เนื้อหาวันที่ : 2009-01-15 11:33:08 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 3008 views

ภัยถ่านหินโรงงานในสงขลาหลากผลกระทบจากอุตสาหกรรม

การใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงในโรงงานอุตสาหกรรมในจังหวัดสงขลา ดูจะยังเป็นที่สนใจของคนทั่วไปอยู่อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะภาพหลอนจากผลกระทบจากโรงไฟฟ้าถ่านหินที่อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง ที่ยังเป็นเรื่องราวติดปากของชาวชาวจังหวัดสงขลาอยู่บางส่วนอย่างไม่ขาดสาย

.

การใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงในโรงงานอุตสาหกรรมในจังหวัดสงขลา ดูจะยังเป็นที่สนใจของคนทั่วไปอยู่อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะภาพหลอนจากผลกระทบจากโรงไฟฟ้าถ่านหินที่อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง ที่ยังเป็นเรื่องราวติดปากของชาวชาวจังหวัดสงขลาอยู่บางส่วนอย่างไม่ขาดสาย

.

ยิ่งกับประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่รอบโรงงานอุตสาหกรรม 3 แห่งที่ไปใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงในโรงงานอุตสาหกรรมแล้ว ได้แก่ โรงงานผลิตถุงมือยางของบริษัท อินโนเวทีฟ โกลฟส์ จำกัด ตำบลควนลัง อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา โรงงานผลิตถุงมือยางของบริษัท ไฮแคร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด หมู่ที่ 3 ตำบลควนลัง อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา และโรงงานปลาป่นของบริษัท จะนะอุตสาหกรรม การประมง จำกัด ตำบลจะโหน่ง อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา

.

โดยในช่วงที่ผ่านมา โรงงานอุตสาหกรรมทั้ง 3 แห่ง ได้สร้างผลกระทบให้กับชาวบ้านรอบๆ มาแล้ว จนมีการร้องเรียนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กระทั่งทำให้เจ้าหน้าที่สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดสงขลาต้องลงมาสำรวจและเก็บตัวอย่างน้ำเสียไปตรวจสอบแล้ว

.

นายดนนี เง๊ะหวัง อยู่บ้านเลขที่ 40 หมู่ที่11 ตำบลจะโหนง เปิดเผยว่า ตนเป็นพนักงานโรงงานจะนะอุตสาหกรรมการประมง จำกัด มา 10 กว่าปี ในตำแหน่งพนักงานทั่วไป จึงรู้ว่าโรงงานเปลี่ยนมาใช้เชื้อเพลิงถ่านหิน แทนจากน้ำมันเตา แต่ไม่เคยรู้ว่าจะมีผลกระทบ หรือเป็นอันตราย จึงยังคงทำงานไปตามปกติ โดยไม่เคยมีปัญหาเรื่องสุขภาพมาก่อน ตลอดอายุการทำงานตนเป็นคนร่างกายแข็งแรง

.

นายดนนี เปิดเผยต่อว่า ประมาณ 2 ปีที่ผ่านมา ตนมาตำแหน่งควบคุมเครื่องจักรหม้อต้ม ซึ่งอยู่แถวหน้าเตาหม้อต้มที่ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง โดยมีที่ปิดจมูกเรียบร้อย หลังจากนั้น เริ่มมีอาการแสบๆ คันๆ ตามผิวหนังขึ้นเป็นผื่น เหมือนเป็นลมพิษหรือโรคเรื้อน ตนก็ไม่เอะใจอะไร สักพักอาการเริ่มลามไปทั้งตัว จากที่เป็นผื่นแดงก็เริ่มเป็นแผลผุพอง จากนั้นจึงไปพบแพทย์ปนัดดาที่คลินิกในตัวเมืองสงขลา แพทย์วินิจฉัยว่าเกิดจากการแพ้สารเคมีได้ให้ยากิน แต่ไม่หาย

.

นายดนนี เปิดเผยอีกว่า ขณะนั้นตนยังทำงานอยู่ และอาการก็หนักขึ้นเรื่อยๆ ตนคิดว่ามันไม่ไหวแล้ว เลยลาออกจากโรงงานมารักษาตัวด้วยการกินยาและทายา ขณะนี้อาการดีขึ้นมาก และได้มีพนักงานคนอื่นๆ ก็บ่นอยู่เหมือนกันว่า ขณะนี้ บางทีรู้สึกแน่นหน้าอก และปวดหัวมากเวลาทำงาน แต่ก็ไม่รู้ว่า พวกนั้นไปหาหมอหรือยัง

.

