอภิสิทธิ์ วงเงิน 116,700 ล้านบาท และได้รับการอนุมัติจากสภาผู้แทนราษฎรไปแล้วเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2552 ได้ประกาศใช้เมื่อเศรษฐกิจไทยยังอยู่ในสภาวะที่สั่นคลอนจากภาวะวิกฤตเศรษฐกิจโลก ทั้งนี้ในช่วงเดือนตุลาคม-ธันวาคม 2551 กรมสรรพากรสามารถจัดเก็บรายได้จำนวน 227,043 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการที่ตั้งไว้ 234,083 ล้านบาท

.

ส่วนต่างนี้คิดเป็นร้อยละ 3 ของประมาณการ [9] การตั้งงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมทั้งที่มีความชัดเจนแล้วว่ารายได้ของรัฐบาลที่มีอยู่แล้วและที่จะจัดเก็บได้ในปีงบประมาณปัจจุบันมีไม่เพียงพอกับความต้องการใช้จ่ายของรัฐบาลตามที่ระบุในกฎหมายงบประมาณรายจ่ายประจำปีและงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ย่อมเป็นที่ประจักษ์ชัดว่ารัฐบาลอภิสิทธิ์ไม่ระมัดระวังในการใช้จ่ายซึ่งจะส่งผลต่อเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจ

.

อย่างไรก็ตาม ในทางการเมืองเราสามารถทำความเข้าใจปรากฏการณ์นี้ได้ โดยที่แรงผลักดันต่อการประกาศใช้งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมนี้สืบเนื่องมาจากการที่รัฐบาลอภิสิทธิ์มิได้เป็นผู้จัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2552 ซึ่งจัดทำโดยรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช การที่ไม่ได้เป็นผู้จัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีหมายความว่าการกำหนดการจัดสรรงบประมาณให้แก่หน่วยงานต่างๆ เป็นที่ยุติแล้วภายใต้การตัดสินใจของรัฐบาลก่อนหน้า

.

 การที่รัฐบาลอภิสิทธิ์มีความต้องการที่จะใช้จ่ายงบประมาณเพื่อสนองต่อความต้องการของตนหรือเพื่อผลักดันนโยบายใดๆ มีความจำเป็นที่จะต้องกำหนดงบประมาณขึ้นมาใหม่ และในเมื่อการกำหนดการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีได้เสร็จสิ้นไปแล้ว จึงมีความจำเป็นต้องตรากฎหมายงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม

.

ประเด็นที่สำคัญคืองบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2552 ซึ่งมีวงเงิน 1,835,000 ล้านบาท [10] มีส่วนขาดดุลอยู่แล้ว 249,500 ล้านบาท [11] การประกาศใช้งบประมาณเพิ่มเติมย่อมมีผลในการซ้ำเติมภาวะการขาดดุลงบประมาณให้ร้ายแรงยิ่งขึ้น กล่าวคืองบประมาณเพิ่มเติม 116,700 ล้านบาท ที่กำหนดโดยรัฐบาลอภิสิทธิ์จะกลายเป็นส่วนขาดดุลที่เพิ่มเติมจากส่วนขาดดุลที่มีอยู่แล้วตามพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2552 ดังนั้นงบประมาณเพิ่มเติมของรัฐบาลอภิสิทธิ์มิอาจเป็นที่ยอมรับได้ในเชิงเศรษฐศาสตร์การคลังว่าจะทำให้ระบบเศรษฐกิจมีเสถียรภาพ

.

กล่าวโดยเปรียบเทียบ รัฐบาลทักษิณมีนโยบายจำนวนมากกว่าและแต่ละนโยบายมีความเป็นรูปธรรมมากกว่าของรัฐบาลอภิสิทธิ์ และมีความชัดเจนว่ารัฐบาลทักษิณต้องการใช้จ่ายงบประมาณเพื่อปฏิบัตินโยบายใดบ้าง ในขณะที่รัฐบาลอภิสิทธิ์ไม่มีนโยบายที่แน่ชัดเป็นรูปธรรมที่เทียบได้กับของรัฐบาลทักษิณ นอกจากนี้รัฐบาลทักษิณได้ใช้ความอดทนรอคอยให้ปีงบประมาณของงบประมาณที่จัดทำโดยรัฐบาลก่อนหน้า(ปีงบประมาณ พ.ศ. 2544) ได้ล่วงพ้นไปก่อน

.

