เนื้อหาวันที่ : 2009-01-13 11:31:55 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1176 views

3 กระทรวงเศรษฐกิจอัดฉีดเงินเข้าระบบ 6 พันลบ.ชะลอปัญหาเลิกจ้างแรงงาน กู้นอกอัดเพิ่ม

วัดฝีมือ รัฐบาล "อภิสิทธิ์1" 3 กระทรวงเศรษฐกิจ เตรียมอัดฉีดเงินเข้าระบบ 6 พันล้านบาท หวังชะลอปัญหาเลิกจ้างแรงงาน เล็งกู้ต่างประเทศเพิ่มเงินคงคลังที่ใกล้ถังแตก ปรับเพิ่มวงเงินกู้ผ่านตราสารรัฐเป็น 6 แสนลบ.จาก 4.5 แสนลบ.ในปีงบฯ52 และเตรียมออกพันธบัตร 5 หมื่นลบ.ปล่อยซอฟท์โลน-SMEs เน้นกลุ่มท่องเที่ยว

นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง ร่วมกับนายชาญชัย ชัยรุ่งเรือง รมว.อุตสหกรรม และนายไพฑูรย์ แก้วทอง รมว.แรงงาน เป็นประธานการลงนามความร่วมมือโครงการสินเชื่อชะลอการเลิกจ้างแรงงาน ระหว่างธนาคารเพื่อการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย(เอสเอ็มอีแบงก์)กับสำนักงานประกันสังคม

.

นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ผู้อำนวยการ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ(สบน.)ในฐานะประธานกรรมการเอสเอ็มอีแบงก์ กล่าวว่า โครงการดังกล่าวเป็นมาตรการจูงใจให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีชะลอการเลิกจ้างและป้องกันการขยายตัวของการเลิกจ้างในภาคอุตสาหกรรมและบริการ เป็นการช่วยเหลือด้านเงินทุน เงินทุนหมุนเวียน ขยาย และปรับปรุงกิจการ  ในวงเงินสินเชื่อรวม 6,000 ล้านบาท

.

วงเงินดังกล่าวมาจากเงินที่กองทุนประกันสังคมนำมาฝากที่เอสเอ็มอีแบงก์เป็นเวลา 5 ปี ครบกำหนดไถ่ถอนในวันที่ 30 ธ.ค.57  โดยจะนำไปปล่อยสินเชื่อแก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี รายละ 50,000-1 แสนบาท ดอกเบี้ย 5% ระยะเวลาชำระหนี้ไม่เกิน 5 ปี

.

ทั้งนี้ คาดว่าโครงการดังกล่าวจะช่วยเหลือผู้ประกอบการประมาณ 600 ราย รักษาอัตราการจ้างงานผู้ใช้แรงงานได้ไม่ต่ำกว่า 10,000 ราย จากผู้ประกอบการที่ขึ้นทะเบียนกับ สปส.ไว้ประมาณ 3.82 แสนราย จำนวนแรงงานทั้งหมด 9.3 ล้านคน นอกจากนี้ได้ประสานงานไปยังบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม(บสย.)เพื่อช่วยเรงงานที่ถูกเลิกจ้างและต้องการประกอบธุรกิจแต่ขาดหลักประกันสินเชื่อ

.

ด้านนายไพฑูรย์ แก้วทอง รมว.แรงงาน กล่าวว่า เบื้องต้นกองทุนประกันสังคมจะนำเงินมาฝากที่เอสเอ็มอีแบงก์ก่อน 1,000 ล้านบาท จากวงเงินรวม 6,000 ล้านบาท โดยจะขอติดตามและประเมินการปล่อยสินเชื่อของ ธนาคารช่วง 3 เดือนว่าสามารถช่วยชะลอการเลิกจ้างจากผู้ประกอบการได้จริงตามวัตถุประสงค์โครงการหรือไม่

.
คลัง ปรับเพิ่มวงเงินกู้ผ่านตราสารรัฐเป็น 6 แสนลบ.จาก 4.5 แสนลบ.ในปีงบฯ52

กระทรวงการคลัง ปรับเพิ่มแผนการกู้เงินผ่านการออกตราสารหนี้ภาครัฐในปีงบประมาณ 52 เป็น 6 แสนล้านบาท จากเดิมที่กำหนดไว้ 4.5 แสนล้านบาท เพื่อรองรับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่จะนำมาใช้ ซึ่งจะทำให้สัดส่วนหนี้สาธารณะ ณ สิ้นปี 52 จะเพิ่มขึ้นเป็น 41% ต่อจีดีพี

.

ขณะนี้มีแผนออกตราสารหนี้ราว 5 หมื่นล้านบาทเพื่อนำมาให้สถาบันการเงินปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำ(ซอฟท์โลน)ให้กับผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม(SME) โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการในธุรกิจท่องเที่ยว ซึ่งจะเน้นเงินกู้ระยะสั้น คาดว่าเม็ดเงินจะถึงมือผู้ประกอบการได้ในราวต้นเดือน มี.ค.นี้ อนึ่ง หนี้สาธารณะ ณ สิ้น ต.ค.51 อยู่ที่ 36.92% ต่อจีดีพี

.

นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ(สบน.) กล่าวว่า เตรียมปรับการก่อหนี้ภาครัฐสำหรับปีงบประมาณรายจ่าย 2552 เพิ่มเป็น 6 แสนล้านบาท จากเดิมกำหนดไว้ที่ 4.5 แสนล้านบาท เนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายจัดทำงบประมาณกลางปีเพิ่มขึ้นอีก 1.2 แสนล้านบาท ทำให้ต้องมีการออกพันธบัตรเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณเพิ่มเป็น 3.54 แสนล้านบาท นอกจากนี้ยังมีแผนรีไฟแนนซ์เงินกู้วงเงิน 2 แสนล้านบาท และการออกพันธบัตรให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs จำนวน 5 หมื่นล้านบาท

.

โดยในปีงบประมาณรายจ่าย 2552 กระทรวงการคลังจะเน้นการออกพันธบัตรระยะสั้นอายุ 2-3 ปีเพิ่มมากขึ้น โดยในส่วนของตั๋วเงินคลังจะปรับเพิ่มวงเงินจาก 1.96 แสนล้านบาท เป็น 2.5 แสนล้านบาท ส่วนการออกพันธบัตรออมทรัพย์จะลดจาก 6 หมื่นล้านบาท เหลือ 1 หมื่นล้านบาท

.

สำหรับสภาพคล่องในช่วงที่มีการออกพันธบัตรนั้น กระทรวงการคลังได้มีการหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การออกพันธบัตรแต่ละครั้งช่วยดูดซับสภาพคล่องในระบบ เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่ออัตราผลตอบแทนในตลาด ซึ่ง ธปท.จะออกพันธบัตรระยะสั้นอายุ 14 วัน-3 ปี น้อยลง เพื่อเปิดโอกาสให้กระทรวงการคลังสามารถออกพันธบัตรระยะสั้นได้แทน

.
คลังเตรียมออกพันธบัตร 5 หมื่นลบ.ปล่อยซอฟท์โลน-SMEs เน้นกลุ่มท่องเที่ยว

นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ผู้อำนวยการ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ(สบน.) เปิดเผยว่า กระทรวงการคลัง โดย สบน.เตรียมออกพันธบัตรวงเงิน 50,000 ล้านบาท เพื่อจัดเป็นวงเงินสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ(ซอฟท์โลน)ให้ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย(เอสเอ็มอีแบงก์)ปล่อยกู้ต่อให้กับธนาคารพาณิชย์ในลักษณะการซื้อลดตั๋วสัญญาใช้เงิน ทดแทนซอฟท์โลนของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ที่มีข้อจำกัดตามกฎหมายที่ไม่สามารถจัดวงเงินซอฟท์โลนได้อีก

.

พันธบัตรที่จะออกเป็นซอฟท์โลน 50,000 ล้านบาทเป็นการกู้เงินในประเทศเป็นพันธบัตรอายุ 2-3 ปี มีต้นทุนที่ 1.95% แต่หากคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)ปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงอีกในวันที่ 14 ม.ค.ต้นทุนการออกพันธบัตรก็จะลดลงอีก

.

นอกจากนี้ รัฐบาลจะมีการจัดเงินประมาณอุดหนุนดอกเบี้ยในโครงการนี้เพื่อให้ต้นทุนพันธบัตรเหลือแค่ 1% โดยจัดสรรจากงบกลางปีเบื้องต้นวงเงิน 500 ล้านบาท ทั้งนี้ อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่คิดจากลูกค้าที่ขอสินเชื่อจะอยู่ที่ 5.5% คาดว่าเม็ดเงินปล่อยเข้าสู่ระบบได้ในช่วงต้นเดือน มี.ค.นี้

.

"หลักเกณฑ์ปล่อยให้จะไม่ต่างจากแบบเดิมที่ ธปท.เคยปล่อยซอฟท์โลน  แต่จะมีการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยที่การกู้เงินของลูกค้าจากธนาคารพาณิชย์จะออกเป็นตั๋วสัญญาใช้เงิน โดยแบงก์จะอาวัลตั๋วเพื่อขายลดให้เอสเอ็มอีแบงก์วงเงินกู้รายละไม่เกิน 100 ล้านบาท ดอกเบี้ย ต่ำกว่าอัตรา MLR...จะเน้นไปที่ภาคการท่องเที่ยวเป็นหลัก"นายพงษ์ภาณุ กล่าว

.

อย่างไรก็ตาม ผู้อำนวยการ สบน. กล่าวยอมรับว่า ขณะนี้ความต้องการสินเชื่อในภาคธุรกิจท่องเที่ยวมีมากถึง 75,000 ล้านบาท ซึ่งมากกว่าวงเงินที่จัดเตรียมไว้ ขณะเดียวกันซอฟท์โลนครั้งนี้ส่วนหนึ่งจะใช้รองรับการรีไฟแนนซ์ซอฟท์โลนเดิมของ ธปท.ด้วย วงเงิน 30,000 ล้านบาท ดังนั้น จึงเตรียมหารือกับสมาคมธนาคารไทย เพื่อวางแนวทางดำเนินการให้เกิดความเหมาะสมต่อไป