นายเสถียร ประทุมมณี นายกองค์การบริหารส่วนตำบลจะโหน่ง เปิดเผยว่า เมื่อก่อนตนไม่เคยทราบว่า โรงงานใช้ถ่านหินมารู้ตอนหลัง จากการบอกเล่าของชาวบ้าน ตอนที่ออกหาเสียงเมื่อได้เจอกับนายดนนี เง๊ะหวัง จึงได้รู้ว่าตอนนี้เกิดผลกระทบแล้ว และกระทบในหลายพื้นที่ด้วย หลังมารับตำแหน่งยังไม่ถึงเดือน ก็ได้ยินเข้ามาเรื่อยๆ เช่น ที่หมู่ที่ 1 บ้านโคกทราย ตำบลจะโหน่ง ก็เคยมีชาวบ้านพูดให้ฟังอยู่เหมือนกัน จึงได้เรียกนายวรายุทธ์ เหลดเหม รองนายกองค์การบริหารส่วนตำบลจะโหน่ง มาปรึกษา ถึงการแก้ปัญหาเรื่องที่เกิดขึ้น โดยสรุปว่าทางองค์การบริหารส่วนตำบลจะโหน่งจะเชิญผู้จัดการโรงงานมา เพื่อร่วมกันแก้ปัญหาในเรื่องนี้ และรวมไปถึงทั้งเรื่องของน้ำเสียด้วย

.

ในส่วนของตัวแทนโรงงานอุตสาหกรรมที่ใช่ถ่านหินดังกล่าว อย่างนายภานุ เรืองจันทร์ ผู้จัดการทั่วไป ที่ระบุว่า เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2551 ที่ห้องประชุมภายในบริษัท อินโนเวทีฟ โกลฟส์ จำกัด ทางบริษัทได้มีการประชุมติดตามผลการใช้ถ่านหิน ผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย ชาวบ้านหมู่ที่ 4 ตำบลควนลัง และชาวบ้านหมู่ที่ 1 ตำบลทุ่งตำเสา อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา กับตัวแทนบริษัท อินโนเวทีฟ โกลฟส์ จำกัด มีผู้เข้าร่วมประชุมประมาณ 20 คน

.

โดยวาระในการประชุมเพื่อทำความเข้าใจกับชาวบ้านและชุมชนถึงผลกระทบและปัญหาเรื่องการดำเนินการใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงของบริษัทฯและร่วมกันหาทางแก้ไขและการเฝ้าระวังครั้งนี้ตนได้กล่าวในที่ประชุมว่า การเชิญชาวบ้านบริเวณรอบๆ โรงงานมาประชุมครั้งนี้ เพราะต้องการจะรับฟังปัญหาและผลกระทบที่ชาวบ้านได้รับ อันเนื่องมาจากการประกอบธุรกิจของโรงงาน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องน้ำเสีย หรือเรื่องการใช้ถ่านหินว่า มีอะไรบ้าง จะให้ทางโรงงานแก้ไขอย่างไร ซึ่งทางโรงงานยินดีที่จะรับฟังปัญหา และพร้อมที่จะแก้ไขทุกเรื่องที่สร้างความเดือดร้อนให้ชาวบ้าน

.

ระหว่างการประชุม มีชาวบ้านถามถึงผลกระทบระยะยาวเกี่ยวกับมลพิษของการใช้ถ่านหิน ซึ่งอาจจะไม่เกิดในทันที ทางโรงงานจะทำอย่างไร นายภานุชี้แจงว่า กรณีนี้ทางโรงงานมีนโยบายเฝ้าระวัง โดยให้ผู้ร่วมประชุมเสนอรายชื่อชาวบ้านหมู่บ้านละ 10 คน มาตรวจสุขภาพประจำปี และทางโรงงานจะตรวจคุณภาพน้ำตามแหล่งน้ำภายในหมู่บ้าน เพื่อความสบายใจของทุกฝ่าย พร้อมกับจะจัดประชุมระหว่างชาวบ้านกับโรงงาน เพื่อติดตามผลและรับฟังปัญหาทุก 3 เดือน

.

นายภานุ ชี้แจงต่อที่ประชุมอีกว่า ทางบริษัท อินโนเวทีฟ โกลฟส์ จำกัด ได้ทำหนังสือแจ้งขออนุญาตเปลี่ยนการใช้เชื้อเพลิง จากน้ำมันเตามาเป็นถ่านหินต่ออุตสาหกรรมจังหวัดสงขลา เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2551 กรมอุตสาหกรรมพิจารณาแล้วเห็นว่า ยังขาดความเห็นชอบจากเทศบาลเมืองควนลัง เพื่อการประกอบการพิจารณาตามกฎหมายวิธีการปฏิบัติราชการทางปกครอง ทางบริษัท อินโนเวทีฟ โกลฟส์ จำกัด จึงทำหนังสือถึงเทศบาลเมืองควนลัง เพื่อขอความเห็นชอบ และได้ร่วมประชุมปรึกษาหาแนวทางร่วมกัน พร้อมกับตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการขอความเห็นเบื้องต้นเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงการใช้เชื้อเพลิงของบริษัท อินโนเวทีฟ โกลฟส์ จำกัดด้วย

.