โดยค่อยๆ ทยอยจ่ายเงินเพื่อนโยบายต่างๆแต่เพียงส่วนน้อย [12] โดยนัยนี้อาจกล่าวได้ว่านายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกรณ์ไม่ได้มีความเข้าใจอย่างถ่องแท้ต่อระบบงบประมาณและระบบเศรษฐกิจมหภาครวมทั้งไม่ได้รักษาวินัยทางการคลังสมกับที่ได้เคยเน้นย้ำความสำคัญของวินัยทางการคลังในหลายกรรมหลายวาระ

.

อนึ่งแม้ว่าผู้เขียนจะได้ตระหนักถึงโทษภัยของกฎหมายงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมฉบับนี้ แต่ด้วยสำเหนียกถึงความสูงส่งในภูมิธรรมของนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังดังที่ได้พรรณนาข้างต้น ซึ่งทั้งสองท่านเปรียบประดุจเอกบุรุษผู้เดินลงมาจากฟากฟ้าอันเป็นที่พึงแก่การเคารพนบนอบ ผู้เขียนจึงสงบปากสงบคำด้วยเกรงว่าความเข้าใจของผู้เขียนจะผิดเพี้ยนไปจากความเป็นจริง

.

ซึ่งเอกบุรุษทั้งสองผู้กอปรด้วยภูมิธรรมอันสูงส่งกำลังนำพาเศรษฐกิจไทยไปสู่หนทางอันประเสริฐ แต่เมื่อได้แลเห็นมติคณะรัฐมนตรีในคราวประชุมเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2552 ความกริ่งเกรงดังกล่าวนี้ได้ปลาสนาการโดยพลัน ด้วยเห็นว่ารัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์กำลังต้มคนดู คือบริหารเศรษฐกิจคล้ายกับมืออาชีพ แต่ในความเป็นจริงคือการบริหารที่ปราศจากทิศทางและความรู้ความเข้าใจอย่างถ่องแท้

.

ตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว คณะรัฐมนตรียังได้อนุมัติในหลักการที่จะกู้เงินจากต่างประเทศ [13] จำนวนประมาณ 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐหรือ 70,000 ล้านบาท [14] ซึ่งจะทำให้หนี้สาธารณะของไทยทบทวีขึ้น อนึ่งตลอดช่วงเวลาของรัฐบาลทักษิณมีการกู้เงินจากต่างประเทศเพียง 131 ล้านเหรียญสหรัฐ [15] อย่างไรก็ตามการกู้เงินของรัฐบาลเพื่อนำมาใช้จ่ายไม่ใช่เรื่องเสียหายในตัวเอง

.

หากแต่ขึ้นอยู่กับว่าเงินที่กู้นั้นถูกนำมาใช้จ่ายเพื่อการใด [16] แต่จากผลปฏิบัติการในอดีตของรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ การกู้เงินนี้จะนำมาซึ่งความเสียหาย ทั้งนี้ตามมติคณะรัฐมนตรีเงินกู้จำนวนนี้จะถูกนำไปใช้ในสามช่องทาง ซึ่งผู้เขียนให้ความสำคัญกับช่องทางในการใช้จ่ายเพื่อการลงทุนของภาครัฐในโครงสร้างพื้นฐานขนาดกลางและขนาดเล็กของภาครัฐเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนและสร้างการจ้างงานในระยะสั้น 

.

