เนื้อหาวันที่ : 2009-01-14 16:55:50 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1128 views

ธปท.รับ GDP ปี52 มีโอกาสโตต่ำกว่าคาด ลุ้นประชานิยมกระตุ้น ศก.ภาครัฐ ออกฤทธิ์ ไตรมาส 2

ธปท. ยอมรับว่าเศรษฐกิจไทยในปี 52 เงยหัวไม่ขึ้นแน่ คาดติดลบ 0.5-2.5% แต่คงไม่ถึงขั้นเศรษฐกิจหดตัว และยังไม่เห็นแนวโน้มภาวะเงินฝืด มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลน่าจะออกมาเร็วในไตรมาส 2 ของปีนี้ ขณะที่เงินเฟ้อ 8 ไตรมาสข้างหน้ามีความเสี่ยงที่จะติดลบ

ธปท. ยอมรับว่าเศรษฐกิจไทยในปี 52 เงยหัวไม่ขึ้นแน่  คาดติดลบ 0.5-2.5% แต่คงไม่ถึงขั้นเศรษฐกิจหดตัว และยังไม่เห็นแนวโน้มภาวะเงินฝืด มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลน่าจะออกมาเร็วในไตรมาส 2 ของปีนี้ ขณะที่เงินเฟ้อ 8 ไตรมาสข้างหน้ามีความเสี่ยงที่จะติดลบ

.

ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ยอมรับว่าเศรษฐกิจไทยในปี 52 มีโอกาสขยายตัวลดลงจากที่เคยคาดการณ์ในระดับ 0.5-2.5% แต่คงไม่ถึงขั้นเศรษฐกิจหดตัว และยังไม่เห็นแนวโน้มภาวะเงินฝืด โดยมองว่าการส่งผ่านนโยบายด้านการเงินที่ได้มีการลดดอกเบี้ยอาร์/พีอย่างต่อเนื่องถึง 1.75% ในช่วง 1 เดือนเศษไปยังธนาคารพาณิชย์น่าจะใช้เวลาน้อยลงกว่าภาวะปกติ และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลน่าจะมีผลตั้งแต่ช่วงไตรมาส 2/52

.

อนึ่ง ธปท.จะมีการทบทวนคาดการณ์ GDP ปีนี้และแถลงตามกำหนดในวันที่ 23 ม.ค.นี้ "ความรุนแรงของเศรษฐกิจโลกทำให้เศรษฐกิจไทยแย่ลงไปด้วย ดังนั้น GDP มีโอกาสต่ำกว่าการประมาณการครั้งก่อนที่ 0.5-2.5% แต่ยังไม่ถึงขั้นติดลบ แต่การมีนโยบายกาเรงินการคลังที่ชัดเจนก็จะเข้ามาช่วย โดยเฉพาะการใช้เงินงบประมาณกลางปี" นางอัจนา ไวความดี รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพการเงิน ธปท.กล่าว

.

นางอัจนา กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยยังไม่เข้าสู่ภาวะเงินฝืดที่มีสาเหตุมาจากการมีอัตราเงินเฟ้อติดลบต่อเนื่องยาวนาน แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อของไทยอาจจะติดลบในบางไตรมาส     

.

ด้านนางสาวดวงมณี วงศ์ประทีป ผู้ช่วยผู้ว่าการ ธปท.กล่าวว่า การปรับลดดอกเบี้ยต่อเนื่องเป็นการใช้นโยบายการเงินต่อเนื่อง ในสภาพเศรษฐกิจปัจจุบัน เนื่องจากปัญหาใหญ่ในขณะนี้คือเศรษฐกิจโลกกระทบกับภาคเศรษฐกิจที่แท้จริง ซึ่งเป็นปัจจัยจากนอกประเทศเข้ามากระทบไทย

.