ต่อมา เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2551 บริษัท อินโนเวทีฟ โกลฟส์ จำกัด ได้เชิญกรรมการหมู่บ้าน, ผู้ใหญ่บ้าน, ชาวบ้านรอบโรงงาน อุตสาหกรรมจังหวัดสงขลา มารับฟังคำบรรยายจาก นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เกี่ยวกับคุณสมบัติของถ่านหินและผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ที่ประชุมมีข้อสรุปว่า ชาวบ้านทั้งหมดเห็นด้วยที่บริษัท อินโนเวทีฟ โกลฟส์ จำกัด จะเปลี่ยนมาใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง และถ้าเกิดความเสียหายที่อาจจะมีผลกระทบต่อชาวบ้านหรือชุมชน ทางบริษัท อินโนเวทีฟ โกลฟส์ จำกัด จะรับผิดชอบทั้งหมดหลังจากเสร็จสิ้นการประชุม นายภานุได้นำผู้เข้าร่วมประชุมทั้งหมด เดินชมบริเวณภายในโรงงาน

.

ในส่วนบริษัท จะนะอุตสาหรรมการประมง จำกัด นายพิชาติ ผิวบางกุล ผู้จัดการทั่วไป ระบุว่า เมื่อก่อนทางโรงงานใช้น้ำมันเตาเป็นเชื้อเพลิง แต่เมื่อภาวะเศรษฐกิจแย่ลง น้ำมันมีราคาที่สูงขึ้น ทางโรงงานจึงเปลี่ยนมาใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง โดยใช้มาได้ประมาณปีกว่า ทางโรงงานใช้ถ่านหินประมาณวันละ 10 ตัน ส่วนกากถ่านหินทางโรงงานนำไปถมที่ดินของโรงงาน ซึ่งอยู่ในบริเวณโรงงานกว่า100ไร่ โดยจัดเก็บส่วนที่เป็นฝุ่นละอองไว้ในไซโล

.

นายพิชาติ กล่าวว่า ก่อนติดตั้งเครื่องใช้ถ่านหิน ทางโรงงานก็ได้ศึกษาผลกระทบ พร้อมกับปรึกษากับอุตสาหกรรมจังหวัดสงขลา ทางอุตสาหกรรมจังหวัดสงขลาแนะนำมาว่า ไม่ต้องทำประชาพิจารณ์ เพราะถ้าทำไม่ผ่านแน่นอน เพียงแต่ขอให้แจ้งกับผู้นำท้องถิ่นไว้บ้าง พร้อมกันนี้ ทางโรงงานได้พยายามเข้าถึงและจัดการทางด้านมวลชนให้ดีสุด

.

นายพิชาติ กล่าวต่อไปว่า ขณะนี้อุตสาหกรรมจังหวัดสงขลาได้ส่งเจ้าหน้าที่มาตรวจสอบทุกเดือน โดยโรงงานถ่านหินบีทูบีนัสประเภท 2 ให้ค่าความร้อนที่ 6,000 กิโลแคลอรี่ต่อกิโลกรัม นำเข้าจากประเทศอินโดนิเซีย ผ่านบริษัท เครือซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน)และใช้การขนส่งทางรถบรรทุกจากกรุงเทพมหานครมายังโรงงาน ถ่านหินประเภทนี้มีราคาโดยเฉลี่ยที่ 4.95 บาทต่อกิโลกรัม สามารถลดต้นทุนการผลิตลงได้มาก ส่วนสาเหตุที่โรงงานไม่ใช้ไม้ฟืน หรือกะลาปาล์ม เพราะเกรงว่าจะมีปัญหาช่วงฤดูฝน เรื่องนี้เป็นนโยบายของบริษัทฯ

.

จากปัญหาที่เกิดขึ้น ทำให้เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2551 ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่อุตสาหกรรมจังหวัดสงขลา ได้เดินทางไปตรวจสอบกรณีมีผู้ได้รับผลกระทบจากการใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงของทั้ง 3 บริษัท ดังกล่าว โดยเริ่มจาก บริษัท จะนะอุตสาหกรรม การประมง จำกัด ตำบลจะโหน่ง อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา , บริษัท ไฮแคร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด และบริษัทอินโนเวทีฟ โกลฟส์ จำกัด ตำบลควนลัง จังหวัดสงขลา

.

