เนื้อหาวันที่ : 2009-01-13 16:06:47 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 3787 views

ม.เกษตรฯ เจ๋งใช้คอนกรีตมวลเบาผสมเมล็ดแมงลักอีกหนึ่งนวัตกรรมก่อสร้างอาคารรูปแบบใหม่

"ชวาน" นิสิตปริญญาโทสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้คิดค้นการทำคอนกรีตมวลเบาโดยมีเมล็ดแมงลักเป็นส่วนผสม เพื่อให้น้ำหนักเบาและยังคงสามารถในการรับกำลังได้ตามค่ามาตรฐาน ช่วยลดราคาในการก่อสร้าง และยังให้ประโยชน์ในการเป็นฉนวนกันความร้อน

.

ชวาน พรรณดวงเนตร นิสิตปริญญาโท สาขานวัตกรรมอาคาร คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้คิดค้นการทำคอนกรีตมวลเบาโดยมีเมล็ดแมงลักเป็นส่วนผสม เพื่อให้น้ำหนักเบาและยังคงสามารถในการรับกำลังได้ตามค่ามาตรฐาน

.

นายชวาน พรรณดวงเนตร นิสิตปริญญาโท สาขานวัตกรรมอาคาร คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้คิดค้นการนำเมล็ดแมงลักมาผสมกับคอนกรีต โดยมี ดร.ภัทรนันท์ ทักขนนท์ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา กล่าวว่า จากการค้นคว้าบวกแนวคิดของการก่อสร้างในปัจจุบัน พบว่าส่วนมากสถาปนิกมีการเลือกใช้คอนกรีตมวลเบา  ซึ่งคอนกรีตมวลเบามีวิธีการผลิตหลากหลายรูปแบบ

.

เช่น การอบด้วยไอน้ำความดันสูงในระบบอุตสาหกรรมใหญ่ เพื่อทำให้ตัวมวลของคอนกรีตฟองอากาศ มีน้ำหนักเบา จึงช่วยลดน้ำหนักของโครงสร้าง ช่วยลดราคาในการก่อสร้าง และยังให้ประโยชน์ในการเป็นฉนวนกันความร้อน นอกจากนี้ ยังมีคอนกรีตมวลเบาประเภทอื่นที่มีส่วนผสมของวัสดุทางการเกษตรหรือวัสดุอินทรีย์ จึงเกิดความสนใจว่า วัสดุทางการเกษตรซึ่งมีคุณสมบัติในการพองตัว เช่น เมล็ดแมงลักน่าจะมีศักยภาพที่จะเป็นส่วนผสมในคอนกรีตมวลเบาได้

.

คุณสมบัติของเมล็ดแมงลัก เป็นพืชล้มลุกทีมีคุณสมบัติดูดซับน้ำได้ถึง 25 เท่าของน้ำหนักตัวเอง และเมื่อดูดซับน้ำไว้แล้ว ไฟเบอร์จากเมล็ดแมงลัก จะมีลักษณะเป็นเยื่อเมือกลื่น สามารถแยกชนิดของไฟเบอร์ของเมล็ดแมงลักตามลักษณะการละลายน้ำได้ 2 ชนิดคือ ไฟเบอร์ที่ละลายน้ำได้จะมีลักษณะเป็นเจล และไฟเบอร์ที่ไม่ละลายน้ำ จะมีลักษณะคล้ายฟองน้ำ โดยดูดน้ำไว้กับตัวเองทำให้พองตัว ในส่วนของเส้นใยเมล็ดแมงลักเมื่อแช่น้ำจะพองได้ถึง 45 เท่า

.

ขั้นตอนการทดลองเริ่มจากการใช้ซีเมนต์ผงผสมเมล็ดแมงลักที่ดูดซับน้ำเต็มที่แล้วในอัตราส่วน 1:1 ก่อน แล้วค่อยลดสัดส่วนซีเมนต์ต่อเมล็ดแมงลักลงทีละครึ่งหนึ่งในกรณีที่มีลักษณะแข็งตัวจนเกินไป จนกว่าจะได้อัตราส่วนที่เหมาะสม

 

 

จากนั้นหาปริมาตรโดยการวัดหรือการแทนที่น้ำแล้วชั่งน้ำหนัก แล้วนำมาคำนวณหาความหนาแน่นในแต่ละอัตราส่วน เมื่อได้ชิ้นงานขนาด 5 ซม. x 5 ซม. x 5 ซม. อัตราส่วนละ 3 ชิ้น ใช้เวลาในการบ่มคอนกรีต 7 วันแล้วจึงนำไปทดสอบการรับกำลังอัดเพื่อหาความสามารถสูงสุดในการรับกำลังของแต่ละอัตราส่วน

.

ผลการทดลอง คอนกรีตมวลเบาที่มีเมล็ดแมงลักเป็นส่วนผสม มวลรวมเบาไม่ลอยขึ้นมาบนผิวบนของคอนกรีตเหลวเหมือนมวลรวมเบาอื่นๆ มีความหนาแน่นและการรับกำลังอยู่ในช่วงที่ยอมรับในท้องตลาด นอกจากนี้ยังใช้พลังงานในการผลิตน้อยกว่าคอนกรีตมวลเบาประเภทอบไอน้ำภายใต้ความดันสูง

.

ชวาน ยังฝากบอกว่า การผลิตคอนกรีตมวลเบาที่ใช้เมล็ดแมงลักเป็นส่วนผสม หรือใช้วัสดุทางการเกษตรซึ่งเป็นวัสดุธรรมชาติเป็นส่วนผสม ควรตรวจสอบคัดเลือกเมล็ดแมงลักในการนำมาใช้งานก่อนทุกครั้ง แม้ปัจจุบันเมล็ดแมงลักยังมีราคาสูงและปลูกเพื่อการบริโภคเท่านั้น

.

แต่ถ้าได้รับการสนับสนุนให้เกษตรกรปลูกเมล็ดแมงลักเพิ่มขึ้นเพื่อประโยชน์ทางอุตสาหกรรม ก็จะมีปริมาณเพียงพอสำหรับการผลิตคอนกรีต และประหยัดงบประมาณต่อหน่วยเมื่อผลิตเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ยังใช้พลังงานและเทคโนโลยีในการผลิตต่ำ ลดปริมาณการใช้ซีเมนต์ซึ่งเป็นวัตถุที่สร้างทดแทนได้ยาก ไม่ต้องพึ่งพาเทคโนโลยีต่างชาติ และช่วยให้เกษตรไทยมีรายได้เพิ่มขึ้น