นโยบายการเงินต้องใช้เวลาที่จะสนองต่อเศรษฐกิจเพราะคงไม่ได้ส่งผลทันทีทันใด ซึ่งธปท.ยังมีกระสุนอีกมาก ซึ่งนโยบายการเงินเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยฟื้นความเชื่อมั่นให้เกิดการบริโภคให้เติบโตต่อไปได้ ดังนั้น พระเอกตัวจริงที่จะฟื้นเศรษฐกิจไทยจะมาจากนโยบายการคลัง ซึ่งขณะนี้รัฐได้เร่งดำเนินการแล้ว ขณะที่นโยบายการเงินเป็นเพียงตัวเสริมที่จะเชื่อมกันแบบบูรณาการ

.

โจทย์คือไม่ใช่นโยบายการเงินอย่างเดียว แต่เมื่อความเสี่ยงเงินเฟ้อมีน้อยลง แต่เสี่ยงเรื่องอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจมีมากขึ้น นโยบาการเงินที่ผ่อนคลายลงก็จะช่วยเศรษฐกิจโดยทั่วไป โดยเฉพาะในแง่ของการทำให้เกิดการใช้จ่าย

.

ในส่วนของธนาคารพาณิชย์ การส่งผ่านนโยบายไปก็ยังต้องขึ้นกับภาวะต้นทุนและปัจจัยแวดล้อมหลายอย่างทั้งต้นทุนและสภาพคล่อง แต่ช่วงนี้ก็เชื่อวาจะใช้เวลาเร็วขึ้นในการส่งผ่านนโยบาย จากปกติที่ใช้เวลา 2-8 ไตรมาส เนื่องจากปฏิกิริยาของกลุ่มที่เกี่ยวของเศรษฐกิจทำอย่างเร็วขึ้น

.

แต่การส่งผ่านนโยบายอัตราดอกเบี้ยไปยังการบริโภคและการลงทุนก็ขึ้นกับภาคเอกชน และสภาพคล่อง โดย ธปท.ก็ดูแลและพยายามดึงเงินเข้าสู่ระบบ ซึ่งการส่งผ่านสภาพคล่องเข้าสู่ระบบมีหลายทาง แต่หากติดขัดรัฐบาลก็จะเข้ามาช่วย เช่น การค้ำประกันสินเชื่อเพราะแบงก์ห่วงการปล่อยสินเชื่อเครดิตไลน์ เพราะเกรงความเสี่ยงฐานะของตัวเองเพิ่มขึ้นด้วย

.

สำหรับมาตรการภาครัฐที่เพิ่มงบกลางปี 52 อีกราว 1.15 แสนล้านบาทในเบื้องต้น ส่วนหนึ่งตั้งไว้ชดเชยเงินคงคลังที่จะนำออกมาใช้ 1.9 หมื่นล้านบาท เบ็ดเสร็จจะเหลืองบกระตุ้นเศรษฐกิจประมาณ 1 แสนล้านบาท ธปท.คาดว่าจะมีการเบิกจ่ายในส่วนนี้ทั้ง 100% แต่คงมีการใช้ได้ทันปีงบประมาณนี้ 80% ทีเหลือเหลื่อมจ่ายไปปีงบประมาณหน้า ส่วนงบรายจ่ายปกติคาดจะเบิกจ่าย 95%

.

นางสาวดวงมณี กล่าวว่า ผลของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลน่าจะออกมาเร็ว โดยเริ่มมีผลตั้งแต่ไตรมาส 2/52 ขณะที่เงินเฟ้อ 8 ไตรมาสข้างหน้ามีความเสี่ยงที่จะติดลบในบางเดือน แต่ก็เงินเฟ้อพื้นฐานยังไม่หลุดกรอบที่ 0-3.5% ต่อปี ซึ่งเป็นผลจากราคาน้ำมันดิบโลกที่ลดลงโดยตรงจากเศรษฐกิจโลกที่ส่งสัญญาณชะลอตัวอย่างชัดเจน และแรงกว่าที่คาดการณ์ไว้ รวมถึงมีโอกาสฟื้นตัวช้ากวาที่คาด ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะต่ำกว่าพื้นฐาน

.

อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่แท้จริงในเดือนธ.ค. 51 เป็นบวก 1.6% อัตราเงินฝาก 12 เดือนที่แท้จริงอยู่ที่ 3.02% อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ MLR ที่แท้จริงอยู่ที่ 6.3% เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อปรับลดลงอย่างมากในช่วงปลายปี