โดยจากการตรวจสอบพบว่า บริษัท จะนะอุตสาหกรรม การประมง จำกัด ได้ปล่อยกลิ่นเหม็นและกองขี้เถ้าถ่านหินบนพื้นที่ของโรงงาน ซึ่งเป็นแหล่งน้ำเชื่อมต่อกับคลองวาดไปยังคลองนาทับ ทางเจ้าหน้าที่อุตสาหกรรมจังหวัดได้ทำแจ้งให้บริษัทฯ ทำคันกั้นแนว อย่าให้มีน้ำปนเปื้อนกากถ่านหินรั่วไหลออกสู่แหล่งน้ำสาธารณะ ส่วนกลิ่นเหม็นและฝุ่นละอองถ่านหิน ให้โรงงานปรับปรุงแก้ไขภายใน 60 วัน

.

ส่วนบริษัท ไฮแคร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ทางบริษัทฯได้เปลี่ยนมาใช้น้ำมันเตามาประมาณ 5 เดือนแล้ว ส่วนกรณีการปล่อยน้ำเสียตามที่ปรากฏในรูปนั้น บริเวณดังกล่าวน้ำท่วมยังไม่สามารถตรวจสอบได้ ขณะที่โรงงานอ้างว่า ภาพที่ปรากฏอาจเป็นน้ำฝนไหลออกจากโรงงานลงท่อที่ออกไป สำหรับเขม่าที่ตกตะกอน คงจะเป็นเศษถ่านหินที่กองไว้ เพื่อเตรียมจะส่งคืน ทางเจ้าหน้าที่อุตสาหกรรมจังหวัดได้ทำหนังสือตักเตือน พร้อมกับแนะนำวิธีป้องกัน โดยให้ทางโรงงานเก็บกวาดเศษถ่านหินให้เรียบร้อย ภายใน 60 วัน

.

ทางด้านบริษัท อินโนเวทีฟ โกลฟส์ จำกัด ทางเจ้าหน้าที่อุสาหกรรมจังหวัดสงขลา ได้เข้าไปขอตรวจสอบ ตามที่ชาวบ้านร้องเรียน เรื่องปล่อยน้ำชะล้างถ่านหินรั่วออกนอกบริเวณโรงงานลงในที่นาของชาวบ้าน โดยทางเจ้าหน้าที่อุตสาหกรรมจังหวัดสงขลาทำหนังสือแจ้งให้บริษัทฯ แก้ไขปรับปรุงแนวกำแพงบริเวณโรงงาน ไม่ให้น้ำชะล้างถ่านหินออกนอกบริเวณโรงงาน ส่วนเรื่องเขม่าและกลิ่นให้โรงงานแก้ไขภายใน 60 วัน

.

นายภาณุ เรืองจันทร์ ผู้จัดการทั่วไปของบริษัท อินโนเวทีฟ โกลฟส์ จำกัด กล่าวหลังการตรวจสอบของอุตสาหกรรมจังหวัดว่า ขณะนี้ทางโรงงานใช้ถ่านหินประเภทบีทูบีนัส ที่มีค่าซัลเฟอร์แค่ 1% และได้มีระบบป้องกันที่ได้มาตรฐานตามที่อุตสาหกรรมจังหวัดได้กำหนดเอาไว้ ส่วนถ่านหินได้นำเข้ามาจากประเทศอินโดนีเซีย และเรื่องที่ชาวบ้านร้องเรียนมาทางโรงงาน ยินดีที่จะแก้ไขและปรับปรุงให้ดีขึ้น และในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2551 ทางโรงงานจัดประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็นชาวบ้าน และเชิญนักวิชาการมาให้ความรู้กับชาวบ้านในพื้นที่ ทางโรงงานยินดีแก้ไขทุกปัญหาที่เกิดผลกระทบกับชาวบ้าน

.

แม้ขณะนี้ราคาน้ำมันถูกลง ซึ่งทำให้โรงงานต่างๆ เหล่านี้สามารถกลับไปใช้น้ำมันเตาเป็นเชื้อเพลิงตามเดิมได้ แต่ถ่านหินก็ยังถือว่ามีต้นทุนต่ำที่สุด แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นก็เป็นเรื่องสำคัญกว่า เมื่อมันเกิดขึ้นแล้วก็ยากหรือต้องลงทุนมากกว่าในการป้องกันแก้ไข

.

ที่มา: prachatai.com