เนื้อหาวันที่ : 2009-01-23 13:31:00 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1562 views

รถครอบครัวเติบโตสูงสุดในปี 2551 ความประหยัดรถหัวฉีด ส่งผลผลักดันตลาดโต 7%

ตลาดรถจักรยานยนต์ในปี 2551 ที่ผ่านมา ได้รับแรงกระตุ้นจากหลากหลายปัจจัยบวก อีกทั้งภาวะความผันผวนของราคาน้ำมันยังเป็นแรงหนุนส่งผลดีต่อตลาด จากการที่ผู้ใช้รถโดยทั่วไปหันเปลี่ยนมาใช้รถจักรยานยนต์มากยิ่งขึ้น ด้วยเหตุผลของความประหยัด ทำให้รถที่มีคุณสมบัติเด่นด้านความประหยัด

.

ตลาดรถจักรยานยนต์ในปี 2551 ที่ผ่านมา ได้รับแรงกระตุ้นจากหลากหลายปัจจัยบวก อีกทั้งภาวะความผันผวนของราคาน้ำมันยังเป็นแรงหนุนส่งผลดีต่อตลาด จากการที่ผู้ใช้รถโดยทั่วไปหันเปลี่ยนมาใช้รถจักรยานยนต์มากยิ่งขึ้น ด้วยเหตุผลของความประหยัด ทำให้รถที่มีคุณสมบัติเด่นด้านความประหยัด ได้แก่รถแบบครอบครัว รวมถึงรถเครื่องยนต์หัวฉีด ได้รับความนิยมเป็นอย่างสูง

.

โดยรถแบบครอบครัวมีอัตราการเติบโตสูงสุด ผลักดันให้ตลาดรวมทั้งปีขยายตัว 7% และที่สำคัญยังเป็นผลทำให้ค่ายผู้นำตลาดคือฮอนด้า ซึ่งวางตลาดรถหัวฉีดและมีจุดแข็งด้านรถครอบครัวนั้น ยังคงครองความเป็นผู้นำตลาด รวมทั้งเป็นการครองตลาดติดต่อกัน 20 ปี ส่วนสถานการณ์เศรษฐกิจตึงตัวในปีนี้ จะมีผลให้พฤติกรรมการบริโภคมุ่งเน้นความประหยัดและคุ้มค่าสูงสุด ทำให้รถครอบครัวโดยเฉพาะแบบเครื่องยนต์หัวฉีดได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง

.

นายธีระพัฒน์ จิวะพงศ์ กรรมการบริหารส่วนงานขาย บริษัท เอ.พี.ฮอนด้า จำกัด เปิดเผยถึงสภาพตลาดรถจักรยานยนต์ในช่วงปี 2551 ที่ผ่านมา ปรากฏว่าปริมาณการจดทะเบียนป้ายวงกลมของรถจักรยานยนต์โดยรวมมีจำนวนทั้งสิ้น 1,703,376 คัน เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อนหน้าที่มีจำนวน 1,598,876 คันแล้ว มีปริมาณยอดจดทะเบียนเพิ่มขึ้น 104,500 คัน หรือเทียบเท่าอัตราการขยายตัว 7%

.

โดยการขยายตัวของตลาดมีสาเหตุมาจากปัจจัยบวกหลากหลายประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงครึ่งแรกของปีนั้น ตลาดได้รับแรงกระตุ้นจากปัจจัยการเพิ่มขึ้นของราคาผลผลิตทางการเกษตร เป็นผลให้กลุ่มเกษตรกร อันเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของตลาดมีกำลังซื้อเพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับมีเม็ดเงินไหลหมุนเวียนเข้าสู่ระบบเป็นปริมาณสูง จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในระดับรากหญ้าของทางภาครัฐบาล ส่งผลให้ตลาดมีอัตราการเติบโตต่อเนื่องมาโดยตลอด

.