ซึ่งเท่ากับเปิดช่องให้รัฐบาลในการกำหนดว่าเงินกู้ดังกล่าวจะนำไปใช้ในโครงการใดบ้าง ทั้งนี้บทเรียนจากอดีตบ่งชี้ว่ารัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ได้เคยใช้จ่ายเงินกู้จากต่างประเทศอย่างปราศจากประสิทธิผล โครงการที่ใช้เงินกู้ต่างประเทศ(เหล่านี้)มิได้ช่วยเพิ่มพูนศักยภาพในการผลิตของระบบเศรษฐกิจ หลายต่อหลายโครงการมีลักษณะตำนํ้าพริกละลายแม่นํ้า ดังเช่นการกู้เงินต่างประเทศเพื่อปูกระเบื้องและปรับปรุงบาทวิถีในกรุงเทพฯ... มีการทุจริตและประพฤติมิชอบในการใช้เงินกู้ต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการเงินกู้มิยาซาวา" [17]

.
3.การเมืองว่างบประมาณ

การที่รัฐบาลอภิสิทธิ์เร่งผลักดันการใช้จ่ายงบประมาณ มิได้อดทนรอเวลาดังเช่นที่รัฐบาลทักษิณได้ปฏิบัติ และเป็นการใช้จ่ายงบประมาณโดยไม่มีเหตุอันควรดังสองกรณีที่กล่าวข้างต้น เกิดจากสาเหตุที่ไม่ได้สลับซับซ้อนแต่อย่างใด สาเหตุนั้นคือการที่รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ต้องการใช้จ่ายเงินงบประมาณเพื่อเร่งเก็บเกี่ยวคะแนนนิยมทางการเมืองสำหรับการเลือกตั้งที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในเร็ววัน เพราะเหตุว่ารัฐบาลผสมชุดปัจจุบันมิได้มีความมั่นคงและพร้อมที่จะล้มลงในทุกขณะ

.

การที่ระบบงบประมาณของไทยมีความตายตัว กล่าวคือการจัดสรรงบประมาณอาศัยความต้องการใช้จ่ายของกรมต่างๆเป็นฐาน เมื่อรัฐบาลมีความต้องการจะใช้จ่ายนอกเหนือจากภารกิจปกติของกรม จึงต้องกำหนดงบประมาณเพิ่มขึ้น ในแง่นี้วิธีการของรัฐบาลอภิสิทธิ์มิได้แตกต่างไปจากรัฐบาลทักษิณ แต่จุดด้อยของรัฐบาลอภิสิทธิ์คือการขาดการจัดสำดับความสำคัญของการใช้จ่ายในเรื่องต่างๆ

.

ทั้งนี้เพราะเหตุว่ารัฐบาลอภิสิทธิ์ขาดนโยบายที่ชัดเจน และที่สำคัญยิ่งคือการขาดความเชื่อมโยงกับประชาชนผู้ออกเสียงเลือกตั้งในแง่ที่ว่ารัฐบาลที่จัดตั้งขึ้นจากพรรคการเมืองที่ชนะการเลือกตั้งดังเช่นรัฐบาลทักษิณนำนโยบายที่สัญญาไว้กับประชาชนมาปฏิบัติโดยสามารถจัดการกับระบบงบประมาณและการกำหนดการจัดสรรงบประมาณได้อย่างชอบธรรมทางการเมืองและย่อมได้รับความร่วมมือจากระบบราชการมากกว่ารัฐบาลที่มาจากพรรคการเมืองที่ไม่ได้ชนะการเลือกตั้งอย่างแท้จริงดังเช่นพรรคประชาธิปัตย์

.

รัฐบาลทักษิณจัดการกับระบบงบประมาณโดยมีความเข้าใจระบบงบประมาณในภาพรวมว่ารายจ่ายใดควรจ่ายตามลำดับก่อนหลัง และควรใช้จ่ายจากแหล่งงบประมาณใด และมีการวางแผนในการจัดสรรงบประมาณเพื่อนโยบายต่างๆอย่างเป็นขั้นเป็นตอน กับทั้งได้มีการใช้วิธีการในเชิงการบริหารจัดการเพื่อการจัดสรรงบประมาณ ดังนั้นรัฐบาลทักษิณจึงสามารถใช้จ่ายงบประมาณเพื่อส่งมอบนโยบายต่างๆต่อประชาชนได้อย่างเป็นรูปธรรมโดยรวดเร็ว 

.