นอกจากนั้นแล้ว จากสถานการณ์ความผันผวนของราคาน้ำมันในช่วงระหว่างปี ยังกลับเป็นแรงหนุนส่งผลดีให้กับตลาด โดยทำให้กลุ่มผู้ใช้รถโดยทั่วไปให้ความสนใจหันเปลี่ยนมาใช้รถจักรยานยนต์มากยิ่งขึ้น ด้วยเหตุผลของความประหยัด และที่สำคัญได้ส่งผลให้รถแบบครอบครัว ซึ่งมีคุณสมบัติเด่นด้านความประหยัดนั้น ได้รับความนิยมเป็นอย่างสูง จนเป็นประเภทรถที่มีอัตราการเติบโตสูงสุด

.

รวมทั้งการวางตลาดรถเครื่องยนต์หัวฉีด PGM-FI (Programmed Fuel Injection) ของค่ายผู้นำคือฮอนด้า อันเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่เพิ่มประสิทธิภาพการประหยัดสูงยิ่งขึ้น ยังเป็นแรงกระตุ้นสร้างความตื่นตัวให้กับตลาดเป็นอย่างมาก ซึ่งจากทั้งสองปัจจัยนี้ ได้ส่งผลให้ฮอนด้าที่มีจุดแข็งด้านรถครอบครัว และเป็นผู้นำการวางตลาดรถหัวฉีดนั้น ยังคงครองความเป็นผู้นำตลาดอย่างต่อเนื่อง และเมื่อปีที่ผ่านมานับเป็นการครองตลาดอันดับหนึ่งติดต่อกันของฮอนด้าเป็นปีที่ 20

.

สำหรับสภาพตลาดโดยทั่วไปในปีนี้ คาดการณ์ว่าจากสภาวะเศรษฐกิจที่ตึงตัว จะมีผลทำให้พฤติกรรมการบริโภคปรับเปลี่ยนไป โดยมุ่งเน้นในสิ่งที่ให้คุณค่าและประโยชน์สูงสุด อันเป็นผลให้รถแบบครอบครัวยังคงได้รับความสนใจจากตลาดอย่างต่อเนื่อง และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในแบบเครื่องยนต์หัวฉีดที่ให้ความประหยัดและคุ้มค่าเป็นอย่างสูงนั้น จะตอบสนองตรงกับความต้องการที่แท้จริงของกลุ่มผู้บริโภค

.

โดยทางฮอนด้าได้เริ่มปลุกกระตุ้นความตื่นตัวของตลาดนับตั้งแต่ต้นปี จากการวางจำหน่ายผลิตภัณฑ์รถครอบครัวแบบเครื่องยนต์หัวฉีด PGM-FI รุ่นใหม่ล่าสุด และเป็นมาตรฐานใหม่ของรถแบบครอบครัวในยุคปัจจุบัน คือ รุ่น เวฟ 110 ไอ (Wave 110i)

.

ในส่วนของรายละเอียดยอดการจดทะเบียนเมื่อปีที่ผ่านมานั้น ประกอบด้วย รถจักรยานยนต์แบบครอบครัว874,191 คัน เทียบเท่าสัดส่วนตลาด 51% และมีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นสูงสุด คือ 9% , รถแบบ เอ.ที. (Automatic Transmission) หรือแบบเกียร์อัตโนมัติ 763,683 คัน สัดส่วนตลาด 45% อัตราการเติบโตเพิ่มขึ้น 5% , รถแบบครอบครัวกึ่งสปอร์ต 47,149 คัน สัดส่วนตลาด 3% อัตราการเติบโตลดลง 8% , รถแบบสปอร์ต 11,325 คัน สัดส่วนตลาด 1% อัตราการเติบโตเพิ่มขึ้น 3% และรถประเภทอื่นๆ 7,028 คัน

.

ทั้งนี้หากแยกเป็นในส่วนของค่ายผู้ผลิตแล้ว ประกอบด้วย รถจักรยานยนต์ฮอนด้า 1,150,568 คัน เทียบเท่าอัตราครองตลาด 68% , ยามาฮ่า 439,027 คัน อัตราครองตลาด 26% , ซูซูกิ 84,013 คัน อัตราครองตลาด 5% , คาวาซากิ 10,341 คัน อัตราครองตลาด 1% , เจอาร์ดี 4,278 คัน , แพล็ตตินั่ม 2,321 คัน , ไทเกอร์ 1,150 คัน และอื่นๆ 11,678 คัน