นอกจากนี้ภายใต้กระแสการปฏิรูปราชการและการปฏิรูประบบงบประมาณ รัฐบาลทักษิณได้ทำให้ระบบงบประมาณและการใช้จ่ายงบประมาณมีความทันสมัย เป็นสากล และสมเหตุสมผล ด้วยการวางแผนงบประมาณระยะกลางทำให้รัฐบาลทักษิณสามารถนำพางบประมาณรายจ่ายประจำปีเข้าสู่สมดุลได้ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2549 หลังจากที่มีการขาดดุลงบประมาณอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่หลังวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจในปี 2540

.

ทั้งนี้งบประมาณที่ขาดดุลในทุกวันนี้เพิ่งจะเริ่มต้นขึ้นหลังจากการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ที่มาพร้อมกับการเพิ่มขึ้นของงบประมาณกระทรวงกลาโหมซึ่งได้มีแนวโน้มลดลงมาตลอดสองทศวรรษก่อนหน้า ในทางตรงกันข้ามรัฐบาลอภิสิทธิ์ซึ่งได้อาศัยบางช่องทางที่รัฐบาลทักษิณริเริ่มไว้เพื่อนำงบประมาณไปใช้จ่ายตามที่ตนต้องการ แต่ดังที่กล่าวแล้วว่ารัฐบาลอภิสิทธิ์ยังขาดความเข้าใจต่อภาพรวมของระบบงบประมาณ นอกจากนี้การจัดการกับระบบงบประมาณของรัฐบาลอภิสิทธิ์เป็นไปอย่างใจเร็วด่วนได้ เพื่อหวังประโยชน์ทางการเมืองในระยะสั้น

.

การที่พรรคประชาธิปัตย์มีความมุ่งมั่นในอันที่จะนำงบประมาณไปใช้จ่ายเพื่อเหตุผลทางการเมือง เพราะเหตุว่าพรรคการเมืองนี้มีความมุ่งหมายว่าจะมีโอกาสชนะการเลือกตั้งในครั้งถัดไป เนื่องจากได้เคยพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งติดต่อกันถึงสามครั้งและต้องตกเป็นฝ่ายค้านเป็นเวลานาน แต่การสร้างความนิยมทางการเมืองมิอาจทำได้ในระยะสั้น ในปี 2544 เมื่อพรรคไทยรักไทยเสนอชุดของนโยบายว่าหากชนะการเลือกตั้งและสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้จะส่งมอบนโยบายเรื่องใดบ้าง

.

 อันที่จริงในขณะนั้นผู้เลือกตั้งในชนบทก็มิได้หมายมั่นปั้นมือว่าพรรคไทยรักไทยจะรักษาสัญญา ด้วยเหตุว่าพรรคแกนนำรัฐบาลชุดก่อนหน้ารัฐบาลไทยรักไทยมีชื่อเสียงเลื่องลือในด้านการเบี้ยวสัญญาที่ให้กับประชาชนในการหาเสียงเลือกตั้ง และไม่เคยมีพรรคการเมืองใดรักษาสัญญาในการเลือกตั้งอย่างจริงจัง การที่รัฐบาลทักษิณเอาจริงเอาจังกับการส่งมอบนโยบายซึ่งเป็นนโยบายที่เกี่ยวข้องกับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ สิ่งที่ตามมาคือ ความเชื่อถือที่ประชาชนมอบต่อพรรคการเมือง ซึ่งเป็นบทเรียนอันสำคัญที่พรรคประชาธิปัตย์พึงทำความเข้าใจ

.

ดังอมตวาจาของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพที่ว่า "อำนาจมิได้อยู่ที่พระแสงราชศัสตรา แต่อยู่ที่ราษฏรเชื่อถือ"  จริงอยู่เรามิอาจปฏิเสธได้ว่าเงินตรามีอิทธิพลต่อการกำหนดชัยชนะในการเลือกตั้ง แต่ความเชื่อมโยงอย่างเด่นชัดระหว่างนโยบายกับการออกเสียงเลือกตั้งที่ถูกสร้างขึ้นโดยพรรคไทยรักไทย ก็เป็นปัจจัยสำคัญในการอธิบายถึงคะแนนเสียงที่พรรคไทยรักไทยได้รับจำนวน 11, 19 และ 16 ล้านเสียงและชัยชนะอย่างท่วมท้นในการเลือกตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2544, 2548 และ 2549 ตามลำดับ

.
4. ความลงท้าย

การได้รับความสนับสนุนจากประชาชนผู้ออกเสียงเลือกตั้งด้วยความนับถือเลื่อมใสมิอาจสำเร็จลงได้เพียงลัดนิ้วมือเฉกเช่นความสำเร็จในการจัดตั้งรัฐบาลที่ได้สำเร็จลงดุจดั่งเทพยดามาบันดล หากแต่ต้องใช้เวลาสร้างสม แน่นอนที่สุดการใช้จ่ายงบประมาณในลักษณะตำน้ำพริกละลายแม่น้ำย่อมไม่อาจนำไปสู่จุดมุ่งหมายดังกล่าว หากเชื่อมั่นในถ้อยคำของตนที่พูดไว้ในอดีตถึงความสำคัญของวินัยทางการคลัง สิ่งที่รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์พึงตระหนักอย่างยิ่งยวดคือการใช้จ่ายของรัฐบาลต้องไม่สร้างภาระให้แก่ลูกหลานในอนาคต

.

 ดังนั้นจึงเป็นการสมควรที่จะทบทวนถึงความจำเป็นในการที่จะกู้เงินจากต่างประเทศตามที่ได้มีมติคณะรัฐมนตรีไว้แล้ว หากว่าจะดึงดันกู้เงินดังกล่าวในยามที่เศรษฐกิจไทยกำลังเปราะบางในท่ามกลางวิกฤตทุนนิยมโลก การใช้จ่ายงบประมาณจากเงินที่กู้มานั้นต้องพิจารณาถึงความคุ้มค่าของการใช้จ่ายอย่างรอบคอบให้สมกับภาระที่ประเทศชาติต้องแบกรับ อย่าให้ซ้ำรอยกับความด่างพร้อยที่เคยอุบัติขึ้นในอดีต

.
เชิงอรรค
  1. พระมหาเงื่อม อินทปัญโญ เรียกลักษณาการยึดมั่นถือมั่นเช่นนี้ว่า สัจจาภินิเวส
  2. มหาวิทยาลัยอ๊อกฝอด ได้เชิดชูนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ว่าเป็นชาวอ๊อกฝอดผู้ระบือนาม , โปรดดูรายละเอียดใน  http://www.ox.ac.uk/about_the_university/oxford_people/famous_oxonians/
  3. อภิสิทธิ์ กล่าวว่างบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมของรัฐบาลของเขาต่างจากรัฐบาลทักษิณตรงที่ว่า ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน” , มติชน 29 มกราคม 2552 www.matichon.co.th/matichon/view_news.php?newsid=01p0103290152&sectionid=0101&selday=2009-01-29
  4. ดู  พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2547 พ.ศ. 2547 ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 121 ตอนพิเศษ 13 ก. 31 มีนาคม 2547
  5. ดู  พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2547 พ.ศ. 2547 ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 122 ตอนที่ 48 ก. 24 มิถุนายน 2548
  6. ปีงบประมาณของไทยเริ่มในวันที่ 1 ตุลาคม และสิ้นสุดในวันที่ 31 ตุลาคม ของปีถัดไป โดยใช้ พ.ศ. ของปีถัดไปเป็นชื่อเรียกปีงบประมาณ เช่น ปีงบประมาณ 2552 เริ่มในวันที่ 1 ตุลาคม 2551 และสิ้นสุดในวันที่ 30 กันยายน 2552
  7. ในที่นี้ผู้เขียนอ้างอิงข้อมูลการจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพากรเป็นหลัก ทั้งนี้ในความเป็นจริงรัฐบาลมีรายได้จากแหล่งอื่นด้วย เช่น กรมศุลกากรและกรมสรรพาสามิต แต่ข้อมูลรายได้จากภาษีที่กรมสรรพากรเป็นผู้จัดเก็บนับว่ามีความสำคัญที่สุด เพราะนอกจากจะเป็นองค์ประกอบส่วนใหญ่ของรายได้รัฐบาลแล้ว ภาษีที่กรมสรรพกรจัดเก็บเป็นภาษีที่จัดเก็บจากฐานรายได้ ซึ่งเป็นเครื่องบ่งชี้ถึงการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจด้วย
  8. คำนวณโดยผู้เขียนจากข้อมูลของกรมสรรพากร, เดือนตุลาคม 2546-มีนาคม 2547 กรมสรรพากรจัดเก็บรายได้จำนวน 301,836.59 ล้านบาท ขณะที่ประมาณการไว้ที่ 243,401.07ล้านบาท, เดือนตุลาคม 2547-มิถุนายน 2548 กรมสรรพากรจัดเก็บรายได้จำนวน 651,900.43 ล้านบาท ขณะที่ประมาณการไว้ที่ 580,730.17ล้านบาท, สำหรับปีงบประมาณ พ.ศ. 2547 ดู www.rd.go.th/publish/17024.0.html , ปีงบประมาณ 2548 ดู http://www.rd.go.th/publish/21880.0.html
  9. วงเงินงบประมาณนี้สูงกว่าวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีที่จัดทำโดยรัฐบาลทักษิณในปีแรกเกือบสองเท่า กล่าวคือในปีงบประมาณ พ.ศ. 2545 งบประมาณรายจ่ายประจำปีมีวงเงิน 1,023,000 ล้านบาท
  10. สำนักงบประมาณ. ม.ป.ป.  งบประมาณโดยสังเขปประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2552. กรุงเทพ: บริษัท พี. เอ. ลิฟวิ่ง จำกัด. น. 3.
  11. ตราบถึงเดือนกรกฎาคม 2544 นโยบายกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองซึ่งมีความต้องการใช้จ่ายประมาณ 80,000 ล้านบาท ได้มีการจ่ายไปเพียงประมาณ 7,000 ล้านบาท และด้วยวิธีการในเชิงบริหารจัดการรายจ่ายส่วนน้อยนี้ไม่เป็นภาระต่องบประมาณรายจ่ายประจำปีในขณะนั้น
  12. ในทางเศรษฐศาสตร์การคลังมีข้อสรุปเป็นที่ยุติว่า การกู้เงินจากต่างประเทศเป็นภาระแก่อนุชนที่จะต้องแบกรับในอนาคต
  13. Bureau of the Budget (n.d.). ’s Budget in Brief: Fiscal Year 2007. (Bangkok: P.A. Living Co.,Ltd) p. 106.

  14. ในทางเศรษฐศาสตร์การคลัง เครื่องมือที่เรียกว่า การวิเคราะห์ต้นทุน-ผลได้ ถูกนำมาใช้ในการชี้ทิศทางสำหรับการใช้จ่ายของรัฐบาลเพื่อโครงการต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแง่ว่าโครงการที่จะลงทุนมีผลตอบแทนที่คุ้มค่าหรือไม่ การลงทุนของรัฐบาลที่ใช้จ่ายจากเงินกู้ต้องคำนึงถึงผลตอบแทนดังกล่าวนี้เป็นพิเศษ ด้วยเหตุที่เงินกู้มีต้นทุนมากกว่างบประมาณรายจ่ายทั่วไปตรงที่มีภาระดอกเบี้ยที่จะต้องจ่ายด้วย

  15. ผู้จัดการรายวัน 1 มีนาคม 2544 คอลัมน์จากท่าพระจันทร์ถึงสนามหลวง วินัยทางการคลังในยุครัฐบาลนายชวน หลีกภัย พ.ศ. 25402543เขียนโดยรังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ 

.

ที่มา : http://www.prachatai.com